เนื้อหาวันที่ : 2008-08-14 16:25:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2385 views

กรณีท่อก๊าซ ปตท. หลังคำพิพากษา

บรรดาท่อส่งก๊าซที่วางอยู่ริมทางหลวงแผ่นดิน ใต้ถนน ในป่าไม้ แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ทะเล ตลอดจนที่สาธารณะอื่นๆ ล้วนแล้วแต่เป็นการ “ใช้อำนาจมหาชนของรัฐ” มาจัดการเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ของสาธารณะใช่หรือไม่ ใครก็ตามที่ไม่มี "อำนาจมหาชนของรัฐ" ย่อมไม่สามารถกระทำได้ใช่หรือไม่

ผู้เขียน : ประสาท  มีแต้ม

.

.

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2551 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง  "9 คำถามคาใจ กรณี ปตท."  ซึ่งเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจมาหลายปีนับตั้งแต่การแปรรูปเมื่อเดือนตุลาคมปี 2544 

.

เวทีเสวนาประกอบด้วย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม  บมจ. ปตท. (คุณสรัญ รังคสิริ)   เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (คุณสารี อ๋องสมหวัง) ดำเนินรายการโดยคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์  บรรณาธิการนิตยสารสารคดี  นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการและประธานกรรมการบริหารบริษัทหลักทรัพย์ภัทรด้วย

.

นักข่าวของ "ประชาไท" รายงานว่า "บรรยากาศในเวทีก็มีบางช่วงดุเด็ดเผ็ดร้อน บางส่วนตอบคำถามซึ่งกันและกัน บางส่วนไม่ บางส่วนขัดแย้ง"  ในขณะที่ผู้สื่อข่าวของ "ผู้จัดการออนไลน์" รายงานว่า  "การเสวนาเริ่มร้อนระอุตั้งแต่เปิดประเด็นแรกเรื่องกำไรของปตท.มาจากไหน ผู้บริหารของ ปตท. และหลักทรัพย์ภัทร ได้แสดงสีหน้าท่าทีดูแคลนและโต้แย้งข้อมูลของผู้แทนองค์กรผู้บริโภคว่า ไม่รู้เอาข้อมูลมาจากไหน"

.

ในบทความนี้ผมจะให้ความสนใจเพียงประเด็นเดียวคือ ประเด็นท่อก๊าซของ ปตท. ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาไปแล้ว  พอจะสรุปสั้นๆ ได้ความว่า "ท่อก๊าซและระบบท่อก๊าซที่ทาง ปตท.(ซึ่งเคยเป็นของรัฐ 100%) ได้ใช้ "อำนาจมหาชนของรัฐ" ไปจัดการเวนคืนที่ดินของเอกชนมา แต่เมื่อ ปตท.ถูกแปรรูปไปเป็นบริษัทเอกชนแล้ว ก็ให้จัดการคืนให้กับกระทรวงการคลังไปเสีย"

.

สิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจก็คือว่า มีทรัพย์สินอะไรบ้างที่จะต้องคืนกลับให้กับกระทรวงการคลัง(หรือคืนให้รัฐ) แล้วในอนาคตจะจัดการกันอย่างไรต่อไปกับท่อก๊าซและทรัพย์สินเหล่านี้ ในบทความนี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่ยังห่างไกลจากข้อมูลสามารถเข้าใจได้ ผมจึงขออนุญาตตั้งคำถามเองดังต่อไปนี้ และหากส่วนใดที่สอดคล้องกับการเสวนา ผมจะนำมาเสนอพร้อมๆ กัน

.

คำถามที่หนึ่ง  บรรดาท่อส่งก๊าซที่วางอยู่ริมทางหลวงแผ่นดิน ใต้ถนน  ในป่าไม้ แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ทะเล ตลอดจนที่สาธารณะอื่นๆ ล้วนแล้วแต่เป็นการ "ใช้อำนาจมหาชนของรัฐ"  มาจัดการเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ของสาธารณะใช่หรือไม่ ใครก็ตามที่ไม่มี "อำนาจมหาชนของรัฐ" ย่อมไม่สามารถกระทำได้ใช่หรือไม่

.

