เนื้อหาวันที่ : 2008-06-30 15:17:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2252 views

ท่าน...เป็นผู้บังคับบัญชาแบบไหน?

หัวหน้างานส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีกระจกส่งดูพฤติกรรมของตนเอง ไม่รู้อะไรผิดถูกตกอยู่ในประเภทบ้าอำนาจ พฤติกรรมเหล่านี้แก้ไขได้เสมอหากต้องการความสง่างาม

สวัสดีครับ ! พบกันอีกครั้ง ในเดือนนี้คิดว่าจะเขียนต่อจากเดือนที่ผ่านมา ในตอนเดิมที่พูดเรื่องลูก ลูก หนูจะเรียนต่ออะไรดีเผอิญไปพบบทความน่าสนใจ ก็เลยนำมาให้ลองพิจารณาดูว่า.....คุณเป็นผู้บังคับบัญชา แบบที่ผมเขียนหรือเปล่า ?

.

.

.

1.เข้าใจว่าตนเองรู้อะไรทุกอย่าง  คือ ถือว่าตนเองฉลาด เก่ง รอบรู้ ไม่ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาจะเอ่ยอะไรขึ้นท่านจะชิงพูดว่าท่านรู้แล้ว

ผล:จะทำให้ท่านไม่รู้อะไรดีขึ้น ผู้ใต้บังคับบัญชาจะไม่ยอมแสดงหรือออกความเห็นใดๆ
.

2. เอาแต่ใจตนเอง  เช่น ในการประชุมหรือหารือในฐานะที่เป็นประธานในที่ประชุม แทนที่จะขอเห็นว่าควรจะแก้ไขอย่างไร ท่านกับแสดงความเห็นของท่านก่อนว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างนี้ อย่างนั้น

ผล : ท่านไม่มีโอกาสทราบความคิดเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชาเลย เพราะถ้าผู้ใต้บังคับบัญชาแสดงความเห็นออกมาก็ไม่มีประโยชน์ รังแต่จะทำให้เกิดความขัดใจ ทำให้ผู้บังคับบัญชาไม่มีโอกาสทราบเรื่องอะไรดี ๆ ที่ออกมาจากความคิดของผู้ใต้บังคับบัญชา

.

3. ไม่ยอมรับผิด เช่น ถ้า ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอเรื่องอะไรขึ้นมา ผู้บังคับบัญชาก็เสนอเรื่องนั้นต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป เพื่อพิจารณาทุกกรณี โดยไม่ออกความเห็น ด้วยเกรงว่าผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือจะไม่เห็นด้วย หรือเห็นตรงกันข้าม

ผล: เป็นทางให้ผู้ใต้บังคับบัญชาขาดความเคารพ เป็นการแสดงว่าไม่เป็นตัวเอง ไม่มีความกล้าที่แสดงความคิดเห็นของตนเอง

.

4. ไม่เป็นที่พึ่งของผู้ใต้บังคับบัญชา เช่น ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น และผู้ใต้บังคับบัญชาได้ชี้แจงมาโดยละเอียด และโดยที่เรื่องต้องส่งผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปพิจารณา แต่ท่านไม่แสดงความเห็นอะไรเลยว่าถูกหรือผิด แต่ท่านกลับเสนอไปให้ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือ "เพื่อทราบ" หรือ "เพื่อพิจารณา"

ผล: ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความอิดหนาระอาใจ หวังเป็นที่พึ่งไม่ได้ ทำให้ขาดความเคารพนับถือ

.
5. ผู้ใต้บังคับบัญชาถูกเสมอ เช่น ไม่ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาจะนำเสนออะไร หรือทำผิดอะไร ก็ยังยืนยันสนับสนุนว่าถูกต้อง

ผล: จะทำให้ผู้บังคับบัญชาเป็นที่ดูถูกดูแคลนของคนอื่นว่าไม่ใช้ความคิด และไม่เป็นตัวของตนเอง หรือบางครั้งอาจเป็นชนวนให้เกิดความบาดหมางกับบุคคลภายใน

.
6. ด่าว่าต่อหน้าผู้ร่วมงานคนอื่น เช่น ด่าว่าต่อหน้าผู้ร่วมงานคนอื่นในขณะทำงาน หรือดำเนินการให้ลูกน้องคนอื่นได้ยินด้วย

ผล: ทำให้เกิดบาดหมางน้ำใจ อับอายแก่ผู้ถูกด่าว่า อาจทำให้เกิดการอาฆาตและผู้ถูกด่าอาจหมดกำลังใจทำงาน

.

