เนื้อหาวันที่ : 2008-08-22 11:55:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2824 views

แง้มขอบเขตการศึกษาแลนด์บริดจ์ใต้ เปิดทางดูไบ เวิลด์ยึดท่าเรือสงขลา – สตูล

โครงการศึกษาความเหมาะสมแนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเศรษฐกิจ(แลนด์บริดจ์) เชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอ่าวไทย ที่จังหวัดสงขลา ต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้านที่อยู่บริเวณท่าเรือน้ำลึกสงขลาปัจจุบัน จากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมีแต่หาดหิน เพราะหาดทรายถูกกัดเซาะไป เป็นเพราะอะไร เกิดอะไรขึ้น

คณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางมาดูงานและติดตามความคืบหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมแนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเศรษฐกิจ(แลนด์บริดจ์) เชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอ่าวไทย ที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม 2551ที่ผ่าน นำโดยว่าที่ร้อยตรีพงศ์พันธ์ สุนทรชัย ประธานกรรมาธิการ พร้อมคณะโดยได้เข้าร่วมประชุมกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล ตัวองค์การบริหารส่วนจังหวัด หอการค้าของทั้งสองจังหวัด ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา

.

นางมาลี เอื้อภราดร ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ได้รายงานความคืบหน้าของโครงการว่า จากการที่บริษัท ดูไบ เวิลด์ (Dubai World) ซึ่งจัดตั้งโดยรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้มีหนังสือลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 ถึงกระทรวงคมนาคม เสนอให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าเพื่อศึกษาความเหมาะสมแนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอ่าวไทย พร้อมกับจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) เพื่อให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาสำหรับการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวนั้น

.

ขณะนี้ สนข.ได้ลงนามใน MOU ดังกล่าว กับ ดูไบเวิลด์แล้ว เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 หลังจากคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในร่าง MOU ดังกล่าว เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 โดยพิจารณาความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

.

โดยสาระสำคัญของ MOU ดังกล่าว ได้แก่การศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาท่าเรือระหว่างประเทศ 2 ฝั่งทะเล พัฒนาสะพานเศรษฐกิจระหว่างท่าเรือ ซึ่งประกอบด้วย ถนน ทางรถไฟ ท่อส่งน้ำมัน เขตเศรษฐกิจพิเศษ ปลอดภาษี นิคมอุตสาหกรรม

.

โดยในการร่าง MOU นั้น กระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณา แนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอ่าวไทย มีรองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ได้มอบหมายให้ สนข. ประสานงานกับ Dubai World  ซึ่ง สนข. ได้เจรจาปรับปรุงราย ละเอียดสาระสำคัญของ MOU โดยไม่มีข้อผูกพันต่อเนื่องใดๆ ที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติภายหลังการศึกษา

.

ภาพร่างท่าเรือปากบารา

.

จากนั้น สนข. ได้จัดประชุมหารือกับผู้แทนดูไบ เวิลด์ อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อพิจารณาร่างข้อกำหนดขอบเขต(TOR) การศึกษาความเหมาะสมแนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) เชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอ่าวไทย เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 และ 4 มิถุนายน 2551 โดยผู้แทน สนข. และ ดูไบ เวิลด์ ได้เห็นชอบร่าง TOR ร่วมกันแล้ว โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 12 เดือนโดย ดูไบ เวิลด์จะต้องแจ้งรายชื่อบริษัทที่ปรึกษาฯ ที่ ดูไบ เวิลด์ คัดเลือกเพื่อให้ สนข. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน ดูไบ เวิลด์ ลงนามในสัญญาจ้างบริษัทที่ปรึกษาฯ ต่อไป

.

สำหรับสรุปสาระสำคัญ TOR ประกอบด้วย แนวทางกลยุทธ์ในการพัฒนาสะพานบก ศึกษาความเหมาะสมแนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) เชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอ่าวไทย โดยแผนหลักการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ ได้แก่ สถานที่ตั้งท่าเรือ แนวเส้นทางการขนส่ง อุทธยานธุรกิจ และการพัฒนาเชิงพาณิชย์อื่นๆ ความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์และการเงิน การพัฒนาธุรกิจและการพาณิชย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและแผนการบริหารจัดการ การมีส่วนร่วมภาคประชาชนและด้านการศึกษา เป็นต้น

.

