เนื้อหาวันที่ : 2008-08-29 10:37:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 8301 views

เส้นทางพลิกวิกฤต เศรษฐกิจโสมขาว

ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เป็นประเทศในเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การเป็นอุตสาหกรรมใหม่ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1980 และก้าวสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม เมื่อได้รับการยอมรับเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว

ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เป็นประเทศในเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การเป็นอุตสาหกรรมใหม่ตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1980  และก้าวสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม เมื่อได้รับการยอมรับเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (OECD) ในปี 1996 ต่อมาเกาหลีใต้ได้ประสบวิกฤติทางเศรษฐกิจในปี 1997   จนต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกับที่ไทยและประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียต้องประสบวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินเช่นเดียวกัน แต่เกาหลีใต้ก็สามารถแก้ปัญหา/ฟื้นฟูเศรษฐกิจและคืนเงินกู้ทั้งหมดให้แก่ IMF งวดสุดท้ายได้ เมื่อปลายปี 2001 

.

.

เป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างเร็วในการฟื้นตัวเมื่อเทียบกับประเทศอื่น วิธีการ/กลไกที่เกาหลีใต้ใช้ในการแก้ไข/จัดการกับวิกฤตดังกล่าว จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และสามารถนำมาปรับใช้เป็นแนวทางในการจัดการปัญหาภาคการเงินของประเทศไทยได้ โดยเฉพาะปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL (Non Performing Loen) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศในช่วงปี พ.ศ.2540 มีความรุนแรงขึ้น และปัจจุบันปัญหานี้ก็ยังมิได้หมดไปจากระบบสถาบันการเงินไทย

.
ต้นตอของปัญหา

ปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดวิกฤติภาคการเงินของเกาหลีใต้ พบว่ามีความคล้ายคลึงกับกรณีของประเทศไทยในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 คือเกิดจากความอ่อนแอเชิงโครงสร้าง สถาบันการเงินมีการกู้ยืมมากเกินไป มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ภาคธุรกิจและหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ภาคเอกชายมีการขยายกิจการโดยประมาทและขาดจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจอีกทั้งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ (Chaebol) มีการพึ่งพาเงินกู้อย่างไร้ขีดจำกัด

.

ในส่วนของภาครัฐก็มีการจัดการด้านเงินตราต่างประเทศที่ไม่ดีพอ คือมีการกู้เงินระยะสั้นมาลงทุนระยะยาว (Mismatch between reserves & liabilities) โดยที่ประมาณร้อยละ 60 เป็นการกู้ระยะสั้นจากแหล่งเงินต่างประเทศ และยังมีการดำเนินนโยบายอย่างไม่รอบคอบ คือการเปิดเสรีทางการเงิน โดยที่ยังขาดความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น ขาดระบบการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ และขาดการปฏิบัติภาคการเงินเพื่อรองรับ

.
จากวิกฤติสู่ความสำเร็จ
จากปัจจัยหลักข้างต้น ทำให้ภาคเศรษฐกิจการเงินของเกาหลีใต้ได้รับผลกระทบอย่างมาก หน่วยงานของภาครัฐที่มีบทบาทอย่างมากมรการแก้ปัญหาวิกฤติ และฟื้นฟูเศรษฐกิจของปีระเทศ คือ KAMCO หรือชื่อเต็มว่า Korea Asset Management Corporation ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1962 ภายใต้ Korea Development Bank ทำหน้าที่ในการจัดการสินทรัพย์ที่มีปัญหา แต่ในช่วงที่เกาหลีใต้ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 KAMCO ได้ปรับบทบาทไปเน้นหนักด้านการจัดการ NPL/NPA (Non performing Loen / Non Performing Asset) ของสถาบันการเงิน และ NPA Fund
.

บทบาทด้านนี้สิ้นสุดลงในปี 2002 หลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นตัว และสามารถใช้คืนเงินกู้ทั้งหมดให้แก่ IMF ได้ หลังจากนั้น KAMCO ทำหน้าที่ในการรับซื้อ NPL ด้วยบัญชีของตัวเอง นอกจากนี้ KAMCO ยังมีบทบาทในการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ/กิจการ และสนับสนุนการฟื้นตัวของลูกหนี้รายบุคคล (Individual Debt) โดยเฉพาะลูกหนี้บัตรเครดิต ซึ่งถือเป็นสาเหตุหลักของการเป็นหนี้รายบุคคลในเกาหลีใต้ เพราะประชาชนมีการใช้บัตรเครดิตกันอย่างเกินตัว ไม่เว้นแม้แต่เด็กที่อยู่ในวัยเรียน

.

วิธีการที่ KAMCO ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับปัญหาวิกฤติภาคการเงิน ล้วนเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนำไปสู่การประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาวิกฤติและฟื้นฟูเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ได้แก่

.

