เนื้อหาวันที่ : 2008-06-30 11:42:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2278 views

การกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงิน

ประเทศที่ประสบปัญหาเงินเฟ้อในอัตราที่สูงจะบั่นทอนการออมและการลงทุน รวมทั้งจะบิดเบือนพฤติกรรมการถือสินทรัพย์ของประชาชนไปสู่การถือสินทรัพย์ต่างประเทศ โลหะที่มีค่า เช่น ทองคำและอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงยังเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและอาจก่อให้เกิดวิกฤตด้านการเมืองและสังคมได้

โดยทั่วไปแล้ว ประเทศที่ประสบปัญหาเงินเฟ้อในอัตราที่สูงจะบั่นทอนการออมและการลงทุน รวมทั้งจะบิดเบือนพฤติกรรมการถือสินทรัพย์ของประชาชนไปสู่การถือสินทรัพย์ต่างประเทศ โลหะที่มีค่า เช่น ทองคำและอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงยังเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและอาจก่อให้เกิดวิกฤตด้านการเมืองและสังคมได้ เพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดจากภาวะเงินเฟ้อข้างต้น รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะถือว่าเงินเฟ้อเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ จึงมักจะดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างระมัดระวังและเข้มงวด การดำเนินนโยบายการเงินก็มักจะอิงกับเป้าหมายด้านการเงิน

.

 

(เช่น ปริมาณเงิน สินเชื่อ) และอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ แต่อย่างไรก็ตามในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประเทศพัฒนาแล้วที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กและขนาดกลางจำนวน 7 ประเทศ ได้ดำเนินนโยบายการเงินแตกต่างจากประเพณีปฏิบัติข้างต้น โดยเน้นไปที่การกำหนด เป้าหมายของอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) โดยตรงแล้วใช้เครื่องมือของนโยบายการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว

.

สาเหตุที่ประเทศพัฒนาแล้วข้างต้นเลือกการกำหนดเป้าหมายของอัตราเงินเฟ้อแทนการควบคุมเงินเฟ้อผ่านตัวแปร ด้านการเงินอื่นเนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้

ประการแรก ทางการของประเทศเหล่านั้นยึดมั่นว่าการที่เศรษฐกิจมีเสถียรภาพด้านราคาถือได้ว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินที่จะมีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

.

ประการที่สอง จากประสบการณ์ในอดีตพบว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในระยะสั้นเพื่อบรรลุเป้าหมายอื่น ๆ เช่นการจ้างงานที่สูงขึ้น หรือการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอาจจะขัดแย้งกับเป้าหมาย การรักษาเสถียรภาพด้านราคา นักเศรษฐศาสตร์บางท่านมีความเชื่อว่าความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมาย ทางเศรษฐกิจหลายประการจะทำให้นโยบายการเงินมีลักษณะต่อต้านและมีอคติต่อเงินเฟ้อมากเกินไป ธนาคารกลางมักจะได้รับการตำหนิจากสาธารณชนในการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมากกว่าลดอัตราดอกเบี้ย

.

และธนาคารกลางจะได้รับแรงกดดันเสมอ ให้มีการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจสวนทางกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคา  การกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ (แทนการจ้างงาน ผลผลิตหรือเป้าหมายอื่น ๆ) เป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยหลักการแล้วถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้และเป็นการบังคับให้ธนาคารกลางต้องมีวิสัยทัศน์ในการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดขึ้นก่อนที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะมีความรุนแรงมากขึ้น

.

ในทางทฤษฎีแล้วการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงินนั้นไม่ยุ่งยากซับซ้อนเริ่มจากธนาคารกลางพยากรณ์ตัวเลขของแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในอนาคตและนำมาเปรียบเทียบกับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ (อัตราเงินเฟ้อที่รัฐบาลเชื่อมั่นว่าเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจประเทศ) ผลต่างของตัวเลขสองชุดนี้เป็นตัวกำหนดว่านโยบายการเงิน จะต้องมีการปรับเปลี่ยนมากเพียงใดรายงานฉบับนี้จะแบ่งเป็น 3 ส่วน

.

ส่วนแรกจะอธิบายถึงเงื่อนไขที่จำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินที่เน้นการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายหลัก ส่วนที่สองจะกล่าวถึงประสบการณ์ในการดำเนินนโยบายดังกล่าว ของประเทศพัฒนาแล้วทั้ง 7 ประเทศ ส่วนที่สามจะวิเคราะห์ว่าการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงินนั้นจะเหมาะสมกับประเทศกำลังพัฒนาหรือไม่อย่างไร

.
1. เงื่อนไขที่จำเป็น
เงื่อนไขที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายอัตราเงินเฟ้อเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงินนั้นมีอยู่ 2 ประการได้แก่
ประการแรก

ธนาคารกลางจำเป็นที่จะต้องมีอิสระระดับหนึ่งในการดำเนินนโยบายการเงิน ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีธนาคารกลางใดที่จะมีความอิสระอย่างสมบูรณ์จากการแทรกแซงของรัฐบาล แต่ถึงอย่างไรก็ตามธนาคารกลางจะต้องมีอิสระในการเลือกเครื่องมือทางการเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่รัฐบาลเห็นว่าเหมาะสม เงื่อนไขประการนี้จะมีได้ นโยบายการคลังจะต้องไม่ชี้นำและเป็นตัวกำหนดทิศทางของการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งเงื่อนไขนี้อาจจะเกิดได้ถ้าการกู้เงินของรัฐบาลจากธนาคารกลางนั้นมีน้อยหรือไม่มีเลยและตลาดการเงินภายในประเทศนั้นมีศักยภาพเพียงพอในการดูดซับการกู้ยืมเงินของภาครัฐ เช่น การขายตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล

.

