เนื้อหาวันที่ : 2006-02-18 03:23:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7069 views

ฮิตาชิโกบอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ กับความสำเร็จ สู่ผู้นำแห่งตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์

ก้าวความสำเร็จ สู่ผู้นำแห่งตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ครองความเป็นหนึ่งในตลาดฮาร์ดดิสก์ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ประยุกต์ใช้ให้เข้ากับการใช้งานในชีวิตประจำวันของมนุษย์

 

   

 HITACHI GST คือบริษัทผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งในปี 2003 ที่ผ่านมา โรงงานผลิตในประเทศไทยได้ส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปทั่วโลกถึง 30 ล้านยูนิต นับเป็นอัตราส่วนถึง 2 ใน 3 ของจำนวนผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ผลิตได้ทั่วโลก

 

สำหรับคอลัมน์ PLANT TOUR ในฉบับนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมศูนย์การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของบริษัท ฮิตาชิ โกลบอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งศูนย์การผลิตแห่งนี้ได้กลายบริษัทผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกในปี 2546 ที่ผ่านมา โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้นกว่า 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฯ และ ณ วันนี้ ฮิตาชิ จีเอสที ได้ฉลองความสำเร็จเนื่องในโอกาสที่บริษัทได้ทำการจัดส่งผลิตภัณฑ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ตัวที่ 150 ล้าน ออกจากศูนย์การผลิตระดับโลก สู่ตลาดเรียบร้อยแล้ว โดยความร่วมมือทางการผลิตร่วมกับ บริษัท ยูเนี่ยน เทคโนโลยี จำกัด บริษัทพันธมิตรทางธุรกิจด้านการผลิตในประเทศไทยที่ร่วมงานกันมานานตั้งแต่เริ่มเปิดบริษัท ในปี พ.ศ. 2532

 
นอกเหนือจากความสำเร็จดังกล่าวแล้ว ฮิตาชิ จีเอสที ได้ทำการผลิตและจัดส่งผลิตภัณฑ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ขนาดเล็ก หรือผลิตภัณฑ์ ไมโครไดรฟ์ ขนาด 1 นิ้ว ครบ 4 ล้านยูนิต สู่ตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาต่าง ๆ อาทิ เครื่องเล่นเพลงดิจิตอล และกล้องดิจิตอล ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ รุ่น Travelstar ขนาด 2.5 นิ้ว ที่ใช้สำหรับโน้ตบุ๊ก และอุปกรณ์พกพาต่าง ๆ อาทิ เครื่องเล่นภาพ/เสียงแบบพกพาและอุปกรณ์ Global Positioning System ยังได้ถูกส่งออกจากศูนย์การผลิตของ ฮิตาชิ จีเอสที ครบ 100 ล้านยูนิต อีกด้วย ซึ่งจากปริมาณการส่งออกสินค้าสำคัญ 2 ประเภทนี้ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อฮิตาชิ จีเอสที ในการเป็นผู้นำด้านธุรกิจอุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ขนาด 1 นิ้ว และ 2.5 นิ้วในขณะนี้
 
สำหรับฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์รุ่น Travelstar เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ ฮิตาชิ ก้าวขึ้นสู่ผู้นำส่วนแบ่งทางการตลาดของอุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ขนาด 2.5 นิ้ว มาตั้งแต่เริ่มเปิดตัวในปี พ.ศ. 2536 ซึ่งได้รับการยอมรับในเทคโนโลยีอันล้ำสมัย อาทิ คุณสมบัติด้านเสียง, การรองรับการสั่นสะเทือน, ประสิทธิภาพ และอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ อีกด้วย ความลงตัวเหล่านี้ ส่งผลให้ฮิตาชิ คงสถานะความเป็นผู้นำอันดับ 1 ในตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ 2.5 นิ้ว อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาถึง 12 ปีจนถึงปัจจุบัน   
 

ปีนี้จัดเป็นปีที่สำคัญยิ่งสำหรับความสำเร็จอันยิ่งใหญ่หลายประการของฮิตาชิ จีเอสที ประเทศไทย ปริมาณการส่งออกอุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์หลายสิบล้านตัวที่เรากำลังเฉลิมฉลองกันนี้สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงความต้องการด้านอุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่ว  

 

 

มร.มาซามิตสุ โฮริเกะ

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท ฮิตาชิ โกลบอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์

(ประเทศไทย) จำกัด

 

