เนื้อหาวันที่ : 2006-08-31 15:25:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3305 views

ก.วิทย์ - สวทช. จับมือ 6 แบงค์ปล่อยกู้โรงงานแป้งมันฯ ผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย

ก.วิทยาศาสตร์ฯ – สวทช. จับมือ ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ 6 แห่ง ร่วมปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นเงินกว่า 1,300 ล้านบาทแก่โรงงานแป้งมันสำปะหลังทั่วประเทศ เพื่อนำไปพัฒนาเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย

.

.วิทยาศาสตร์ฯ สวทช. จับมือ ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ 6 แห่ง ร่วมปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นเงินกว่า 1,300 ล้านบาทแก่โรงงานแป้งมันสำปะหลังทั่วประเทศ เพื่อนำไปพัฒนาเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียแบบตรึงฟิล์มไร้อากาศประสิทธิภาพสูงและผลิตก๊าซชีวภาพ หวังลดต้นทุนพลังงานในอนาคต ตั้งเป้าดำเนินงานภายใน 1-2 ปีนี้  มั่นใจ จะลดการนำเข้าน้ำมันเตาได้ถึงปีละกว่า 2,500 ล้านบาท  และพร้อมขยายผลสู่โรงงานแปรรูปเกษตรอื่น ๆ ต่อไป 

.

ในกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง มักก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของ น้ำเสีย และกลิ่นเหม็น ขณะเดียวกันจากสถานการณ์น้ำมันที่ผันผวนได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต เนื่องจากประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงานเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตโดยเฉพาะน้ำมันเตา  ปัญหาดังกล่าวกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เล็งเห็นถึงประโยชน์และศักยภาพในการนำน้ำเสียจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังมาบำบัดให้ได้เป็นก๊าซชีวภาพ จนเป็นที่มาของการจัดทำ โครงการสนับสนุนเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียแบบตรึงฟิล์มจุลินทรีย์ไม่ใช้อากาศประสิทธิภาพสูง (AFFR) เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพสำหรับโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง ใช้ทดแทนน้ำมันเตา ซึ่งจะช่วยให้โรงงานฯ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน  และช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น รวมทั้งยังช่วยให้ประเทศไทยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศตามนโยบายของรัฐด้วย

.

ดร.ประวิช  รัตนเพียร  รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  กล่าวว่า เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มจุลินทรีย์ดังกล่าว ถือเป็นระบบการจัดการเทคโนโลยีที่เหมาะสมและลงตัวที่สุดสำหรับโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง  อันเป็นผลจากความพยายามในการนำวิทยาศาสตร์เข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งเรื่องของพลังงานและสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จโดยเทคโนโลยีฝีมือคนไทย ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงมีความมั่นใจว่า หากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังของไทยที่มีอยู่กว่า 77 แห่งทั่วประเทศ  ได้นำเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียฯ ดังกล่าวไปใช้จะสามารถลดปริมาณน้ำเสียได้ถึง 50 ล้าน ลบ.เมตรต่อปี ซึ่งหากนำไปผลิตก๊าซชีวภาพจะได้ 377 ล้านลบ.ม./ปี สามารถใช้ทดแทนน้ำมันเตาได้ 174 ล้านลิตร/ปี คิดเป็นมูลค่าน้ำมันเตาที่ประหยัดได้ได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 2,400 - 2,500 ล้านบาท  และทำให้อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังของไทยรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย

.

