เนื้อหาวันที่ : 2008-08-06 10:02:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2427 views

สนช. หนุน มทร. ธัญบุรี ถ่ายทอดเทคโนโลยี สารสกัดจากสะเดา สู่ธุรกิจนวัตกรรม

สนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และบริษัท วสันต์โปรดักส์ จำกัด จัดพิธีลงนามความร่วมมือการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัย "การผลิตสารสะเดาเชิงธุรกิจ" ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

.

สนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และบริษัท วสันต์โปรดักส์ จำกัด จัดพิธีลงนามความร่วมมือการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัย "การผลิตสารสะเดาเชิงธุรกิจ" ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

.

ดร. ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า "ที่ผ่านมา สนช. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีในการร่วมเป็นเครือข่ายด้านวิชาการให้กับผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการแผ่นป้ายอะคริลิคประหยัดพลังงาน และโครงการเครื่องผลิตไฟฟ้าและน้ำมันจากขยะพลาสติกและขยะอุตสาหกรรม

.

 สำหรับโครงการนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานของ สนช. ในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสามหน่วยงาน (triple helix) ได้แก่ หน่วยงานวิจัย ภาคเอกชน และสนช. ที่จะส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดนวัตกรรมสู่ผู้ประกอบการ โดยในเบื้องต้น สนช. ได้ให้คำปรึกษากับคณะทำงานของมหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิดในเรื่องการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งเป็นผู้วางรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยี ร่างสัญญา ตลอดจนการประเมินมูลค่าเทคโนโลยีการผลิตสารสะเดาโดยอาศัยหลักการประเมินมูลค่าจากต้นทุน (cost approach)

.

ซึ่งเป็นการคิดมูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาโดยพิจารณาจากราคาประมาณปัจจุบันของต้นทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ต้องการประเมินนั้นขึ้นมาใหม่ หรืออีกนัยหนึ่งคือการตอบถามที่ว่า หากท่านต้องการผลิตสารสกัดสะเดา และต้องสร้างเทคโนโลยีในการผลิตนี้ขึ้นใหม่ ณ วันที่ประเมิน จะต้องลงทุนทำการวิจัยและพัฒนาเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่?" และตัวบ่งชี้มูลค่า (value indication) ที่ได้นี้ จะต้องสะท้อนมูลค่าของเทคโนโลยีนี้ในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายโดยประมาณที่ผู้รับเทคโนโลยีจะต้องเสียในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ขึ้นเอง ณ วันที่ประเมิน"

 .

 .

"ผลการประเมินปรากฏว่าเทคโนโลยีการผลิตสารสะเดามีมูลค่าเทคโนโลยีรวมประมาณ 2,817,182.50 บาท โดยเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบการอนุญาตให้ใช้สิทธิแบบไม่เด็ดขาด (non-exclusive) กล่าวคือ มหาวิทยาลัยสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้ได้หลายบริษัท ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับบริษัทเอกชนจำนวนอย่างน้อย 5 ราย ดังนั้น จึงคิดค่าถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้รับถ่ายทอดแต่ละรายเป็นจำนวน 560,000 บาท

 .

ขณะนี้โครงการผลิตสารสกัดจากสะเดากำลังอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมความพร้อมในการขอรับการสนับสนุนจาก สนช. ในยุทธศาสตร์ด้านธุรกิจชีวภาพ ภายใต้โครงการ "นวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย" ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีต่อแนวทางการดำเนินงานในการพัฒนาระบบการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาให้เห็นภาพเชิงรูปธรรมต่อโครงการอีกจำนวนมากจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีต่อไปในอนาคต" ดร. ศุภชัยฯ กล่าว

 .

รองศาสตราจารย์ ดร. นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า ปัญหาพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชทางการเกษตรเป็นปัญหาที่พึงตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ นอกจากนี้ ในแต่ละปีประเทศไทยมีการนำเข้าปัจจัยการผลิต เช่น สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชคิดเป็นมูลค่านับพันล้านบาท ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ที่มีฐานะยากจนอยู่แล้ว เสี่ยงต่อการขาดทุนและความไม่มั่นคงในอาชีพของตน

.

ด้วยเหตุนี้แนวคิดในการใช้ระบบเกษตรกรรมที่ใช้ปัจจัยการผลิตที่ลงทุนต่ำ (Low Input Agriculture) ตลอดจนระบบเกษตรอินทรีย์ (Organic Agriculture) โดยการประยุกต์ใช้สารสกัดจากพืชท้องถิ่นมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีพื้นบ้านแบบง่ายๆ และไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสมดุลทางธรรมชาติและระบบนิเวศวิทยาการเกษตร จึงเป็นแนวทางการที่ส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรบนความยั่งยืน และเป็นทางเลือกที่เหมาะสมของระบบเกษตรกรรมไทย"

 .

 .

"มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการวิจัยสหวิทยาการ "การผลิตสารสกัดจากสะเดาเชิงธุรกิจ" ทั้งระดับชุมชนและระดับอุตสาหกรรมขนาดย่อม" และได้สร้าง โรงงานต้นแบบผลิตสารสกัดจากสะเดา ขนาดกำลังผลิตขนาด 27,000 ลิตรต่อปี โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และติดตั้งดำเนินการทดสอบการผลิต ณ อาคารปฏิบัติการผลิตสารสกัดจากพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร ต.คลองหก อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ภายหลังเมื่อสิ้นสุดการทดสอบตามวัตถุประสงค์ของโครงการแล้ว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนา พิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากโครงการวิจัยดังกล่าว

.

ทั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์จาก สนช. ในการประเมินมูลค่าเทคโนโลยีการดำเนินการผลิตสารสกัดสะเดาเชิงธุรกิจ โดยมีบริษัท วสันต์ โปรดักส์ จำกัด แสดงความประสงค์จะทำสัญญารับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้แก่ กระบวนการผลิตสารสกัดสะเดาในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชในระดับนำร่อง การจัดการโรงงานต้นแบบการผลิตสารสกัดสะเดา และการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์สารสกัดสะเดา ในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งการลงนามความร่วมมือในวันนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่จะก่อให้เกิดงานลักษณะนี้อีกต่อไป" รศ.ดร. นำยุทธฯ กล่าว