 ความมุ่งมั่นต่อตลาดในประเทศไทย

การแถลงข่าวในวันนี้ถือเป็นการตอกย้ำถึงจุดยืนในการมุ่งมั่นทุ่มเทของ ฮิตาชิ จีเอสทีที่มีต่อการผลิตสินค้าคุณภาพด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยในประเทศไทย ซึ่งถือได้ว่ามีปริมาณมากถึง 2 ใน 3 ของการผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ทั่วโลกของบริษัท ฯ และถือเป็นการสอดคล้องกับที่ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัท ฯ ได้ทำการแถลงข่าวถึงการลงทุนมูลค่ามหาศาลกว่า 8 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตในประเทศให้มากขึ้นเป็น 2 เท่า จาก 30 ล้านยูนิต เป็น 60 ล้านยูนิต ต่อปี

 
นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ฮิตาชิ จีเอสที ยังได้ตอกย้ำจุดยืนดังกล่าวอีกครั้งด้วยการแถลงข่าวถึงความร่วมมือกับผู้จัดจำหน่ายท้องถิ่นรายใหญ่ 2 ราย ความร่วมมือในครั้งนี้กับ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท รีเจนท์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือของบริษัท Legend Australia Pty Limited จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัท ด้วยกลยุทธ์แบบ 2-ทาง (Two-pronged Strategy) โดยมีเป้าหมายหลักคือการเป็นผู้นำในด้านตลาดอุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของไทย
 
ปัจจุบัน บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีสถานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย จะทำหน้าที่ในการให้บริการกับลูกค้ารายย่อยในฐานะตัวแทนของฮิตาชิ จีเอสที ผ่านเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายทั่วประเทศกว่า 4,000 ราย ในขณะที่บริษัทในเครือของ Legend ในประเทศไทย รับผิดชอบหน้าที่การจัดจำหน่ายและให้บริการ กลุ่มผู้ผลิตแบบ OEMs (Original Equipment Manufacturer) และผู้จำหน่ายต่อ (Value-added Resellers) เป็นหลัก 

 

ธุรกิจฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของ Hitachi GST

ประกอบไปด้วย 4 ธุรกิจหลัก คือ

  • ผลิตภัณฑ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ขนาด 1.8 นิ้ว/ และ 2.5 นิ้ว สำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไปและองค์กรธุรกิจ โดยฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในกลุ่มนี้เป็นอุปกรณ์สำหรับการเก็บข้อมูลขนาดเล็กที่ใช้งานอย่างแพร่หลายที่สุด ซึ่งสำหรับตระกูล Travelstar ขนาด 2.5 นิ้ว ผลิตขึ้นด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงเหมาะสำหรับใช้กับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก สำหรับ Travelstar ขนาด 1.8 นิ้ว เป็นฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่เหมาะสำหรับใช้กับผลิตภัณฑ์ Consumer Electronic อาทิ เครื่องเล่น mp3 และเครื่องเล่นเพลงสำหรับพกพา เนื่องจากเป็นอุปกรณ์สำหรับการเก็บข้อมูลที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา
  • ผลิตภัณฑ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ขนาด 3.5 นิ้ว หรือ Deskstar สำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไปและองค์กรธุรกิจ (ATA/SATA) โดย Deskstar เป็นฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ เนื่องจากได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับแอพพลิเคชันรุ่นเก่าและใหม่ อาทิ มัลติมีเดีย, วีดิโอ Steaming, กราฟิกคอมพิวเตอร์ แบบ 3 มิติ, และภาพถ่ายดิจิตอล
  • ผลิตภัณฑ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ขนาด 3.5 นิ้ว สำหรับองค์กรธุรกิจ (SCSI, Fiber Channel) เป็นผลิตภัณฑ์เด่นที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานในระดับองค์กรธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยประสิทธิภาพความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลได้สูงถึง 10,000 และ 15,000 รอบ/นาที ทำให้ผลิตภัณฑ์ในตระกูล Ultrastar นี้ เป็นฮาร์ดไดรฟ์ที่ช่วยให้เซิร์ฟเวอร์สามารถให้บริการลูกข่ายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
  • Emerging Market ด้วยศักยภาพทางธุรกิจที่ฮิตาชิ จีเอสที สามารถผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ได้อย่างครอบคลุมทุกตลาด ตั้งแต่ขนาด 1 นิ้ว จนถึง ขนาด 3.5 นิ้ว Emerging Markets ของ Hitachi GST นั้นมีหน้าที่ศึกษาวิจัยและพัฒนา ค้นหาโซลูชั่นต่าง ๆ ให้กับลูกค้าเพื่อขยายการใช้งานของฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์นอกเหนือจากการใช้งานในอุตสาหกรรมไอทีโดยทั่วไป สำหรับ Microdrive®อุปกรณ์สำหรับการเก็บข้อมูลประสิทธิภาพสูงที่มีขนาดเล็กเพียง 1 นิ้ว ด้วยประสิทธิภาพความจุ 4GB ที่ถูกออกแบบมาอย่างลงตัวในด้านความจุ, ประสิทธิภาพ, ความน่าเชื่อถือ รวมถึงความคุ้มค่าของราคาในการเก็บข้อมูลต่อเมกะไบต์ในแบบ Compact Flash รุ่น I หรือ II ที่มีอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ นอกจากนี้ Emerging Market ยังมีส่วนรับผิดชอบในการแสวงหาและดูแลตลาดใหม่ ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย 