นอกจากนี้รัฐบาลสามารถระดมรายได้จากฐานรายได้ที่กว้างและไม่ต้องพึ่งพารายได้จากการพิมพ์ธนบัตรในสัดส่วนที่สูง หากนโยบายการคลังกำหนดทิศทางของนโยบายการเงินแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เกิดจากการดำเนินนโยบายการคลัง จะทำให้นโยบายการเงินมีประสิทธิภาพด้อยลงด้วยการผูกพันธนาคารกลางกับการตอบสนองความต้องการของรัฐบาล เช่น โดยการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการคลัง

.
เงื่อนไข   
ประการที่สอง

ได้แก่ความตั้งใจและความสามารถของธนาคารกลางในการไม่กำหนดเป้าหมายอื่น เช่น ค่าจ้างแรงงาน ระดับการจ้างงานหรืออัตราแลกเปลี่ยนเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงิน ประเทศที่เลือกระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่จะไม่สามารถที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบใหม่นี้ได้ หากประชาชนขาดความมั่นใจว่าทางการจะให้น้ำหนักกับการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อมากกว่า (น้อยกว่า) เป้าหมายด้านอัตราแลกเปลี่ยนผลที่ตามมาก็คือการดำเนินนโยบายการเงินจะขาดความเชื่อถือและจะไม่ประสบผลสำเร็จ

.

หากประเทศใดสามารถทำได้ตามเงื่อนไขสองประการข้างต้น ในทางทฤษฎีประเทศนั้นสามารถดำเนินนโยบายการเงิน โดยเน้นการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อได้ ในทางปฏิบัติทางการจะต้องมีการดำเนินการเบื้องต้นบางประการโดยจะต้องมีการจัดทำเป้าหมายเชิงปริมาณของอัตราเงินเฟ้อตามระยะเวลาในอนาคตและทางการจะต้องชี้แจงอย่างชัดเจนต่อสาธารณชนว่าการบรรลุเป้าหมายของอัตราเงินเฟ้อจะเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุดเหนือกว่าเป้าหมายอื่น ๆ ในการดำเนินนโยบายการเงิน นอกจากนี้ทางการจะต้องจัดทำแบบจำลองหรือกำหนดวิธีในการพยากรณ์อัตราเงินเฟ้อ

.

ซึ่งใช้ตัวแปรชี้วัดจำนวนหนึ่งที่สะท้อนข้อมูลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อในอนาคตในขั้นสุดท้ายทางการจะต้องจัดทำกระบวนการในการดำเนินการที่มีลักษณะก้าวหน้าในส่วนที่เกี่ยวกับการตัดสินใจว่าเครื่องมือของนโยบายการเงินประเภทใดควรจะถูกปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงตามการประเมินอัตราเงินเฟ้อในอนาคตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ เจ้าหน้าที่ของธนาคารจำเป็นที่จะต้องมีความสามารถเชิงวิชาการในการพยากรณ์อัตราเงินเฟ้อและรู้ถึงช่วงห่างของเวลาระหว่างการปรับปรุงเครื่องมือด้านการเงินและผลกระทบของเครื่องมือต่ออัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งต้องมีข้อมูลที่เพียงพอที่จะรู้ว่าเครื่องมือด้านการเงินที่มีอยู่เครื่องมือใดมีประสิทธิภาพโดยเปรียบเทียบมากน้อยกว่ากัน

.

สิ่งที่แยกความแตกต่างของการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อจากวิธีอื่น ๆ ในการควบคุมเงินเฟ้อได้แก่การปรับเปลี่ยนเครื่องมือด้านนโยบายการเงินจะอิงกับการประเมินอัตราเงินเฟ้อในอนาคตอย่างเป็นระบบและไม่ได้อิงกับข้อสมมติฐานกว้าง ๆ และไม่ชัดเจนเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อในอนาคต การดำเนินนโยบายการเงินตามวิธีใหม่นี้หมายความถึงการระบุอย่างชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมายของอัตราเงินเฟ้อและจัดทำกลไกที่แน่นอนด้านมาตรการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

.

