เนื้อหาวันที่ : 2008-07-03 18:07:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2293 views

แท็กซี่โวยกรมขนส่งทางบกไม่เตรียมพร้อมปรับมิเตอร์ตามอัตราใหม่

ประธานสหกรณ์แท็กซี่สยาม แจงวันนี้เป็นวันแรกที่อัตราค่าโดยสารใหม่ของรถแท็กซี่มิเตอร์ที่จดทะเบียนในเขต กทม.มีผลบังคับใช้ แต่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับมิเตอร์ได้ เพราะกรมการขนส่งทางบกยังไม่ได้ติดต่อเพื่อรับรองให้ปรับมิเตอร์ได้ ขณะเดียวกันเครื่องต้นแบบการปรับมิเตอร์ยังไม่มีความพร้อม

นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานสหกรณ์แท็กซี่สยาม เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันแรกที่อัตราค่าโดยสารใหม่ของรถแท็กซี่มิเตอร์ที่จดทะเบียนในเขต กทม.มีผลบังคับใช้ แต่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับมิเตอร์ได้ เพราะกรมการขนส่งทางบกยังไม่ได้ติดต่อเพื่อรับรองให้ปรับมิเตอร์ได้ ขณะเดียวกันเครื่องต้นแบบการปรับมิเตอร์ยังไม่มีความพร้อม

.

อนึ่ง วันนี้ผู้ประกอบการนำรถแท็กซี่กว่า 200 คัน ได้ไปที่สถาบันเทคโนโลยีมหานคร เพื่อเข้ารับการปรับมิเตอร์ให้สอดคล้องกับอัตราโดยสารใหม่

.

"ผู้ประกอบการที่นำรถไปปรับมิเตอร์ต่างไม่พอใจ และมีการประท้วงเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ที่ผ่านมาภาครัฐทราบดีว่าจะมีการปรับอัตราค่าโดยสารใหม่  และกว่าประกาศราชกิจจานุเบกษาจะมีผลบังคับใช้ก็ใช้เวลาเกือบ 1 เดือน ซึ่งน่าจะเพียงพอที่จะเตรียมความพร้อมได้ ไม่รู้ว่าทำไมจึงไม่มีความพร้อมเลย และในวันนี้(4 ก.ค.) ก็ยังไม่มีรถแท็กซี่คันใดเก็บค่าโดยสารตามอัตราใหม่ได้" นายวิฑูรย์ กล่าว

.

อย่างไรก็ตาม สหกรณ์ฯจะประสานไปยังทางการเพื่อขอให้เร่งรัดขั้นตอนการปรับมิเตอร์ รวมทั้งสอบถามรายละเอียดแผนรองรับการให้บริการ เพื่อให้รู้ว่าสถานที่แต่ละแห่งสามารถรองรับรถแท็กซี่ได้วันละกี่คัน และคิดค่าบริการอย่างไร เพื่อนำไปชี้แจงผู้ประกอบการต่อไป เพราะทุกรายต้องการปรับมิเตอร์เพื่อเก็บค่าโดยสารในอัตราใหม่ หากภาครัฐเห็นใจก็คงเร่งรัดให้เริ่มปรับมิเตอร์ได้ภายใน 1-2 วันนี้

.

ด้านนายชัยรัตน์ สงวนชื่อ รักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ในทางกฎหมายถือว่าการปรับราคามิเตอร์ใหม่มีผลสมบูรณ์แล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถปรับมิเตอร์ใหม่ให้กับผู้ประกิบการได้ เพราะกรมฯต้องนำมิเตอร์ตัวแม่ที่บริษัทต่างๆ มีอยู่ทั้ง 11 ยี่ห้อจาก 9 บริษัทไปปรับอัตราค่าโดยสารใหม่ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ดำเนินการทดสอบปรับจูนทางด้านเทคนิคตามอัตราค่าโดยสารใหม่ให้เรียบร้อย คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน

.

"หลังจากมิเตอร์ตัวแม่ผ่านการปรับจูนแล้ว กรมจะเก็บไว้ 1 ชุด และส่งมิเตอร์ตัวแม่อีก 1 ชุดไปยังบริษัทที่รับปรับมิเตอร์ เพื่อใช้เป็นตัวต้นแบบในการจูนมิเตอร์ให้รถแท็กซี่ที่ติดมิเตอร์แต่ละยี่ห้อต่อไป ซึ่งการดำเนินงานต้องรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ก่อน ไม่สามารถดำเนินการล่วงหน้าไว้ได้" นายชัยรัตน์ กล่าว

.

ส่วนอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร 1 กิโลเมตร แรก  35 บาท  กิโลเมตรที่ 2 ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 12  กิโลเมตรละ 5 บาท  กิโลเมตรที่ 12 ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 20 กิโลเมตรละ 5.50 บาท  กิโลเมตรที่ 20 ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 40 กิโลเมตรละ 6 บาท กิโลเมตรที่ 40 ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 60 กิโลเมตรละ 6.50 บาท กิโลเมตรที่ 60 ขึ้นไปถึงกิโลเมตรที่ 80  กิโลเมตรละ 7.50 บาท  และกิโลเมตรที่ 80  ขึ้นไปกิโลเมตรละ 8.50  บาท

.

กรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตร/ชั่วโมง อัตรานาทีละ 1.50  บาท, กรณีการจ้างผ่านศูนย์ บริการสื่อสารของผู้รับจ้างให้เรียกเก็บค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีก 20 บาท, กรณีการจ้างจากท่าอากาศยานดอนเมืองหรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  โดยรถยนต์รับจ้างจอดรถคนโดยสารอยู่ในท่าอากาศยาน ณ จุดที่จัดไว้เฉพาะ ให้เรียกเก็บค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีก 50  บาท