ประวัติแห่งความสำเร็จ

2532       บริษัท ฯ ลงนามความร่วมมือทางการผลิตร่วมกับ บริษัท สหยูเนี่ยน ในประเทศไทย เพื่อดำเนินการผลิตฮาร์ดดิสก์

                ไดรฟ์ ขนาด 2.5 นิ้ว และ 3.5 นิ้ว  โดยมีประสิทธิภาพความจุที่หลากหลายตั้งแต่ 10 กิกะไบต์70 กิกะไบต์

2535       ผลิตภัณฑ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ขนาด 3.5 นิ้ว รุ่นแรก ถูกส่งออกไปจำหน่าย

2537       ผลิตภัณฑ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ขนาด 2.5 นิ้ว รุ่นแรก ถูกส่งออกไปจำหน่าย

2540       เริ่มก่อสร้างศูนย์การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ทันสมัยใน จ.ปราจีนบุรี

2542       ผลิตภัณฑ์ไมโครไดรฟ์ ความจุ 340 เมกะไบต์ รุ่นแรก ที่ผลิตจากศูนย์การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ จ.ปราจีนบุรี

                ถูกส่งออกไปจำหน่าย

2544       ผลิตภัณฑ์ไมโครไดรฟ์ ความจุ 1 กิกะไบต์ รุ่นแรก ที่ผลิตจากศูนย์การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ จ.ปราจีนบุรี ถูกส่งออกไป

                จำหน่าย

2546       บริษัท ฮิตาชิ จีเอสที ได้รวมเข้ากับธุรกิจฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของ บริษัท ไอบีเอ็ม รวมถึงศูนย์การผลิตของไอบีเอ็ม จ.

                 ปราจีนบุรี

2546       ผลิตภัณฑ์ไมโครไดรฟ์ ความจุ 4 กิกะไบต์ รุ่นแรก ถูกส่งออกไปจำหน่าย   ผลิตภัณฑ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ขนาด 2.5 นิ้ว

                ความจุ 7200 รอบ/นาที รุ่นแรก ถูกส่งออกไปจำหน่าย

2547       ผลิตภัณฑ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ขนาด 3.5 นิ้ว ความจุ 400 กิกะไบต์ รุ่นแรก ถูกส่งออกไปจำหน่าย

                 พฤษภาคม:บริษัท ฯ ประกาศแผนการลงทุนเพิ่มมูลค่า 8 พันล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตในประเทศไทยเพิ่มเป็น

                 2 เท่า จาก 30 ล้านยูนิตต่อปี เป็น 60 ล้านยูนิต ต่อปี

                 สิงหาคม: ฮิตาชิ จีเอสที แต่งตั้ง บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ บริษัท

                 รีเจนท์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือของบริษัท Legend Australia Pty Limited เป็นผู้รับผิดชอบ

                 ด้านการจำหน่ายและสร้างความแข็งแกร่งให้กับช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัทฯ ในกลุ่มผู้จำหน่ายปลีก 

                 (value-added resellers) และในกลุ่มผู้ผลิตแบบ OEMs (original equipment manufacturer)

                  พฤศจิกายน:บริษัท ฯ ประสบความสำเร็จในด้านการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ดังต่อไปนี้ 