คำถามที่สอง  ก่อนการแปรรูป คณะกรรมนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีมติให้แยกกิจการท่อส่งก๊าซออกมาจากธุรกิจของ ปตท. คณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบตามข้อเสนอ (25 กันยายน 2544) ในระหว่างการดำเนินการแปรรูป หนังสือชี้ชวนของ ปตท. ก็ได้สัญญาว่าจะแยกกิจการท่อก๊าซออกมาภายในหนึ่งปี แต่ทำไม บริษัท ปตท. จึงไม่ทำตามสัญญา

.

ผมเองยังไม่ชัดเจนกับวัตถุประสงค์การแยกกิจการดังกล่าว แต่เข้าใจว่านอกจาก "การใช้อำนาจมหาชนของรัฐ" แล้ว น่าจะเพื่อลดการผูกขาดกิจการก๊าซธรรมชาติได้ด้วย เราลองคิดดูว่า ถ้ากิจการท่อส่งก๊าซเป็นของรัฐดังเดิม ผู้ใช้ก๊าซอาจจะมีอำนาจในการกำหนดค่าผ่านท่อได้บ้าง 

.

คำถามที่สาม  ท่อส่งก๊าซที่มีอยู่ในปัจจุบันเกือบทั้งหมดของประเทศ รวมทั้งท่อก๊าซไทย-พม่า,ไทย-มาเลเซีย นั้นได้สร้างก่อนการแปรรูป ปตท. (ตุลาคม 2544) ใช่หรือไม่  หลังการแปรรูปแล้ว ได้มีการก่อสร้างท่อส่งก๊าซเพิ่มเติมซึ่งก็ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับท่อส่งก๊าซที่มีอยู่ก่อนการแปรรูป  แม้กระนั้นก็ตามท่อที่สร้างขึ้นใหม่นี้ยังคงสร้างในทะเลซึ่งก็ต้องใช้ "ใช้อำนาจมหาชนของรัฐ"  ตามคำพิพากษาของศาล(14 ธันวาคม 2550) ด้วยใช่หรือไม่  ขอความกรุณาให้ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แจกแจงซิว่ามีท่อก๊าซใดบ้างที่ไม่ได้ใช้ "อำนาจมหาชนของรัฐ" เข้าไปจัดการ

.

คำถามที่สี่ ก่อนการแปรรูป การลงทุนของ ปตท. มักจะควักกระเป๋ามาลงทุนเองประมาณ 30 % ของเงินลงทุนทั้งหมด และอีก 70% เป็นเงินกู้ที่รัฐบาลไทยเป็นผู้ค้ำประกัน  ในวันที่แปรรูป โครงการท่อก๊าซต่างๆ ยังคงมีหนี้สินเท่าใด อัตราดอกเบี้ยร้อยละเท่าใด โปรดแจง

.

คำถามที่ห้า  ขณะนี้ (16 พฤษภาคม 2551) ทางกระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ และทางบริษัท ปตท. ได้ร่างสัญญาการใช้ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของท่อส่งก๊าซบนสาธารณะสมบัติของชาติ ปตท.ต้องชำระค่าใช้ที่ราชพัสดุ  สรุปได้ว่าปีละไม่ต่ำกว่า 180 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 550 ล้านบาท การคิดค่าใช้ที่ดังกล่าวตั้งอยู่บนหลักการอะไรบ้าง 

.
คำถามที่หก  ในการลงทุนโครงการท่อส่งก๊าซ ทาง ปตท. คิดผลตอบแทนการลงทุน(IRR) ร้อยละ 18 ต่อปี ใช่หรือไม่ 
.

