เนื้อหาวันที่ : 2006-08-30 14:00:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2041 views

Eco-Efficiency กับแนวคิดอุตสาหกรรมแบ่งปัน เพื่อยั่งยืน

Eco-Efficiency แนวคิดอุตสาหกรรมแบ่งปัน เพื่อยั่งยืน หนทางสู่เศรษฐกิจ พยายามลดมลภาวะ ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ลดการผลิตของเสีย

Eco-Efficiency แนวคิดอุตสาหกรรมแบ่งปัน เพื่อยั่งยืน หนทางสู่เศรษฐกิจโตควบคู่กับการพยายามลดมลภาวะ ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ลดการผลิตของเสีย รวมถึงการพยายามสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อมรอบข้างและสุขภาพให้กับประชาชน

 

ดร.กิติกร จามรดุสิต คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการ การวิเคราะห์ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของกลุ่มอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)กล่าวว่า ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ(Eco-Efficiency) เป็นหลักการและดัชนีที่ถูกนำมาใช้เมื่อปี พ.ศ.2535 โดยคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมโลก (World Business Council for Sustainable Development : WBCSD)ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระหว่างประเทศกว่า 130 บริษัทจาก 30 ประเทศทั่วโลกที่มีความมุ่งมั่นจะส่งเสริมเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ปัจจุบันแนวคิดนี้ได้เป็นที่ยอมรับและประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือการจัดการให้ภาคธุรกิจมีศักยภาพในการแข่งขันควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

 

ดร.กิติกร กล่าวว่า วัตถุประสงค์สำคัญของการดำเนินงานด้านประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจได้แก่ การพยายามลดการบริโภคทรัพยากรหมายรวมถึง การพยายามลดการใช้วัตถุดิบตั้งต้นในการผลิต พลังงาน น้ำและที่ดิน ส่งเสริมการใช้ซ้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่ของผลิตภัณฑ์ พยายามลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยของเสีย ได้แก่  น้ำเสีย อากาศเสีย ขยะและสารพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และการบริการเป็นความพยายามที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ สินค้าและการบริการสูงสุด โดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติน้อยที่สุด

 

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การนำประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจไปประยุกต์ใช้กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมหรือองค์กรใดๆ ก็ตาม สามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ในมุมมองสองมิติ กล่าวคือ เกิดการแข่งขันด้านธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนำสู่ผลลัพธ์ของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจขององค์กรหรือภาคธุรกิจนั้น ๆ ควบคู่กับมิติที่สองคือ การพยายามลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมรอบข้าง อันจะส่งผลระยะยาวต่อภาวการณ์ดำรงอยู่ในอนาคต

 

นอกจากนี้ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจยังสามารถช่วยในการกำหนดบทบาทขององค์กรหรือธุรกิจใด ๆ ก็ตามในเชิงนโยบายและกลยุทธ์ซึ่งสามารถนำไปสู่การแข่งขันในเชิงธุรกิจอย่างเป็นระบบกล่าวคือ ผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินงานประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจขององค์กรหรือภาคธุรกิจ ยังสามารถช่วยประเมินให้เห็นถึงสภาพขององค์กรหรือภาคธุรกิจในช่วงระยะเวลาต่างๆที่ผ่านมา การนำใช้เทียบเคียงสมรรถนะด้านการจัดการกับองค์กรหรือภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภายในองค์กรหรือภาคธุรกิจ และกำหนดบทบาทเชิงนโยบายของกลยุทธ์ขององค์กร หรือภาคธุรกิจสำหรับการดำเนินงานในอนาคตได้อีกด้วย

 

นางเกษมศรี หอมชื่น รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในงานการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนโยบายและกลยุทธ์ด้วยดัชนีประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ณ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองถึงแนวทางทางประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจว่า แนวทางดังกล่าวไม่ได้สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง แต่การที่กลุ่มอุตสาหกรรมมาอยู่ร่วมกัน ต้องช่วยเหลือแลกเปลี่ยนกัน สิ่งที่ไม่ได้ใช้หรือเหลือทิ้งให้กับเพื่อนบ้านข้างเคียง อย่างที่มาบตาพุดมีโรงงานกว่า 50 โรงที่สามารถร่วมแบ่งปันข้อมูลกันได้ ทุกคนก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน แนวความคิดนี้คือทำอย่างไรให้วัตถุดิบลดลง เก็บไว้ให้ลูกหลานได้ อย่างโรงงานย่านนี้มีการทำเรื่องชุมชนสัมพันธ์ ไม่ทาสีที่ตึกแต่จะปลูกต้นไม้เป็นสีเขียวทดแทน หรือโรงงานที่ตั้งใกล้เคียงกัน ต้องการซื้อวัตถุดิบเหมือนกันสามารถใช้รถบรรทุกไปพร้อมกันได้ แทนที่จะต้องขนของหลายเที่ยว ก็ช่วยประหยัดค่าขนส่งลง ซึ่งแนวความคิดนี้ทุกคนสามารถทำร่วมกันได้หมด ไม่จำกัดว่าเฉพาะโรงงานใหญ่เท่านั้น

 

หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวทิ้งท้ายโดยสรุปอีกว่า ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจสามารถเป็นได้ทั้งหลักการและดัชนีตัวชี้วัดที่บ่งบอกความสัมพันธ์ด้านเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมขององค์กรและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่นำไปประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี การนำประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจไปประยุกต์ใช้ในระดับกลุ่มอุตสาหกรรมหรือองค์กรที่ใหญ่มากขึ้นอาจมีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือซึ่งกันและกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร รวมการกำหนดทิศทางการพัฒนาร่วมกันอันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมหรือองค์กรนั้น ๆ ต่อไป