                   -   ผลิตและส่งอออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ครบ 150 ล้านยูนิต

                   -   ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ไมโครไดรฟ์ ขนาด 1 นิ้ว ครบ 4 ล้านยูนิต

                   -   ผลิตและส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ รุ่น Travelstar ขนาด 2.5 นิ้ว ครบ 100 ล้านยูนิต

                   -   ฉลองความสัมพันธ์ทางธุรกิจร่วมกับบริษัท สหยูเนี่ยน ที่ดำเนินมาครบรอบ 15 ปี  

 

ขั้นตอนการประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ 

จากรูปที่ 1 นั้นเป็นขั้นตอนของการประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ โดยขั้นตอนแรก จะเป็นการนำเอาชิ้นส่วนทั้งหมดที่ได้รับเข้ามาทำการตรวจสอบเนื่องจากวัตถุดิบทั้งหมดไม่ได้สร้างขึ้นจากศูนย์การผลิตแห่งนี้ หลังจากนั้นจะนำยูนิตทั้งหมดของฮาร์ดดิสก์มาทำการประกอบ ซึ่งในกระบวนการนี้ จะต้องทำภายในห้องควบคุมความสะอาด ซึ่งมีหลายระดับด้วยกัน ได้แก่ Clean Room Class 10K และ Clean Room Class 100 หลังจากที่ผ่านการประกอบแล้วก็จะนำไปประกอบเข้ากับแผงวงจรหลัก ซึ่งตรงขั้นตอนนี้สามารถประกอบนอกห้องควบคุมความสะอาดได้ ในขั้นตอนก่อนสุดท้ายคือขั้นตอนของการทดสอบ ซึ่งแท้จริงแล้วขั้นตอนการทดสอบนั้นจะมีอยู่ในทุก ๆ ขั้นตอนอยู่แล้ว แต่กระบวนการนี้เป็นการทดสอบการทำงานของยูนิตและวิเคราะห์คุณภาพและตรวจสอบประสิทธิภาพก่อนส่งมอบให้ลูกค้า  

 

ไมโครไดรฟ์ 4GB อุปกรณ์สำหรับเก็บข้อมูลเคลื่อนที่ใหม่ล่าสุดจากฮิตาชิ

ไมโครไดรฟ์ 4GB เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดในตระกูลไมโครไดรฟ์ ขนาด 1 นิ้ว ซึ่งไมโครไดรฟ์ 4GB นี้มีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการจัดการข้อมูลคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำแบ็คอัพข้อมูลจากเครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่ง นอกจากนี้ ไมโครไดรฟ์ 4GB ยังเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์ต่อผู้ใช้ PDA, กล้องดิจิตอล หรือการใช้งานร่วมกับโน้ตบุ๊ก จึงไม่แปลกที่ไมโครไดรฟ์ 4GB จากฮิตาชิ จึงเป็นอุปกรณ์ ที่มีความเหมาะสมที่สุดในเรื่องของความต้องการของผู้ใช้งาน
 

ฮิตาชิ จีเอสที ได้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2010 ในแต่ละบ้านของผู้ใช้ในอนาคต จะมีจำนวนของฮาร์ดดิสก์แต่ละบ้านประมาณ 20 ตัวต่อบ้าน ซึ่งมาจากการใช้งานทางด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิเช่น DVR, MP3, Laptop, เกม, เครื่องเสียง, สมาร์ตโฟน, Home Server, iVDR และอื่น ๆ อีกมากมาย