7. โยนความผิดไปให้ผู้ใต้บังคับบัญชา  เช่น บางเรื่องผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอมา ท่านเห็นชอบด้วย แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปแสดงความไม่เห็นด้วย หรือตำหนิท่านกับโยนความผิดให้ผู้ใต้บังคับบัญชา

ผล: ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาขาดความเคารพนับถือ ไม่อาจยึดถือเป็นที่พึ่งได้ ชนิดที่เรียกว่า "เอาแต่ความดี ความผิดไม่ยอมรับ"

.

8. เลือกที่รักมักที่ชัง เช่น ความผิดเกิดขึ้นแก่ ผู้ใต้บังคับบัญชา ถ้าผู้นั้นเป็นพวกญาติหรือเพื่อนก็มองไม่เห็นความผิด หรือกลบเกลื่อน ผิดมากเป็นผิดน้อยผิดน้อยเป็นไม่ผิด ในกรณีเดียวกัน ถ้าไม่ใช่พวกพ้องก็อาจถูกลงโทษและติเตียน

ผล:  ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่เคารพนับถือเห็นว่าเป็นการขาดความยุติธรรม ทำให้การงานระส่ำระสาย ขาดความสามัคคีในองค์กร
.

9. อาฆาตจองเวร เช่น ผู้ใต้บังคับบัญชาทำผิดสักครั้งหนึ่ง หรือทำอะไรกระทบกระเทือนก็ถือโกรธ ไม่มองหน้าหรือไม่ใช้ให้ทำงานต่อไป คอยจับผิดตลอดเวลา ไม่มีวันลืมไม่ว่าจะเสนอความคิดอะไรขึ้นมา แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดี ก็เห็นว่าไม่ถูกต้องทั้งนั้น

ผล: ทำให้สมรรถภาพการทำงานเสียผู้ใต้บังคับบัญชาหมดกำลังใจที่จะทำงาน และขาดกำลังแรงงานไปอีกหนึ่งคน เพราะไม่ได้รับการใช้งาน ทำให้ต้องหนักแรงคนอื่น

.
10. แบ่งแรงงานไม่เป็น เช่น ผู้ใต้บังคับบัญชาคนใดทำงานคล่อง ก็ใช้แต่ผู้นั้น ไม่ใช้คนอื่น
ผล: ทำให้ความคิดว่า บางคนทำงานหนักบางคนทำงานน้อย และงานอาจเสียเพราะงานไปทับถมอยู่ที่คนใช้คล่อง ส่วนผู้ที่ไม่ถูกใช้ก็ไม่ค่อยทำอะไร
.

11. ไม่ปูนบำเหน็จรางวัล เช่น ผู้ใต้บังคับบัญชาบางคนทำงานเก่ง คล่อง ทั้ง ๆ ที่ผู้บังคับบัญชาใช้งานเสมอ ได้ผล แต่แล้วก็ไม่มีการปูนบำเหน็จรางวัลให้เป็นการตอบแทน

ผล: ทำให้เกิดการท้อถอย ไม่อยากทำความดีหรือขยันทำงานเป็นพิเศษ เพราะทำดีก็เท่านั้นไม่ทำก็เท่านั้น เข้าทำนอง "เช้าชาม เย็นชาม" นั่นเอง
.
12. หูเบา เช่น ถ้ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้น ผู้ใกล้ชิดหรือผู้มารายงานก็ตกลงใจเชื่อ โดยไม่คำนึงเหตุผล หรือสอบสวนเสียก่อน
ผล: ทำให้เสียงาน เพราะเชื่อคนง่ายๆ เข้าใจผิดๆ ทำการตัดสินใจผิด
.