อนึ่ง การแจกแจงรายละเอียดให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ในบทความสั้นๆ นี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การบอกข้อมูลว่าในแต่ละปีที่ผ่านมา ทาง ปตท. (ก่อนแปรรูป)ได้ส่งเงินในโครงการท่อส่งก๊าซให้รัฐเท่าใด ก็สามารถทำให้ทราบได้ว่า ในอนาคตทาง บริษัท ปตท. ควรจะต้องจ่ายให้รัฐปีละเท่าใด

.

คำถามที่เจ็ด  จากเอกสารแนบท้ายของ คู่มือการคำนวณอัตราค่าผ่านท่อซึ่งใช้ประกอบสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่าง การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (7 พฤศจิกายน 2539)   ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ  ทำให้เราสามารถทราบข้อมูลเรื่องรายได้-รายจ่ายรวมทั้งรายได้ที่นำส่งให้รัฐจากค่าผ่านท่อ พอสรุปได้ดังต่อไปนี้

 .

 .

ก่อนจะกล่าวต่อไป ต้องขอหมายเหตุกับข้อมูลนี้ก่อน คือ (1) เป็นข้อมูลประมาณการในปี 2539 นั่นคือทำให้ข้อมูลในปี 2540 ไม่น่าจะห่างจากความจริงมากนัก แต่ข้อมูลในปี 2549 อาจน่าสงสงสัย แต่ก็สามารถตรวจสอบความถูกต้องกับข้อมูลอื่นบางอย่างได้  (2) ในปี 2540 ท่อก๊าซไทย-พม่า ยังไม่มีก๊าซผ่านท่อ (3) ท่อก๊าซไทย-มาเลเซียยังไม่ได้สร้าง จากข้อมูลดังกล่าว เราพบว่า

.

(1) กำไรสุทธิหลังหักค่าดอกเบี้ยในปี 2540 และ 2549 อยู่ที่ 1, 688 และ 5,711 ล้านบาทบาท ตามลำดับ  สมมุติว่าเราต้องยึดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายคือระหว่างเจ้าของประเทศ(เจ้าของที่ดินสาธารณะ)กับผู้ถือหุ้น เราควรจะแบ่งเงินจำนวนนี้กันอย่างไร

.

ในความเห็นของผมคิดว่าควรจะแบ่งออกเป็นสามส่วนดังนี้คือ  (1) ต้องแบ่งให้กับกระทรวงการคลังที่ควักกระเป๋าลงทุน 30% ตั้งแต่แรกก่อน (2) ต้องแบ่งให้เป็นค่าใช้ที่ราชพัสดุซึ่งขณะนี้เรายังไม่ทราบว่าควรจะเป็นเท่าใด และ (3) แบ่งให้ผู้ถือหุ้นหลังการแปรรูป  ผมยังสงสัยว่า ทำไม กระทรวงการคลังกับ บริษัท ปตท. จำกัด จึงคิดจะให้ค่าใช้ที่อยู่ระหว่าง 180 ถึง 550 ล้านบาทเท่านั้น

.

(2) กำไรสุทธิหลังหักดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ถึง 12.7 ของเงินลงทุน ตัวเลขนี้ย่อมเป็นการยืนยันว่า ทางบริษัท ปตท. คิดผลตอบแทนการลงทุน(IRR)ประมาณ 18% จริง โดยมีดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 7%

.

(3) รายได้ที่ส่งให้รัฐอยู่ระหว่าง 506  ถึง 1,713  ล้านบาท  โดยที่ปริมาณก๊าซผ่านท่อเพียง  882.96 และ 1,044.76 ล้านบีทียู นั่นหมายถึงว่า ค่าผ่านท่อขึ้นกับปริมาณก๊าซที่ผ่านด้วย

.

.