นายนคร ตั้งสุจริตพันธ์                              

รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหาร

บริษัท ฮิตาชิ โกลบอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์

(ประเทศไทย) จำกัด

 แนวโน้มทางการตลาด

การคาดการณ์ถึงโอกาสทางการการตลาดของอุปกรณ์เก็บข้อมูลเคลื่อนที่ จำเป็นต้องพิจารณาถึงชนิดของข้อมูลที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะเก็บไว้ในอุปกรณ์เคลื่อนที่หรือพกพาของพวกเขา ตลอดจนขนาดของอุปกรณ์เก็บข้อมูลและความจำที่ต้องการ
  • ไฟล์เพลง ไฟล์เพลงมาตรฐานทั่วไปจะอยู่ในรูปแบบของไฟล์ MP3 และไฟล์ประเภทนี้จะใช้เนื้อที่ความจุประมาณ 1 เมกะไบต์ต่อความยาวเพลงหนึ่งนาที ดังนั้น เพลงที่ยาวประมาณ 3 นาที 3 เมกะไบต์ อย่างไรก็ดี ผู้ใช้มักจะมีไฟล์เพลงหลากหลายประเภทและความจุเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ของตนเอง
  • รูปภาพ กล้องดิจิตอลได้เข้ามาแทนที่กล้องแบบฟิล์มไปเรียบร้อยแล้ว และแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงไม่หยุดอยู่แต่เพียงเท่านี้ ความคมชัดของรูปภาพดิจิตอลได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมาโดยที่กล้องดิจิตอลโดยส่วนใหญ่จะให้ภาพที่มีความคมชัดประมาณ 3 ถึง 4 เมกะพิกเซล (MP) ในขณะที่กล้องคุณภาพสูงก็สามารถให้ความคมชัดถึง 8-10MP ก็เป็นได้ ความจำเป็นในการเก็บข้อมูลภาพจึงมีแนวโน้มมากขึ้นเช่นเดียวกัน
  • การนำเสนอ โดยปกติแล้วการนำเสนองานจะใช้โปรแกรม PowerPoint ถึงแม้ว่าจะมีซอฟต์แวร์อื่น ๆ ที่สามารถกระทำได้เช่นกัน โดยทั่วไปไฟล์งานนำเสนอขนาดเล็กจะมีขนาดเล็กประมาณ 200K หรือ 2MB และไฟล์ขนาดใหญ่ก็จะมีอยู่ประมาณ 3MB ซึ่งหลายคนประมาณการณ์ไว้ว่า ผู้ใช้ปกติมักจะมีไฟล์นำเสนองานขนาดเล็กประมาณ 100 ไฟล์และขนาดใหญ่ประมาณ 50 ไฟล์ ในขณะที่นักนำเสนองานมืออาชีพอาจจะมีไฟล์เก็บจำนวนมากกว่านี้
  • งานพิมพ์ งานพิมพ์ทั่วไปจะอยู่ในรูปของไฟล์ MS Word โดยไฟล์ Word ขนาดเล็กนั้นจะมีขนาดของไฟล์โดยประมาณอยู่ที่ 20K และขนาดใหญ่ที่ประมาณ 200K ผู้ใช้ทั่วไปจะมีไฟล์ Word ขนาดเล็กประมาณ 500 ไฟล์ และไฟล์ขนาดใหญ่ประมาณ 250 ไฟล์ และผู้ใช้งานอาชีพก็อาจจะมีไฟล์ประเภทนี้เก็บไว้ประมาณที่มากกว่านี้
  • ตารางคำนวณ ไฟล์ตารางคำนวณนี้จะอยู่ในรูปประเภทไฟล์ Excel เสียเป็นส่วนใหญ่ ไฟล์ประเภทนี้ขนาดเล็กจะมีขนาดประมาณ 50K ขณะที่ไฟล์ใหญ่จะมีขนาดประมาณ 2MB ผู้ใช้ทั่วไปจะมีไฟล์ประเภทนี้เก็บไว้ประมาณ 250 ไฟล์สำหรับขนาดเล็ก และ 50 ไฟล์สำหรับขนาดใหญ่ โดยที่ผู้ใช้มืออาชีพก็อาจจะมีจำนวนมากกว่านี้
  • ไฟล์ภาพยนตร์ ภาพยนตร์เพิ่งจะเริ่มถูกนำมาเก็บไว้บนฮาร์ดดิสก์แบบพกพาเมื่อไม่นานมานี้เอง ไฟล์ภาพยนตร์ปกติแล้วจะใช้เนื้อที่ความจุประมาณ 4 GB ต่อภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง แต่หากแปลงเป็นไฟล์ MPEG แล้วจะเหลือขนาดเพียง 250 MB เท่านั้น สำหรับผู้ใช้ทั่วไปมักจะมีภาพยนตร์เก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ไม่เกิน 5 เรื่องขณะที่ผู้ที่มืออาชีพอาจจะมีเก็บไว้มากถึง 100 เรื่อง ภาพยนตร์ดิจิตอล (แบบ MPEG4) กำลังเป็นความบันเทิงที่เป็นที่นิยมในหมู่นักเดินทาง
  • อีเมล์ โปรแกรม Outlook  ปัจจุบันมีผู้ใช้อยู่ประมาณ 150 ล้านคนและกำลังทวีความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนใกล้จะเป็นโปรแกรมที่มีคนใช้มากที่สุดของไมโครซอฟต์รองจาก MS Word เลยทีเดียว ผู้ใช้ทั่วไปมักจะเก็บอีเมล์บางอันไว้ในโฟลเดอร์ต่าง ๆ กัน และโปรแกรมนี้จะช่วยให้ผู้สามารถสร้างไฟล์ชนิดพิเศษที่เรียกว่า PST ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้สามารถนำอีเมล์ที่ต้องการไปเก็บรักษาไว้เพื่อจะเรียกดูภายหลังได้โดยไม่ต้องออนไลน์ ประมาณการณ์ว่าผู้ใช้ทั่วไปจะมีไฟล์ PST นี้เก็บประมาณ 200MB ขณะที่ผู้ใช้อีเมล์มาก ๆ อาจจะมีเก็บไว้มากถึง 1.5GB ก็เป็นได้ และโดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ใช้ทั่วไปมักจะเก็บอีเมล์ไว้ประมาณ 5,000 ฉบับ 
และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของความต้องการใช้งานของผู้บริโภคในยุคของการสื่อสารแบบไร้สาย ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ ก็จะทยอยกันผลิตออกมาสู่ตลาดกันอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ๆ อุปกรณ์สำหรับเล่นเกม PDA อุปกรณ์ถ่ายภาพแบบดิจิตอล เครื่องเล่น MP3 และแผ่นเสียงแบบพกพา หรืออุปกรณ์นำร่องต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์สำหรับการเก็บข้อมูลแบบเคลื่อนที่ทั้งสิ้น แนวโน้มการเติบโตของตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์นั้น จึงมีอนาคตอีกยาวไกล
 