อย่างไรก็ดี เนื่องจากการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียดังกล่าว มีต้นทุนค่อนข้างสูง ประมาณ 40-50 ล้านบาทต่อโรงงานฯขนาดกำลังการผลิตประมาณ 200 ต้นแป้งต่อวัน ทำให้โรงงานหลายแห่งไม่พร้อมที่จะลงทุนเองทั้งหมด  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง ประกอบด้วย ธ.กรุงเทพ จำกัด(มหาชน) , ธ.ไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) , ธ.กรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) , ธ.ทหารไทย จำกัด(มหาชน) , ธ.นครหลวงไทย  จำกัด(มหาชน) และ ธ.ยูโอบี จำกัด(มหาชน) ในการจัดทำโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย และผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มสำหรับโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง เพื่อจูงใจให้โรงงานที่ยังไม่ได้ดำเนินการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียที่เหลืออีก 43 แห่งทั่วประเทศ นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ โดยตั้งเป้าระยะเวลาโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 ปีนี้   และนอกจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังแล้ว  รัฐบาลจะสนับสนุนและขยายผลการถ่ายทอดเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียไปยังโรงงานแปรรูปอาหารอื่นๆเพิ่ม อาทิ โรงงานผลิตปาล์มน้ำมัน โรงงานผลิตสัปปะรดกระป๋อง และโรงงานผลิตทูน่ากระป๋อง เป็นต้น  เพื่อบำบัดน้ำเสียจากกระบวนการผลิตต่อไป ดร.ประวิช กล่าว

..

.

รศ.ดร.ศักรินทร์  ภูมิรัตน  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)   กล่าวว่า  เป็นเวลากว่า 20 ปีที่ศูนย์ไบโอเทค และ มจธ. ได้ร่วมกันทำการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เนื่องจากการใช้ระบบบำบัดน้ำเสียจากต่างประเทศบางอย่างไม่เหมาะสมกับสภาพน้ำเสียของไทย ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นที่ไทยต้องพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นใช้เองภายในประเทศ โดยพบว่าการใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบปิด มีข้อได้เปรียบเหนือกว่าระบบบำบัดบ่อเปิดแบบดั้งเดิม

.

เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียสูง สามารถจัดการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดีทั้งในเรื่องของคุณภาพน้ำ และกลิ่นเหม็น ที่สำคัญยังมีก๊าซชีวภาพเป็นผลพลอยได้  ซึ่งสามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทนน้ำมันเตาได้ ที่ผ่านมาได้มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปทดสอบใช้จริงในระบบอุตสาหกรรมและได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ  โดยในช่วงปี 2547 -2548 ที่ผ่านมา ได้มีการนำเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียที่พัฒนาขึ้นนี้ไปถ่ายทอดให้กับโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังนำร่อง 4 แห่ง ประกอบด้วย บ.ชลเจริญ จำกัด , บ.ชัยภูมิพืชผล จำกัด , บ. แป้งมันตะวันออกเฉียงเหนือ (1987) จำกัด  และ บ.สีมาอิเตอร์โปรดักส์ จำกัด

.

จากเดินระบบบำบัดน้ำเสียที่โรงงานชลเจริญ พบว่า ระบบฯ สามารถผลิตก๊าซชีวภาพทดแทนน้ำมันเตาได้ 100% ของกระบวนการผลิต ช่วยให้โรงงานประหยัดค่าใช้เชื้อเพลิงได้ถึง 120,000 บาทต่อวัน  คิดเป็นมูลค่ากว่า 24 ล้านบาทต่อปี  และคาดว่า หลังจากทั้ง 4 แห่งได้เริ่มดำเนินการผลิตก๊าซชีวภาพอย่างเต็มระบบแล้ว จะสามารถผลิตแก๊สชีวภาพได้ในปริมาณร่วมกันไม่ต่ำกว่า 15.36 ล้าน ลบ.เมตร ต่อปี  หรือ เท่ากับ 230.4 ล้าน ลบ.เมตรตลอดอายุใช้งานของระบบ 15 ปี ซึ่งสามารถนำมาทดแทนน้ำมันเตาในกระบวนการผลิตของโรงงาน ทำให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานเทียบเท่าน้ำมันเตา 7.2 ล้านลิตรต่อปี   หรือ 108 ล้านลิตร ตลอดอายุการใช้งานของระบบ 15 ปี  คิดเป็นมูลค่าถึง 1,512 ล้านบาท  ( ในราคาน้ำมันเตาที่ 14 บาทต่อลิตร)  รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าว

.

