เนื้อหาวันที่ : 2008-08-07 15:25:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1868 views

หอการค้าฯคาด GDP ปี 52 โต 5.5-6.5% เงื่อนไขการเมืองนิ่ง-ลงทุนเมกะโปรเจ็คต์

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 51 จะขยายตัวได้ 5.5-6.0% หรืออยู่ที่เฉลี่ย 5.6% ซึ่งเป็นการปรับประมาณการณ์เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่เคยคาดไว้ที่ระดับ 5.1% โดยอัตราการขยายตัวที่ 5.6% ถือว่าสูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 48 เป็นต้นมา

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 51 จะขยายตัวได้ 5.5-6.0% หรืออยู่ที่เฉลี่ย 5.6% ซึ่งเป็นการปรับประมาณการณ์เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่เคยคาดไว้ที่ระดับ 5.1% โดยอัตราการขยายตัวที่ 5.6% ถือว่าสูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 48 เป็นต้นมา

.

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า "เดิมเรามอง(GDP ปี 51) ไว้ที่ 5.1% แต่จากล่าสุดที่ได้สำรวจความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจ การที่รัฐบาลออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายไปสู่ระบบของรัฐสภา ก็เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้ปีนี้โตได้ 5.5-6.0% ส่วนคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 51 อยู่ที่ 6.8-7.2% เนื่องจากปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตสินค้า โดยการส่งออกยังน่าจะขยายตัวได้สูงถึง 18-20% ดุลการค้าขาดดุล 500-1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3-4 พันล้านเหรียญสหรัฐ  ทั้งนี้ อยู่ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ที่ 110-120 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ที่ 32.50-33.50 บาท/ดอลลาร์"

.

ปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ได้แก่ มาตรการลดค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะ 6 เดือน 6 มาตรการ ที่มีวงเงินสูงถึง 4.9 หมื่นล้านบาท ตลอดจนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่คาดว่าจะเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น, การส่งออกยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้, ราคาน้ำมันที่ลดลงต่ำกว่าช่วงครึ่งปีแรก, ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้และกำลังซื้อของเกษตรกรมีส่วนผลักดันภาวะเศรษฐกิจทุกภูมิภาคให้ขยายตัวดี

..

ขณะที่ปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีจะสูงกว่าปี 50 โดยคาดว่าทั้งปี 51 ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 110-120 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ปี 50 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 65-70 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและกำลังซื้อของผู้บริโภค, ปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกให้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้ และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่มีความไม่แน่นอน จากเรื่องการยุบพรรคหรือความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

..

นายธนวรรธน์ ยังเชื่อว่า การคาดการณ์กรณีเลวร้ายสุด หากปีนี้เกิดเหตุความวุ่นวายทางการเมืองจนถึงขั้นมีการปฏิวัติ เศรษบกืจไทยก็ยังจะเติบโตได้ถึง 4.5-5.5% เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจขยายตัวได้ 5.8% ถือว่าอยู่ระดับที่น่าพอใจ โดยได้ภาคส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก แต่อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดปฏิวัติรัฐประหารขึ้นอีกนั้นมีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก

..

"กรอบการโตของเศรษฐกิจที่ให้ไว้ 4.5-5.0% คือถ้ามีการปฏิวัติเกิดขึ้น แต่เราเชื่อว่าโอกาสเกิดน้อย  ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/51 โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวจะอยู่ที่ 6.5% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/51 ซึ่งอยู่ที่ 6.3% เนื่องจากผู้บริโภคและผู้ประกอบการเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ประกอบกับ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะมีความคึกคักจากเม็ดเงินที่หมุนเวียนในไตรมาส 2/51 มากขึ้น จากนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลและจะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนปรับตัวดีขึ้น" นายธนวรรธน์ ศูนย์พยากรณ์ ฯ ระบุ

.

ส่วนภาคการเงินในไตรมาส 3/51 คาดว่าเงินบาทยังอ่อนค่าอยู่ในระดับ 33.60-33.80 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถึงจุดต่ำสุด ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยคาดว่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.25% เนื่องจากสถานการณ์โลกที่ยังไม่แน่นอน ประกอบกับ เงินเฟ้อยังมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ในช่วงครึ่งหลังของปี อัตราดอกเบี้ยน่าจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับนี้ต่อเนื่อง แต่หากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง อาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นได้อีก 0.25-0.50%" นายธนวรรธน์ กล่าว

.

ส่วนปริมาณการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เริ่มมีสัญญาณของการขยายตัวมากขึ้น เป็นผลมาจากการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจปี 51 ที่ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจเริ่มที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น