เนื้อหาวันที่ : 2008-08-25 10:55:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1097 views

รมว.พลังงาน คาดคัดเลือกที่ปรึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ราวปลาย ส.ค.นี้

พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน เผยจะสรุปผลการคัดเลือกที่ปรึกษาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ราวปลายเดือน ส.ค.นี้ ส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยนั้นต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้าน โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับประชาชน

พล.ท. หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ  รมว.พลังงาน เผยจะสรุปผลการคัดเลือกที่ปรึกษาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ราวปลายเดือน ส.ค.นี้ ส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยนั้นต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้าน โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับประชาชน

.

"ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งคาดว่าจะสรุปผลได้ประมาณปลายเดือนสิงหาคมนี้" พล.อ. หญิง พูนภิรมย์ กล่าว ทั้งนี้ รมว.พลังงาน ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เดินทางไปดูโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของบริษัท คันไซ อิเล็กทริกส์ เพาเวอร์ ที่เมืองโออิ ประเทศญี่ปุ่น

.

ตามแผนพัฒนาพลังงานของไทยจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดกำลังการผลิต 4,000 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 10%ของความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ โดยจะทยอยสร้างในปี 2563 ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ และในปี 2564 อีก 2,000 เมกะวัตต์

.

รมว.พลังงาน กล่าวว่า  หลังจากคัดเลือกที่ปรึกษาโครงการฯ ได้แล้วจะเริ่มศึกษาขั้นต้นถึงความเหมาะสมของเทคโนโลยี สถานที่ก่อสร้าง บุคลากร อุตสาหกรรมรองรับ ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เป็นต้น โดยใช้เวลาศึกษาประมาณ 2 ปี ให้ได้ข้อสรุปประมาณปี 2553 หลังจากนั้นจะพิจารณาถึงความเหมาะสมและความคุ้มค่าว่าจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทยหรือไม่

.

แต่เรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องดำเนินการคือ การสร้างความเข้าใจกับคนไทยในเรื่องนี้เพื่อให้เกิดการยอมรับ ซึ่งขณะนี้ได้จัดกลุ่มประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้แก่คนไทยแต่ละกลุ่มให้ได้รับทราบความจริงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และน่าจะนำขั้นตอนการดำเนินโครงกรในประเทศญี่ปุ่นมาเป็นแบบอย่างหากประเทศจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต

.

รมว.พลังงาน กล่าวว่า พลังงานนิวเคลียร์ถือว่าเป็นพลังงานสะอาด ราคาถูก และมีมาตรฐานความปลอดภัยที่ดี แต่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องใช้เงินลงทุนสูง โดยขณะนี้มีต้นทุนการก่อสร้างประมาณ 3,000-4,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์  แต่มีต้นทุนที่ผลิตไฟฟ้าออกมาได้ต่ำประมาณ 3-4 เซนต์สหรัฐต่อหน่วยหรือประมาณ 1 บาทเศษ

.

ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ 55 แห่งทั่วประเทศ กำลังก่อสร้างอีก 2 แห่ง และในอนาคตมีแผนก่อสร้างเพิ่มอีก 11 แห่ง โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานนิวเคลียร์คิดเป็น 31% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศประมาณ 49,000 เมกะวัตต์