NPL Valuation & Pricing Process KAMCO จะสร้างโมเดลต้นแบบที่เหมาะสมกับการจัดการหนี้ประเภทต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเรียกเก็บเงินสด (Amount of Collection) ได้มากขึ้น ส่งผลให้ปัญหา NPL ในภาพรวมของประเทศบรรเทาลง ปัจจัยที่สำคัญที่สุดของกระบวนการนี้ คือระบบข้อมูล เนื่องจากข้อมูลในอดีตของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ครบถ้วนและถูกต้องแม่นยำ จะทำให้สามารถประเมินราคาและหาวิธีจัดการกับหนี้ที่มีปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานของข้อมูลที่อ้างอิงได้

.

Corporate Restructuring เป็นการจัดการหนี้ภาคธุรกิจ (Corporate Debt) โดยการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อฟื้นฟู เพิ่มมูลค่า ทำให้ธุรกิจอยู่รอดและรักษาความสามารถในการแข่งขัน การดำเนินการมีหลายลักษณะ ได้แก่ 1) Business Restructuring ปรับโครงสร้างทางธุรกิจ เช่น การปิดกินการที่ไม่มีกำไร ลงทุนเพิ่มในธุรกิจที่มีแนวโน้มจะดี 2) Financial Restructuring ปรับโครงสร้างทางการเงิน โดยการกู้ยืมอย่างมีเหตุผล 3) Governance Restructuring ปรับกระบวนการบริหารเพื่อกระจายอำนาจอย่างเป็นธรรม และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ 4) Organization Restructuring ปรับโครงสร้างองค์กร โดยจัดการทรัพยากรมนุษย์ใหม่เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ปลดพนักงานส่วนเกิน เป็นต้น

.

CRC (Corporate Restructuring Company) & CRV (Corporate Restructuring Vehicle) การจัดตั้ง CRC มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูบริษัทเอกชนที่ถูกยึดทรัพย์เพื่อประกันการชำระหนี้ โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่นการลงทุน/รับซื้อ NPL จากบริษัทที่ล้มละลาย การเป็นตัวกลางในการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท เป็นต้น ส่วน CRV เป็นการรวมทรัพย์จากผู้ให้กู้หลายๆ รายมาอยู่ในจุดเดียว และบริหารจัดการในลักษณะกองทุนรวม (Mutual Fund) โดยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นบุคคลที่ 3 (Third Party) หรือเรียกว่า Specialized Asset Management Company

.

Badbank ก่อตั้งขึ้นโดยการรวมตัวของสถาบันการเงินประมาณ 620 แห่งภายใต้หลักการพื้นฐาน คือการเพิ่มความสามารถในการใช้คืนหนี้ของผู้บริโภค เนื่องจากลูกหนี้ 1 คน จะมีเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินหลายแห่ง ซึ่งมีรูปแบบสัญญาที่ต่างกัน ดังนั้น เพื่อให้การจัดการหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูหนี้เสีย Badbank จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยจะโอนสัญญาทั้งหมดของเจ้าหนี้ทุกรายมาไว้กับ SPC (Special Purpose Company) เพื่อจัดการหนี้และติดต่อกับลูกหนี้แต่เพียงผู้เดียว

.
Securitization คือการแปรรูปสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ โดย KAMCO จะนำสินทรัพย์ของบริษัทหรือสถาบันการเงินที่เป็น NPL มารวมกัน เป้นกองสินทรัพย์ (Pool Assets) และถ่ายโอนกองสินทรัพย์นั้นให้ SPC/SPV (Special Purpose Company/Vehicle) นำมาใช้เป็นหลักประกันในการออกตราสารทางการเงิน (เช่น ตั๋วเงินหรือหุ้นกู้) เพื่อจำหน่ายให้แกนักลงทุนทั่วไปหรือขายแบบเจาะลง (Private Placement) ให้นักลงทุนสถาบันเฉพาะรายหรือเฉพาะกลุ่ม
.

Internation Auction KAMCO มีการแก้ปัญหา NPL ผ่านการประมูลระหว่างประเทศ (Internation Auction) คือ การขาย NPL และหลักทรัพย์ประกันจากสถาบันการเงินให้บุคคลที่ 3 (Third Party) ซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติ โดยใช้วิธีประกวดราคา/เปิดประมูล การดำเนินการจะใช้หลักการ Pooling Assets เช่นเดียวกับวิธี Securitization คือการนำ NPL มารวมกันเป็นกองสินทรัพย์ แล้วเปิดประมูลแก่นักลงทุนต่างชาติ เพื่อให้ได้ราคาขายที่สูงที่สุด

.