ณ วันนี้ เทคโนโลยีของฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ยังคงพัฒนาต่อไปไม่หยุดยั้ง เราเชื่อว่า ชื่อของ ฮิตาชิ จะยังคงเป็นผู้นำแห่งตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ต่อไปอย่างแน่นอน 
 
HITACHI GLOBAL STORAGE TECHNOLOGIES () LIMITED
 

ฮิตาชิ จีเอสที ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2546 ในฐานะที่เป็นบริษัทร่วมระหว่าง ฮิตาชิ และไอบีเอ็ม

ที่อยู่ 203, 205 หมู่ 7 ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี 25140 โทรศัพท์ 0-3720-8700

เป้าหมาย ประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลดิจิตอล ฮิตาชิ จีเอสที ได้ทำการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ศูนย์การผลิตในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และได้ทำการผลิตผ่านทางบริษัทพันธมิตรทางธุรกิจด้านการผลิต คือ บริษัท ยูเนี่ยน เทคโนโลยี จำกัด มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 นอกจากนี้ ฮิตาชิ จีเอสที ยังได้ประกาศแผนการลงทุนเพิ่มอีกมูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เพื่อการขยายกำลังการผลิตในประเทศไทยจาก 30 ล้าน เป็น 60 ล้านยูนิต ต่อปี

จุดมุ่งหมายหลัก  การอำนวยความสะดวกด้านการเข้าถึงข้อมูลดิจิตอลปริมาณมาก ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลได้อย่างสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมการใช้งานทั้งในสำนักงาน บนท้องถนนหรือที่บ้านพักอาศัยทั่วไป บริษัท ฯ ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการเก็บข้อมูลหลากหลายประเภทเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ หรืออุปกรณ์มือถือทั่วไป

ศูนย์การผลิต ปัจจุบันมีหลายประเทศที่เป็นศูนย์การผลิต โดยในประเทศไทยเป็นศูนย์การผลิตที่ใหญ่ที่สุด โดยแบ่งเป็นที่ศูนย์การผลิตที่ จ.ปราจีนบุรี 40% ศูนย์การผลิต จ.ชลบุรี 26% และที่เหลือเป็นศูนย์การผลิตในประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ จีน สิงคโปร์ เม็กซิโก ญี่ปุ่น และอเมริกา รวมกันเป็น 34%

 
ข้อมูลอ้างอิง
  • www.hitachigst.com เว็บไซต์รายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทฮิตาชิ จีเอสที
  • ดร. เจ. เจอรี่ เพอร์ดี้, principle analyst, ฮิตาชิ ไมโครไดร์ฟ 4 GB ตรงตามความต้องการใช้งานข้อมูลสำหรับผู้ใช้งานแบบ Mobile user.