เนื้อหาวันที่ : 2008-07-24 17:33:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1100 views

หอการค้าชี้ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย-น้ำมันแพง ฉุดศก.โตลดลงเหลือ 4.5-5.5%

ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจความเห็นผู้ประกอบการชี้ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย และปัญหาน้ำมันแพง เป็นปัจจุบันสำคัญที่ฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ความรุนแรงคลี่คลายลงหลังรัฐบาลออกมาตรการลดค่าครองชีพประชาชนโดยเชื่อว่าปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัว 4.5-5.5%

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจความเห็นผู้ประกอบการชี้ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย และปัญหาน้ำมันแพง เป็นปัจจุบันสำคัญที่ฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ความรุนแรงคลี่คลายลงหลังรัฐบาลออกมาตรการลดค่าครองชีพประชาชนโดยเชื่อว่าปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัว 4.5-5.5%

.

นางยาใจ ชูวิชา ประธานคณะจัดทำการสำรวจความคิดเห็นประเด็นธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ 90.1% เห็นว่ามีผลกระทบทางลบต่อธุรกิจ โดย 26.6% มีหนี้ที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น อีก 12.1% ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง และ 13.6% การขยายการลงทุนลดลง

.

ส่วนราคาน้ำมันนั้น 75.4% ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เพราะทำให้ราคาสินค้า และค่าขนส่งเพิ่มขึ้น แต่มีแผนรองรับแล้ว โดยเปลี่ยนไปใช้ก๊าซแอลพีจี 44.1% แก๊สโซฮอล์ 27.6% ก๊าซเอ็นจีวี 27.4% และไบโอดีเซล 0.9% สำหรับราคาดีเซลที่แบกรับภาระได้อยู่ที่ลิตรละ 35 บาท และเบนซินอยู่ที่ลิตรละ 36 บาท

.

ขณะที่ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง ส่วนใหญ่ตอบไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านยอดการส่งออก ต้นทุนการส่งสินค้า ยอดรับคำสั่งซื้อ และความสามารถในการแข่งขัน สำหรับสถานการณ์การเมืองนั้น ส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนแปลงแผนงานเดิม ทั้งการลงทุน การขยายตลาด และการขอสินเชื่อเพิ่ม แต่ส่วนหนึ่งยังรอดูสถานการณ์ และชะลอลงทุน ขยายตลาด และขอสินเชื่อเพิ่ม

.
"สถานภาพปัจจุบันของภาคธุรกิจส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านยอดขาย ค่าใช้จ่ายดำเนินการ หนี้สิน การปลดคนงาน ความสามารถใช้หนี้ ผลกำไร การขยายลงทุน สภาพคล่อง และการจ้างงาน มีเพียงต้นทุนเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องการให้รัฐช่วยเหลือในการตรึงราคาพลังงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ ตรึงดอกเบี้ย ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้มากขึ้น และลดภาษี" นางยาใจ กล่าว
..

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ 61.2% ต้องการให้ปรับใหญ่คณะรัฐมนตรี(ครม.) และไม่อยากให้ยุบสภา สำหรับมาตรการลดปัญหาค่าครองชีพของประชาชนนั้น ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการลดค่าใช้จ่ายค่าน้ำประปาเป็นอันดับ 1 หรือ 8.23 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน อันดับ 2 ชะลอขึ้นราคาก๊าซหุงต้มในครัวเรือน 8.22 คะแนน ลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า 8.21 คะแนน ขึ้นรถไฟชั้น 3 ฟรี 8.07 คะแนน ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 7.99 คะแนน และขึ้นรถเมล์ฟรี 7.95 คะแนน

..

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่า เศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวได้ในระดับ 4.5-5.5% ถึงแม้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ซึ่งส่งผลให้มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ขาดสภาพคล่องมากขึ้น แต่ยังไม่รุนแรง และรับได้ ส่วนการเมืองแม้จะยังไม่มั่นคง แต่ก็ไม่เลวร้ายลง ส่วนใหญ่ยังคงดำเนินการตามแผนการเดิม ทั้งขยายการลงทุน และขยายตลาด

.

ส่วนมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชน แม้จะทำให้สูญรายได้ประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มขึ้นอีก 0.3-0.5% และยังทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว หรือคาดขยายตัวในระดับ 7.2-7.8% รวมถึงยังมีข่าวดีอื่นๆ ที่รัฐบาลจะดำเนินการ ทั้งมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว เปิดพื้นที่ของกรมธนารักษ์ขายสินค้า เร่งโครงการเมกะโปรเจกต์ภายในปีนี้ เป็นต้น

.

"ในเดือนกรกฎาคมมีข่าวดีหลายอย่างที่ทำให้ผู้ประกอบการรู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งศูนย์ฯ ยังมองว่าขยายตัวได้แน่ที่ 5-5.5% และน่าจะถึง 6% ภายใต้การเมืองนิ่ง ราคาน้ำมันเฉลี่ย 120-125 เหรียญต่อบาร์เรล รัฐบาลลดราคาน้ำมัน มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ เสริม 6 มาตรการ ซึ่งความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะกลับมาฟื้นตัวได้" นายธนวรรธน์ กล่าว

.

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เห็นด้วยที่กระทรวงการคลังจะทำให้ช่องว่างของดอกเบี้ยฝาก และกู้อยู่ที่ 2% โดยดึงเงินฝาก และกดดอกเบี้ยกู้ผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ แต่ขอให้ทำเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี และผู้มีรายได้น้อย หากทำเป็นวงกว้างจะกระทบโครงสร้างดอกเบี้ย โดยทำให้ธนาคารพาณิชย์เอกชนแข่งดึงเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้ตาม

.

ทั้งนี้ มหาสิทยาลัยหอการค้าไทยได้ทำการสำรวจผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับจากอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน และสถานการณ์ทางการเมือง จากผู้ประกอบการ 820 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 17-22 ก.ค.ที่ผ่านมา