13. เห็นแก่ตัว เช่น ประโยชน์อะไรที่เกิดแก่หมู่คณะหรือสำนักงานก็มักจะรับเอาผลประโยชน์นั้นๆ เสียก่อน หรือเสนอตัวเองให้ได้รับผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงผู้ใต้บังคับบัญชา สิ่งใดที่ตนเองไม่ได้รับ หรือได้ไม่คุ้มแล้ว จึงผ่านให้ผู้ใต้บังคับบัญชา

ผล: เป็นเหตุให้ผู้ใต้บังคับบัญชามองเห็นว่า ผู้บังคับบัญชาไม่ยอมเสียสละ เห็นแก่ได้ เป็นที่ถูกดูหมิ่น ไม่ให้ความเคารพนับถือ
.
14. ขี้เล่น  เช่น มักชอบพูดหยอกล้อ เล่นหัวอย่างชนิดเป็นกันเอง หรือเป็นเพื่อน โดยไม่คำนึงถึงเวลา กาลเทศะ

ผล: ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาขาดความเคารพนับถือ สั่งการอะไรก็ถือเป็นเล่นหมด ไม่ต้องทำจริงจังเพราะถือว่าผู้บังคับบัญชาใจดี เป็นเหมือนเพื่อนถึงจะทำผิดก็ไม่เป็นไร

.

15. มึนตึง เช่น เป็นคนหน้าบึ้ง หรือเอาจริงเอาจังตลอดเวลา ไม่ว่าเวลาจะเป็นเวลาทำงาน หรือเวลาว่างงาน ชอบพูดแต่เรื่องงานเท่านั้น

ผล : ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกรงกลัวไม่กล้าเข้ามาใกล้ชิดทำให้ไม่รู้เหตุการณ์ที่ควรรู้

.

16. ขอรับกระผม เช่น ถือความเห็นหรือความคิดใดๆ ของผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือกว่าเป็นถูกเสมอ ทั้งที่ในบางครั้งตนได้ใคร่ครวญดูแล้ว เห็นว่าความเห็นของตนเองถูกต้อง และบางครั้งได้มีการประชุมพิจารณาแล้ว แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปไม่เห็นด้วยก็คล้อยตาม โดยไม่คัดค้าน หรือให้เหตุผลใดๆ กลับสนับสนุนความเห็นของผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือ

ผล : ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาขาดความเคารพว่า ผู้บังคับบัญชาไม่เป็นตัวของตัวเอง ขี้ขลาดไม่กล้าหาญ ไม่กล้าแสดงความเห็น เป็นการเสื่อมศักดิ์ศรี

.

17. รวบงาน เช่น บางคราวควรจะมอบงานให้คนอื่นทำกลับเอามาทำเสียเอง เพราะต้องการรักษาอำนาจ

ผล : ทำให้เป็นที่ดูถูกของผู้ใต้บังคับบัญชาอาจมองไปในแง่ไม่ดีว่า ผู้บังคับบัญชาทำเองและรักษาอำนาจไว้นั้นเพื่อช่องทางไม่สุจริต หาประโยชน์เข้าตัว

.

18. ไม่ฟังเหตุผล เอาแต่อำนาจ เช่น เรื่องใดที่ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอด้วยเหตุผลถูกต้อง ก็ยังพยายามยืนยันว่าไม่ถูกต้อง หาเรื่องจนได้ ชนิดข้างๆ คูๆ

ผล : ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดูหมิ่นเอือมระอา คิดว่าผู้บังคับบัญชาเป็นอันธพาล บ้าอำนาจทำให้ขาดความเคารพนับถือไปในที่สุด

.

"ทั้ง 18 ข้อที่กล่าวมานั้น เป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ผู้บังคับบัญชาควรจะได้ พิจารณาตนเองว่าตนยังตกอยู่ในประเภทใด และเริ่มแก้ไขปรับปรุงตนเอง ...อันที่จริงการแก้ไขนั้น ไม่เป็นการยาก ถ้าผู้บังคับบัญชายึดหลักศีลธรรม มนุษยธรรม และเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งทั้งนี้ย่อม ไม่พ้นวิสัยที่จะทำได้เพราะความสำเร็จเป็นเรื่องของทัศนคติกว่า 99%"

.
ที่มา : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม