เนื้อหาวันที่ : 2008-09-08 16:25:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2985 views

กรมส่งเสริมการส่งออกเตือนผู้ประกอบการไทยระวังถูกฉ้อโกงผ่านเวปไซด์ Alibaba

กรมส่งเสริมการส่งออก ออกโรงเตือนผู้ส่งออกไทยที่ติดต่อซื้อขายผ่านเว็ปไซต์ Alibaba ให้ใช้ความระมัดระวังรอบคอบอย่างยิ่ง โดยควรตรวจสอบข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ ให้แน่ชัดก่อนที่จะตกลงซื้อขายสินค้าระหว่างกัน

.

กรมส่งเสริมการส่งออก ออกโรงเตือนผู้ส่งออกไทยที่ติดต่อซื้อขายผ่านเว็ปไซต์ Alibaba ให้ใช้ความระมัดระวังรอบคอบอย่างยิ่ง โดยควรตรวจสอบข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ ให้แน่ชัดก่อนที่จะตกลงซื้อขายสินค้าระหว่างกัน

.

ในช่วงเดือนสิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา ได้รับเรื่องจากผู้ประกอบการไทยขอให้ตรวจสอบข้อมูลและติดตามกับบริษัทอินโดนีเซีย ซึ่งมีพฤติกรรมในลักษณะเป็นการฉ้อโกงในหลายกรณี โดยเมื่อผู้นำเข้าของไทยสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทอินโดนีเซีย ภายหลังจากการโอนเงินชำระค่าราคาสินค้าแล้ว ผู้นำเข้าไทยจะไม่ได้รับสินค้าตามที่ได้ตกลงซื้อขาย และไม่สามารถติดต่อกับบริษัทอินโดนีเซียได้อีก จึงแจ้งให้สำนักงานฯ ช่วยตรวจสอบและติดตามกับบริษัทอินโดนีเซียดังกล่าว

.

ส่วนใหญ่จะเป็นการติดต่อซื้อขายกันโดยได้รายละเอียดติดต่อจากเวปไซด์ Alibaba นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ผู้ส่งออกไทยส่งสินค้าให้บริษัทอินโดนีเซีย โดยได้รับหลักฐานใบโอนเงินปลอม และไม่ได้รับชำระค่าราคาสินค้าทั้งที่ส่งสินค้าให้กับบริษัทอินโดนีเซียแล้ว

.

สำนักงานฯ จึงขอแจ้งเตือนผู้ประกอบการไทยที่จะทำธุรกิจซื้อขายกับบริษัทในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะบริษัทที่ได้รายละเอียดการติดต่อกันผ่านเวปไซด์ Alibaba ขอให้ใช้ความระมัดระวังรอบคอบอย่างยิ่ง โดยควรตรวจสอบข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ ของบริษัทอินโดนีเซียให้แน่ชัดก่อนที่จะตกลงซื้อขายสินค้าระหว่างกัน เนื่องจากสำนักงานฯ ได้รับเรื่องจากผู้ประกอบการไทยกรณีบริษัทอินโดนีเซียฉ้อโกงในหลายกรณีแล้ว ซึ่งยังไม่สามารถติดตามได้และมีความเป็นไปได้ยากในการติดตาม เนื่องจากข้อมูลบริษัทเป็นข้อมูลเท็จเกือบทั้งหมด โดยอาจต้องดำเนินการตามกฎหมายของอินโดนีเซีย ซึ่งจะใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง

.

เมื่อสำนักงานฯ ตรวจสอบจากชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อของบริษัทอินโดนีเซียซึ่งได้รับจากผู้นำเข้าไทยที่แจ้งเรื่องมานั้น ส่วนใหญ่จะไม่ใช่บริษัทที่แท้จริง ไม่ใช่ที่อยู่ที่แท้จริง เบอร์โทรศัพท์ไม่ใช่เบอร์ที่จดทะเบียนในชื่อบริษัท หรือบางกรณีเป็นเบอร์โทรศัพท์ของสถานที่อื่นซึ่งไม่ใช่ของบริษัท สำหรับเบอร์โทรศัพท์มือถือซึ่งผู้ประกอบการไทยเคยติดต่อกับบริษัทอินโดนีเซียได้นั้น จะไม่ใช่เบอร์ที่จดทะเบียนแต่เป็นเบอร์ pre-paid ที่มีขายกันอยู่ทั่วไปและไม่สามารถสืบข้อมูลของเจ้าของเบอร์ได้

.

นอกจากนี้ในหลายกรณี จะมีการติดต่อซื้อขายกับผู้ประกอบการไทยโดยใช้เอกสารปลอมทั้งหมด ตั้งแต่การปลอมใบประกอบธุรกิจ/ทะเบียนบริษัท และปลอมหลักฐานการโอนเงิน สำหรับการตรวจสอบข้อมูลกับธนาคารในอินโดนีเซียจากเลขที่บัญชีธนาคารเพื่อตรวจสอบไปยังเจ้าของบัญชีนั้นจะทำได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันทางธนาคารในอินโดนีเซียจะไม่ให้ข้อมูลรายละเอียดของลูกค้าโดยอ้างถึงการรักษาความลับของลูกค้า นอกจากจะได้เริ่มดำเนินการตามกฎหมายโดยการแจ้งความก่อนแล้วนำมาอ้างอิงกับทางธนาคาร

.

สำหรับรายชื่อบริษัทอินโดนีเซียซึ่งมีพฤติกรรมฉ้อโกงผู้ประกอบการไทย ซึ่งสำนักงานฯ ได้ตรวจสอบแล้วและอยู่ระหว่างการติดตามต่อไป ได้แก่

1) C.V. Global Trade:  ที่อยู่ Jl. Gatot Subroto 62, Medan, อ้างว่าเป็นบริษัทผู้ส่งออกสินค้าเครืองเทศประเภทต่าง ๆ มีพฤติกรรมฉ้อโกง โดยรับโอนเงินชำระค่าราคาสินค้าแล้ว แต่ไม่ส่งสินค้าให้กับผู้นำเข้าของไทย (ผู้นำเข้าไทยได้รายละเอียดการติดต่อของบริษัทนี้ผ่านเวปไซด์ Alibaba)

.

2) TOKO DUNIA CYCLE: ที่อยู่ Jl. Sutisno 80B, Medan, North Sumatera, อ้างว่าเป็นบริษัทผู้ส่งออกรถจักรยาน มีพฤติกรรมฉ้อโกง โดยการปลอมใบประกอบธุรกิจ/ทะเบียนบริษัท Performa Invoice รับโอนเงินชำระค่าราคาสินค้า โดยที่ไม่ส่งสินค้าให้กับผู้นำเข้าของไทย (ผู้นำเข้าไทยได้รายละเอียดการติดต่อของบริษัทนี้ผ่านเวปไซด์ Alibaba)

.

3) Suka Manis Niagatama: ที่อยู่ Jl. Margomulyo No. 44 Block HH 14-45, Kav. Industri& Pergudangan, Surabaya, Indonesia อ้างว่าเป็นบริษัทผู้นำเข้าผลไม้สด มีพฤติกรรมฉ้อโกง โดยการปลอมหลักฐานการโอนเงินส่งให้ผู้ส่งออกไทยชำระราคาสินค้าครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ผู้ส่งออกไทยส่งสินค้ามาให้โดยแจ้งว่าจะชำระราคาสินค้าอีกครึ่งหนึ่งภายหลัง เมื่อผู้ส่งออกไทยส่งสินค้ามาให้แล้ว ไม่ได้รับเงินโอนค่าราคาสินค้าจากธนาคารเนื่องจากเป็นหลักฐานการโอนเงินปลอม

.

สำนักงานฯ สามารถติดต่อกับบริษัทนี้ได้ทางเบอร์โทรศัพท์มือถือ ซึ่งแจ้งว่าจะโอนเงินค่าราคาสินค้าให้ผู้ส่งออกไทยต่อไป แต่จากพฤติกรรมที่มีเจตนาในการปลอมแปลงเอกสารการโอนเงินดังกล่าว และข้อมูลรายละเอียดการติดต่อของบริษัทซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเท็จ จึงมีความเป็นไปได้ยากที่บริษัทอินโดนีเซียจะโอนเงินค่าราคาสินค้าให้ผู้ส่งออกไทย และยังต้องติดตามเรื่องต่อไป