Workout Program เป็นโปรแกรมเพื่อปรับโครงสร้างหนี้/ฟื้นฟูกิจการ ผ่านการยกระดับโครงสร้างสินทรัพย์และการเงิน เริ่มจากการศึกษาถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาก่อนว่าเกิดจากสาเหตุใด แล้วจึงวางแผนจัดการกับปัญหาโยใช้วิธีการที่ตรงจุด การแก้ปัญหาจะเลือกใช้วิธีการเจรจา ก่อนเลือกใช้กระบวนการทางศาล โดยจะให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการเจรจา ภายใต้จะให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการเจรจา ภายใต้หลัก win-win strategy คือทุกฝ่ายต้องได้ประโยชน์ ซึ่งกลุ่ม Daewoo ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่สามารถฟื้นฟูกิจการจากวิกฤติได้จากการเข้าร่วมโปรแกรมนี้ด้วย

.

การปรับโครงสร้างภาคการเงินของเกาหลีใต้ เพื่อแกปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ จะเป็นการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย เรียกว่า Financial Safety Net ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ อาทิ Korea Deposit Insurance Corporation (KDIC) ทำหน้าที่หลักในการให้การสนับสนุนด้านการเงิน ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การชำระคืนเงินฝาก การเข้าถือหุ้นการให้เงินช่วยเหลือ เป็นต้น (Financial Supervisory Commission (FSC) ทำหน้าที่หลักในการซื้อขาย NPL Ministry of Finance and Economy (MOFE) ทำหน้าที่หลักในการจัดสรรเงินทุนที่ได้รับอนุมติจากรัฐบาล และ Bank of (BOK) ทำหน้าที่ดูแลภาพรวมภาคการเงินของประเทศ

.

นอกจากนี้ ในส่วนของภาคเอกชน ก็มีองค์กรที่มีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาภาคการเงินของเกาหลีใต้ในช่วงวิกฤติ ได้แก่ สมาคมธนาคารเกาหลี หรือ Korea Federation of Banks (KFB) เป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมกลุ่มของธนาคารในเกาหลีใต้ โดยมีการดำเนินการผ่านสภา คณะกรรมการ และคณะทำงานในระดับต่างๆ ในการเสนอคำแนะนำ/ข้อคิดเห็นต่อภาครัฐ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านสินเชื่อของสถาบันการเงินในเกาหลีใต้ ทั้งสินเชื่อประเภทบุคคลและสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ภาครัฐสามารถวางแนวทางและกำหนดแผนการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ

.

สำหรับกรณีของประเทศไทย แม้ว่าที่ผ่านมา การดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา NPL จะทำให้ NPL ในระบบสถาบันการเงินไทยลดลงได้ในระดับหนึ่ง แต่จำนวน NPL ที่เหลืออยู่ก็ยังถือว่าเป็นจำนวนที่สูง ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันค่อนข้างผันผวน ทำให้ยังไม่สามารถวางใจได้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ดังนั้น จึงเป็นประเด็นที่ภาครัฐจะต้องพิจารณา เพื่อป้องกันมิให้ปัญหาเดิมที่เคยเกิดในช่วงวิกฤติปี พ.ศ. 2540 ปะทุขึ้นอีก โดยอาจศึกษาจากกรณีของประเทศเกาหลีใต้และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทยต่อไป

.
บทเรียนสำหรับประเทศไทย

จากแนวทางการแก้ปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังเกิดวิกฤติของเกาหลีใต้ข้างต้น ในความเห็นของผู้เขียน เห็นว่า การแก้ปัญหาโดยการผนึกกำลังกันเป็นเครือข่าย ผนวกกับความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของรัฐบาลในการแก้ปัญหา น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในระยะเวลาสั้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียที่ประสบปัญหาวิกฤติเช่นเดียวกัน

.

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งๆ ก็คือ การที่หน่วยงานที่มีบทบาทนำในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของเกาหลีใต้อย่าง KAMCO ได้สร้างเครือข่ายและขยายการดำเนินการระหว่างประเทศ ทั้งในรูปแบบของการทำข้อตกลงความร่วมมือการให้บริการปรึกษาแนะนำ การลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนการจัดหลักสูตรฝึกอบรมแก่บุคลากรของประเทศต่าง ๆ

.

อย่างที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมนั้น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ทั้งในด้านเงินลงทุน เทคนิควิธีการ บุคลากร และที่สำคัญคือ ด้านข้อมูลสารสนเทศ และองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาในทุกๆ ด้าน จึงนับเป็นแนวทางที่แยบยลของประเทศเกาหลีใต้ เพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

.
ผู้เขียน : สมานลักษณ์ ตัณหิกุล สำนักนโยบายอุตสาหกรรมมหาภาค
ที่มา : วารสาร เศรษฐกิจอุตสาหกรรม อศอ.