ด้าน นายวีระศักดิ์  สุตัณฑวิบูลย์  ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้แทนจากธนาคารพาณิชย์  กล่าวเพิ่มเติมว่า   โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำตามโครงการฯนี้ ได้รับเงินสนับสนุนจาก 2 แหล่ง คือ เงินงบประมาณจากรัฐบาล  โดยผ่านโครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน (CD) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช.  และเงินสมทบจากธนาคารที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 6 แห่ง วงเงิน 1,290 ล้านบาท โดยโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ จะได้รับเงื่อนไขเงินกู้พิเศษในอัตราดอกเบี้ยต่ำอยู่ที่ร้อยละ 3-4 ต่อปี ระยะเวลาเงินกู้ 4-6 ปี มีระยะเวลาปลอดหนี้เงินต้นในช่วง 1 ปีแรก โดยเบื้องต้นโรงงานฯ จะต้องเป็นผู้ลงทุนเองในอัตราส่วนร้อยละ 25  ของงบประมาณโครงการทั้งหมด  ที่เหลือเป็นเงินกู้ที่โครงการ CD และธนาคารพาณิชย์ทั้ง 6 แห่งร่วมกันปล่อยกู้ให้ในอัตราส่วน 2 ต่อ 1  โดยมีวงเงินกู้สูงสุด 30 ล้านบาท และไม่เกินร้อยละ 75 ของงบประมาณโครงการ อัตราดอกเบี้ยเท่ากับครึ่งหนึ่งของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน บวกด้วย 1.125  มีระยะเวลาโครงการ 2  ปี  เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2549 - 30 ก.ย. 2551 โดยจะเปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2550    

.

ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 6 แห่งที่เข้าร่วมในการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่เอกชนไทยในการพัฒนาเทคโนโลยี ได้ร่วมกับ สวทช. อนุมัติเงินกู้ให้แก่เอกชนไปแล้วจำนวน 138 โครงการ  มูลค่ารวมของโครงการ 3,300 ล้านบาท  คิดเป็นวงเงินที่อนุมัติทั้งสิ้น 1,740 ล้านบาท  ซึ่งในจำนวนนี้ได้มีการให้เงินกู้แก่โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง 3 แห่ง เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการนำเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียแบบตรึงฟิล์มไปใช้

.

สำหรับขั้นตอนในการเข้ารับการสนับสนุนจากโครงการฯนั้น นางสาว ชมพูนุช อนุศาสน์สิทธิกิจ หัวหน้าโครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน(CD) สวทช. กล่าวว่า  เนื่องจากเป็นโครงการพิเศษที่จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียแบบตรึงฟิล์มไร้อากาศสำหรับโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังที่ยังไม่มีระบบผลิตก๊าซชีวภาพทั่วประเทศโดยเฉพาะ ซึ่งได้มีการวิจัยและพัฒนาจนเป็นที่มั่นใจ และถือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังทั้งหมดเข้ามาใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ดังนั้น โรงงานแป้งมันสำปะหลังที่สนใจสามารถติดต่อและสมัครเข้าร่วมโครงการได้โดยตรงที่โครงการCD อาคารสำนักงานกลาง  สวทช. ชั้น 3  ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย รังสิต จ.ปทุมธานี โทร. 0-2564-7000  ต่อ 1335 1339  ทุกวันและเวลาราชการ  หรือ  ที่เว็ปไซต์ www.nstda.or.th/cd

.

หลังรับใบสมัครแล้วทางCD จะจัดส่งผู้เชี่ยวชาญจาก มจธ. เข้าไปสำรวจและวิเคราะห์ปริมาณการผลิต และปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นต่อวัน  เพื่อคำนวณงบลงทุนในการจัดทำระบบของแต่ละโรงงาน ก่อนนำข้อเสนอโครงการให้คณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจาก สวทช. , ไบโอเทค และตัวแทนจากธนาคารพาณิชย์ เพื่อพิจารณาระยะเวลาของเงินกู้ที่เหมาะสม จากนั้นจะได้จัดส่งเรื่องดังกล่าวไปให้กับธนาคารที่ทางโรงงานนั้น ๆ เลือกใช้บริการเพื่อความสะดวกในแต่ละภูมิภาคต่อไป