เนื้อหาวันที่ : 2008-08-05 16:52:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1228 views

สศอ. แนะกลุ่มอุตฯ อาหารปรับตัวรับทิศทางผู้บริโภคเน้นสุขภาพ

สศอ. ชี้อาหารเพื่อสุขภาพอนาคตสดใส ผู้บริโภคทั่วโลกขานรับ แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัว มั่นใจสินค้าไทยไปได้สวย คุณภาพมาตรฐานการันตี เป็นที่ยอมรับในด้านคุณภาพและมาตรฐานสูงกว่าประเทศคู่แข่งแซง จีนและเวียดนนาม

สศอ. ชี้อาหารเพื่อสุขภาพอนาคตสดใส ผู้บริโภคทั่วโลกขานรับ แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัว มั่นใจสินค้าไทยไปได้สวย คุณภาพมาตรฐานการันตี

.

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอาหารมีทิศทางการขยายตัวได้ดี โดยศูนย์สารสนเทศเชิงกลยุทธ์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center ร่วมกับ สศอ.คาดการณ์ว่าปี 2551 จะมีมูลค่าส่งออกสูงถึง 710,000 ล้านบาท ขยายตัวจากปีที่ผ่านมา 8.6% โดย 5 เดือนแรก มีมูลค่าการส่งออกรวม 252,958 ล้านบาท  ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน 15.8%

.

เนื่องจากราคาอาหารในตลาดโลกขยับตัวสูงขึ้น จากปัจจัยปริมาณสินค้าบางชนิดลดลง เช่น ข้าว ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกประสบปัญหาภัยธรรมชาติ รวมทั้งภาวะโลกร้อน ประกอบกับผลผลิตบางส่วนถูกนำไปผลิตเป็นพลังงานทดแทน อย่างไรก็ตามสินค้าอาหารของไทยยังเป็นที่ยอมรับในด้านคุณภาพและมาตรฐานสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น จีน เวียดนาม โดยสินค้าประเภท ข้าว ทูน่ากระป๋อง ไก่ต้มสุก ไก่แปรรูป ยังคงมีทิศทางการขยายตัวที่ดี

.

"สำหรับทิศทางการบริโภคอาหารในอนาคตพบว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มประเทศที่มีผู้สูงอายุค่อนข้างมาก และมีกำลังซื้อสูง เช่น ญี่ปุ่น และ อียู ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นจะต้องปรับทิศทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละระดับ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ตลาดแถบตะวันออกกลาง และรัสเซีย ที่เป็นแหล่งส่งออกน้ำมันก็มีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยสูงขึ้น เนื่องจากระดับรายได้ของประชากรสูงขึ้น จึงนับเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจยิ่ง"

.

ดร.อรรชกา กล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร จะต้องมีการสร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) ให้กับผลิตภัณฑ์ โดยการให้ข้อมูลด้านโภชนาการ และการแสดงหลักฐานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันถึงคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์อาหารที่ผู้บริโภคจะได้รับ เช่น ผลิตภัณฑ์ข้าวที่สามารถลดความดันโลหิต (Gaba Rice) น้ำผักผลไม้ต่างๆ ที่มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ หรือป้องกัน/ต้านมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารไทยให้สูงขึ้นด้วย

.

โดยสรุปปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางการบริโภคอาหารในอนาคตหลักๆ คือ ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงการพัฒนาการผลิตอาหารที่ต้องดีต่อสุขภาพ (Health Benefit) ให้ความสะดวก (Convenience) มีคุณภาพสูง (Super Premium Qualities) และ สอดคล้องกับความเชื่อ (Ethics : Organic/Natural) ทั้งนี้ สศอ.จะประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในทุกๆมิติ และสามารถฟันฝ่าทุกวิกฤติไปได้อย่างปลอดภัย แม้สถานการณ์ด้านราคาน้ำมัน รวมทั้งปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยลบที่มีผลกระทบไปทั่วโลก