นอกจากนี้ ได้แบ่งบริษัทที่ปรึกษา ออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย ที่ปรึกษาด้านการพาณิชย์ ที่ปรึกษาด้านเทคนิค ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ที่ปรึกษาด้านจัดการกลยุทธ์

..

สำหรับที่ปรึกษาด้านสิงแวดล้อมนั้น ดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ (Strategic Environmental Assessment – SEA) เพื่อหารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมให้เกิดประโยชน์ทางสังคมสูงสุดและเกิดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

.

นางมาลี กล่าวต่อ ว่า ในการการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ (Strategic Environmental Assessment – SEA)จะละเอียดกว่าการจัดทำรายงานผลกระทบสิงแวดล้อม หรือ อีไอเอ(EIA) เนื่องจากไม่ต้องการให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญได้รับผลกระทบ หรือให้มีผลกระทบน้อยที่สุด โดยขณะนี้ทางดูไบ เวิลด์ ได้ทาบทามที่ปรึกษาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาโครงการถมทะเลจูไมร่า ปาล์ม ที่ดูไบด้วย

.

แลนด์บริดจ์สงขลา - สตูล

.

นอกจากนี้ สนข. ได้ตั้งข้อสังเกตในที่ประชุมด้วยว่า ปัจจุบันมาเลเซียได้ประกาศดำเนินโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคเหนือ ในรัฐเปอร์ลิส เปรัค เคดาห์และปีนัง ให้เป็นเขตพัฒนาโลจิสติกส์แห่งใหม่ จะมีผลกระทบโดยตรงระบบการขนส่งทางภาคใต้ของไทย ที่อาจหันไปใช้มาเลเซียเป็นฐานในการส่งออกแทนท่าเรือแหลมฉบัง

.

ขณะที่ นักลงทุนต่างประเทศที่มีแผนจะใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและการกระจายสินค้าในภูมิภาค อาจเปลี่ยนไปลงทุนในมาเลเซียแทนจึง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งรัดแลนด์บริดจ์สงขลา สตูล และขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่

.

ขณะที่ นายสุรชัย จิตภักดีบดินทร์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา เปิดเผยในที่ประชุมว่า หอการค้าจังหวัดสงขลาได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 26 ในวันที่ 28 – 30 พฤศจิกายน 2551 โดยประเด็นที่หอการค้าทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้จะเสนอ คือโครงการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจ(แลนด์บริดจ์) เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมและการขนส่งสินค้าระหว่างชายฝั่งทะเลอันดามันกับอ่าวไทยในภาคใต้ของไทย ระหว่างจังหวัดสงขลาและสตูล หรือแลนด์บริดจ์สงขลา สตูล เพื่อให้เป็นข้อเสนอของที่ประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ซึ่งจะยื่นทำเป็นสมุดปกขาวเสนอต่อรัฐบาลให้เร่งดำเนินโครงการนี้ต่อไป

.

นอกจากนี้ จะเสนอทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจในภาคใต้ ในด้านโลจิสติกส์ (logistic) ร่วมกับแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล การรองรับและสนับสนุนโครงการก่อสร้างท่าเรือนำลึกปากบารา จังหวัดสตูลและท่าเรือน้ำลึกสงขลานี้ด้วย โดยเน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ในระยะยาว

.

ส่วนนายเจือ ราชสีห์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) สงขลา ในฐานะรองประธานกรรมาธิการคมนาคม กล่าวว่า โครงการนี้ต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้านด้วย เพราะจากการพูดคุยกับชาวบ้านที่อยู่บริเวณท่าเรือน้ำลึกสงขลาปัจจุบัน เขาบอกว่าต้องการให้ยกเลิกท่าเรือแห่งนี้ ถามว่าเป็นเพราะอะไร นอกจากนี้ในเรื่องปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วย เพราะตอนนี้ชายหาดทางฝั่งอ่าวไทยมีแต่หาดหิน เพราะหาดทรายถูกกัดเซาะไปมาก เป็นเพราะอะไร ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งก็ต้องหาคำตอบต่อไป

.

จากนั้นคณะทั้งหมดได้เดินทางไปที่ท่าเรือน้ำลึกสงขลา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาและที่ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นสถานที่ที่กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคมศึกษาความเหมาะสมเพื่อก่อสร้างท่าเรือนำลึกสงขลาแห่งที่ 2

.

ที่มา : http://www.prachatai.com