ในปี 2550 ปริมาณก๊าซที่ผ่านท่อทั้งหมดประมาณ 1,248  ล้านบีทียู (ไม่นับรวมท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย)  ดังนั้น เงินที่ส่งให้รัฐจึงน่าจะเป็นประมาณ 2,046 ล้านบาท  ถ้านับด้วยก็จะสูงกว่านี้อีก นี่ยังไม่ได้คิดตามราคาก๊าซที่เพิ่มขึ้นไปอีกมาก เมื่อราคาก๊าซเพิ่มขึ้น ค่าผ่านท่อก็เพิ่มตามไปด้วย

.

ที่กล่าวมาแล้ว เป็นคำถามเจ็ดข้อสำหรับประเด็นการจัดการกับท่อส่งก๊าซหลังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ต่อไปนี้ผมขอนำบางตอนของการเสวนาที่ทาง "ประชาไท" นำเสนอ ซึ่งผมขอนำมาเรียงลำดับใหม่ ในขณะที่สังคมกำลังตั้งคำถามกับ ปตท. ว่า ที่ผ่านมาคุณคิดค่าผ่านต่อไปเท่าใดและในอนาคตคุณจะต้องจ่ายค่าเช่าเท่าใด ทางผู้บริหารของ ปตท. กลับตอบว่า  "ถ้ากระทรวงการคลังจะคิดค่าผ่านท่อแพงๆ สุดท้ายก็ตกที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ทำให้ค่าไฟแพงเปล่าๆ"

.

ผมคิดว่า นี่เป็นคำตอบที่ไม่ตรงประเด็น  เพราะขณะที่ ปตท. คิดกำไรสุทธิหลังหักดอกเบี้ยเงินกู้แล้วที่อัตรา 12.7%  (กำไรเบื้องต้นสูงถึง 18%) ถามว่าในประเทศไทยขณะนี้ มีธุรกิจใดบ้างที่มีกำไรสุทธิหลังหักค่าดอกเบี้ยแล้วสูงเท่ากับกับกิจการท่อส่งก๊าซซึ่งเป็นกิจการผูกขาดรายเดียวของประเทศไทย เดิมทีเดียว รัฐบาลได้จัดตั้งการปิโตรเลียมขึ้นมาเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และเพื่อคานอำนาจกับบริษัทของเอกชนรายอื่น แต่แล้วก็เปลี่ยนเจตนารมณ์มาเป็นการแสวงหากำไรแบบผูกขาดรายเดียว

.

ค่าไฟฟ้าที่แพงอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากค่าผ่านท่อที่แพงเกินเหตุอันควร ประเด็นปัญหาอยู่ที่คุณคิดราคาเขาแพง แล้วคุณคิดจะจ่ายค่าเช่าถูกๆ ต่างหากละ ในขณะที่นักลงทุนท่านหนึ่งกล่าวว่า  "ในการแปรรูป ปตท.ได้มีการตีความกฎหมายหมดแล้ว แต่เมื่อมีการฟ้องร้อง เมื่อศาลตัดสินในกรณีท่อก๊าซก็ต้องเคารพ ในฐานะนักลงทุน ตอนซื้อหุ้นรู้อยู่แล้วว่ามีธุรกิจท่อก๊าซ จึงซื้อ แต่เมื่อศาลตัดสินให้โอนสิทธิกลับก็เคารพ แต่ทำไมต้องคิดค่าเช่าตั้ง 3,000 ล้าน นักลงทุนคิดว่าไม่ควรคิดค่าเช่าเลย"

.

ปัญหาเรื่องท่อก๊าซ ปตท.  เป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ไม่ว่านักลงทุน นักการเมือง ข้าราชการและทาง ปตท. จะคิดอย่างไร ตราบใดที่ความเป็นธรรมยังไม่เกิดขึ้น คำถามและการเคลื่อนไหวจะต้องดำรงอยู่ตลอดไป

.

ที่มา : http://www.prachatai.com

ภาพประกอบ : http://www.oknation.net/blog/muetheesamszi