เนื้อหาวันที่ : 2008-07-02 11:28:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1250 views

ดร.โกร่งมองเงินเฟ้อเกิน 10%ช่วง Q3-Q4 ต่อเนื่องปี 52 เข้ายุคลูกโป่งแฟบ

วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้มีโอกาสที่จะสูงเกิน 10% ขณะที่ตลอดทั้งปี 52 เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงอยู่เกินระดับ 10% ขึ้นไปเช่นกัน โดยมีสาเหตุมาจากราคาสินค้าต่างๆ ได้ทยอยปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เป็นขาขึ้นมาตลอดในปี 51

วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้มีโอกาสที่จะสูงเกิน 10% ขณะที่ตลอดทั้งปี 52 เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงอยู่เกินระดับ 10% ขึ้นไปเช่นกัน โดยมีสาเหตุมาจากราคาสินค้าต่างๆ ได้ทยอยปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เป็นขาขึ้นมาตลอดในปี 51

.

"มี เพราะต่อไปนี้ตัวเลขเงินเฟ้อจะค่อยๆ ไต่ระดับขึ้น และคงจะอยู่ที่ระดับ 2 หลักในปีหน้า ส่วนปีนี้อาจจะแตะ 10 หรือ 10% กว่า แต่ปีหน้าจะขึ้นต่อ เพราะคาดว่าราคาน้ำมันแม้จะไม่ขึ้นต่อ หากอยู่ที่ 120-150 เหรียญ/บาร์เรล แต่ต้นทุนการผลิตต่างๆ จะทยอยขึ้นราคาเมื่อสต๊อกสินค้าเก่าหมด" นายวีรพงษ์ กล่าวในรายการวิทยุเช้านี้

.

นายวีรพงษ์ มองว่าผลที่จะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจไทยภายใต้ภาวะเงินเฟ้อสูงในระดับ 10% นั้น สิ่งแรกที่จะเห็นคืออัตราดอกเบี้ยในตลาดจะปรับตัวสูงขึ้น เพราะความต้องการสินเชื่อจะมีเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียน ขณะที่เงินออมในระบบจะเริ่มน้อยลงเพราะต้องมีการนำเงินไปใช้ซื้อสินค้าหรือลงทุนในมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น

.

นอกจากนี้ ภาคการส่งออกจะชะลอตัวลง อันเนื่องจากสินค้าของไทยมีราคาแพงขึ้นตามการปรับเพิ่มของต้นทุน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะในหมวดพลังงานจะสูงขึ้น ตัวเลขดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเป็นขาดดุล ด้านการลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนจะชะลอตัวลง เพราะความต้องการสินค้าและบริการจะเริ่มลดลง

.

ส่งผลไปถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ(GDP) ที่จะปรับลดลงด้วยเช่นกัน และทำให้เงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงไปเรื่อย โดยเชื่อว่าสิ้นปีนี้อาจจะอ่อนค่าไปอยู่ที่ 35 บาท/ดอลลาร์ โดยระยะ 1-2 ปีข้างหน้า ราคาสินค้าเกษตรจะตกต่ำ เพราะเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก การบริโภคแม้จะเป็นอาหารก็คงลดน้อยลง

.

"อาการอย่างนี้คงเกิดขึ้นแน่ๆ ตอนนี้ก็เริ่มแล้ว เงินเฟ้อเริ่มขึ้น ดอกเบี้ยเริ่มขยับไปอีก 1-2 ปี เงินฝากน้อยลง ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น จะเกิดภาวะเงินตึง และถ้าดำเนินนโยบายการเงินไม่ถูกต้องก็จบเห่ บริษัทห้างร้านจะขาดเงินสดหมุนเวียน ก็จะต้องขาดทุน ล้มละลายกันถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอย ยกเว้นประเทศที่ส่งออกน้ำมัน ครึ่งหนึ่งของโลกจะแย่ อีกครึ่งหนึ่งจะรวย" นายวีรพงษ์ กล่าว

.

นายวีรพงษ์ เห็นว่าการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต้องพยายามทำหน้าที่เพื่อให้ทุกอย่างมีเสถียรภาพไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ย สภาพคล่องในระบบการเงิน ขณะที่กระทรวงการคลังต้องใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจต้องมีงบประมาณขาดดุล ด้วยวิธีเพิ่มการลงทุน หรือลดภาษีเงินได้ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา

.

"เงินเฟ้อสูงเป็นภาวะที่เกิดจากจาคาน้ำมัน เป็น cost push ไม่ใช่ demand pull ผลก็จะทำให้เงินตึงตัว ดอกเบี้ยแพง หน้าที่สำคัญตอนนี้คือ แบงก์ชาติต้องทำตัว stabilizer คือ ดอกเบี้ยจะขึ้นก็ต้องดึงไว้อย่าให้ขึ้นเร็ว เงินจะตึงก็ต้องปั๊มเงินออกมาอย่าให้มันตึง ต้องทำให้มีเงินเพียงพอ แต่เท่าที่ดูทัศนคติของผู้ว่าการ หรือรองผู้ว่าการฯ แล้ว ไม่ได้เข้าใจเรื่องนี้ เพราะยังเข้าใจว่าดอกเบี้ยจะเป็นตัวปราบเงินเฟ้อ แต่จริงๆ มันเป็นผลของเงินเฟ้อ" นายวีรพงษ์ ระบุ

.

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เชื่อว่าคงไม่กลับไปในยุคของฟองสบู่แตก แต่อาจภาวะเศรษฐกิจที่ซึมลงคล้ายลักษณะของลูกโป่งรั่วและแฟบลงมากกว่า

.

"เที่ยวนี้ยังไม่ถึงขั้นฟองสบู่แตก แค่ลูกโป่งแฟบ มันเป็นอาการซึมลง ไม่ใช่แบบปี 40 ที่ระเบิดตูม แต่ครั้งนี้ค่อยซึมลงเหมือนลูกโป่งรั่ว ที่พูดไม่ได้ให้ตกใจ แต่ต้องตั้งสติ จะไม่ให้เกิดเป็นไปไม่ได้เพราะเศรษฐกิจเราเป็นประเทศเล็ก ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ โลกเขาลงก็ต้องลงตามฝืนไม่ได้ แต่ให้ลงอย่างมีระเบียบและลงอย่างจำเป็นต้องลง ไม่ใช่ลงเพราะไม่รู้ หรือด้อยสติปัญญาของเรา" นายวีรพงษ์ กล่าว

.

ส่วนกระแสข่าวการถูกทาบทามให้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น นายวีรพงษ์ ปฏิเสธเรื่องดังกล่าว โดยยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่ได้รับการทาบทาม ซึ่งหากจะตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งจริงก็จะรับอย่างไม่มีเงื่อนไข และหากจะปฏิเสธไม่รับก็จะไม่รับอย่างไม่มีเงื่อนไขเช่นกัน "โดยมารยาทคงพูดกับสาธารณชนไม่ได้ ถ้ารับก็รับ ไม่มีเงื่อนไข ถ้าไม่รับก็ไม่รับ ไม่มีเงื่อนไขอะไรทั้งสิ้น" นายวีรพงษ์ กล่าว