เนื้อหาวันที่ : 2008-07-03 16:15:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1085 views

หมอเลี้ยบสั่งแบงก์รัฐตรึงอัตราดอกเบี้ยช่วงนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชน

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง จี้คลังพยายามให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเข้ามาเป็นกลไกดูช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน แต่สถาบันฯดังกล่าวก็คงต้องคำนึงถึงกำลังความสามารถของตัวเองที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้วย

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เผย กระทรวงการคลังจะพยายามให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเข้ามาเป็นกลไกดูช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน แต่สถาบันฯดังกล่าวก็คงต้องคำนึงถึงกำลังความสามารถของตัวเองที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้วย

.

"ต้องการให้สถาบันการเงินของรัฐเป็นอีกทางเลือกในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชน แต่การประคับประคองเศรษฐกิจก็คงต้องขอความร่วมมือจากภาคเอกชนด้วย เพราะในมุมของภาครัฐอาจไม่ได้เห็นภาพรวมได้ทั้งหมด แต่ในสิ่งที่จะเข้าไปแก้ไขที่เอกชนอาจจะต้องเสนอเข้ามา" นพ.สุรพงษ์ ระบุ

.
สำหรับสถานการณ์ดอกเบี้ยในประเทศนั้น เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะต้องดูแลให้เกิดความเหมาะสมเพื่อให้มีส่วนในการช่วยประคับประคองสังคมให้ก้าวเดินไปด้วยกัน และรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน  
.

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะต้องมองจากทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่งดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากจะส่งผลดีให้ผู้ฝากเงินมีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น ผู้เกษียณอายุราชการที่ฝากเงินเพื่อกินดอกเบี้ยจะได้รับประโยชน์ในจุดนี้ แต่ด้านเงินกู้นั้นหากปรับขึ้นก็จะเป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs) จะได้รับผลกระทบเร็วที่สุด เนื่องจากธนาคารพาณิชย์จะคิดดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่

..
ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงอยู่ในปัจจุบันได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ กนง.จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และคงจะไม่เหมาะสมถ้าจะให้รมว.คลังแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ในที่สาธารณะ แต่เชื่อว่าในแวดวงการเงินการคลังอาจจะมีการหารือเป็นการภายใน
..

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกพันธบัตรเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งให้แก่ประชาชนอยู่แล้ว แต่หากจะระดมเงินจากประชาชนเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกับกองทุนวายุภักษ์นั้นเห็นว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น เพราะต้องคำนึงถึงภาวะด้านการคลังด้วย เนื่องจากโครงการเมกะโปรเจ็คต์มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท

..

อย่างไรก็ตาม การระดมเงินเพื่อใช้กับโครงการเมกะโปรเจ็คต์จะมีคณะกรรมการระดมทุนพิจารณาในเรื่องนี้อยู่ และขณะนี้รัฐบาลมีทางเลือกในการระดมทุนจากหลายแหล่ง พร้อมยืนยันว่าจะเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจ็คต์ต่อไปตามแผน และจะต้องมีกระบวนการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความรัดกุมโปร่งใส