การระบุเป้าหมายของอัตราเงินเฟ้อเกี่ยวข้องกับการเลือกดัชนีราคาเพื่อกำหนดเป้าหมาย การกำหนดเป้าหมายในรูประดับราคาหรืออัตราเงินเฟ้อ การกำหนดเป้าหมายเป็นตัวเลข การตัดสินใจว่าจะกำหนดเป้าหมายเป็นจุดหรือช่วงและการกำหนดข้อยกเว้นเกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อภายใต้สถานการณ์บางอย่าง นอกจากนี้การจัดทำกลไกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตั้งไว้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของทางการในการกำหนดให้เป็นวัตถุประสงค์ที่จะต้องทำให้ได้หรือไม่ (commitment) และการกำหนดให้การดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจโดยรวมอีกทั้งต้องมีการวางระบบเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงินด้านความโปร่งใสและความเชื่อถือ

.
2. ประสบการณ์ในประเทศที่นำกรอบการดำเนินนโยบายการเงินแบบใหม่มาใช้

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงินได้ถูกนำมาใช้ (ตามลำดับเวลาก่อนหลัง) ในนิวซีแลนด์ แคนาดา อังกฤษ ฟินแลนด์ สวีเดน ออสเตรเลีย และสเปน ในนิวซีแลนด์ และแคนาดา วิธีการนี้ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อในอัตราที่สูง (ตามมาตรฐานของประเทศอุตสาหกรรม)

.

ซึ่งประเทศทั้งสองประสบผลสำเร็จอย่างดีจนเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศที่เหลืออีก 5 ประเทศดำเนินการตามอย่างในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาก่อนที่จะนำนโยบายการเงินแบบใหม่มาใช้ ประเทศ 7 ประเทศเหล่านี้ไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อเมื่อเทียบกับความสำเร็จในการต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อในเยอรมัน ญี่ปุ่น สวิสเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกานอกจากนี้ในสายตาของต่างชาติมีความเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเหล่านี้ในช่วงดังกล่าวขาดความน่าเชื่อถือ

.

ปัจจุบันนี้ในประเทศทั้ง 7 ข้างต้น อัตราเงินเฟ้อถือว่าเป็นเป้าหมายสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินและถูกให้ความสำคัญเหนือกว่าเป้าหมายอื่น ๆ เช่น อัตราแลกเปลี่ยนหรือระดับของการจ้างงาน การเน้นเรื่องอัตราเงินเฟ้อทำให้บทบาทของการพยากรณ์อัตราเงินเฟ้อสำคัญเป็นอย่างมากในการดำเนินนโยบายการเงินแบบใหม่นี้

.

การประกาศเป้าหมายของอัตราเงินเฟ้อในประเทศเหล่านี้มีลักษณะที่แตกต่างกันโดยในช่วงเริ่มต้นของการนำวิธีใหม่มาใช้ในออสเตรเลีย ฟินแลนด์ และสวีเดน ธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้นประกาศเป้าหมายของอัตราเงินเฟ้อให้สาธารณชนทราบโดยไม่มีการรับรองอย่างชัดเจนจากรัฐบาล ในทางตรงกันข้ามในแคนาดา และนิวซีแลนด์ การประกาศเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตกลงร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้มีการดำเนินนโยบายแบบใหม่มาระยะหนึ่งประเทศที่ไม่มีการรับรองเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อโดยรัฐบาลก็ได้มีการประกาศรับรองจากรัฐบาลในภายหลัง

.

ในแต่ละประเทศคำจำกัดความของเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อมีความแตกต่างกัน ความแตกต่างที่สำคัญเกี่ยวข้องกับระยะเวลาในการบรรลุถึงเป้าหมายและระดับราคาถูกวัดมาได้อย่างไร รวมทั้งเป้าหมายควรถูกกำหนดเป็นจุดหรือเป็นช่วงการกำหนดระยะเวลาในการบรรลุถึงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อจะขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อ ณ เวลาที่นำกรอบการดำเนินนโยบายการเงินแบบใหม่นี้มาใช้ ในขั้นต้นทางการของแคนาดาและนิวซีแลนด์ได้ใช้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ

.

โดยกำหนดให้บรรลุเป้าหมายภายใน 18 เดือน หลังจากนั้นนิวซีแลนด์ได้ปรับระยะเวลาในการบรรลุเป้าหมายเหลือเพียง 12 เดือน ส่วนแคนาดายังคงใช้ 18 เดือน เมื่ออัตราเงินเฟ้อได้ถูกปรับให้ลดลงอยู่ที่ระดับที่เหมาะสมแล้ว ระยะเวลาในการบรรลุเป้าหมายใน 2 ประเทศนี้ได้ถูกปรับมาเป็น 5 ปี ส่วนในอังกฤษเริ่มแรกทางการได้กำหนดระยะเวลาในการบรรลุถึงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นสิ้นสุดวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฏร (กลางปี 1997) ในออสเตรเลียระยะเวลาได้ถูกกำหนดให้เท่ากับระยะเวลาของวัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) สำหรับความแตกต่างของการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นจุดหรือเป็นช่วง

.

ในประเทศทั้ง 7 นั้น พบว่าในออสเตรเลียและฟินแลนด์ ได้กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นจุดหรือตัวเลขตัวเดียว ในขณะที่แคนาดา นิวซีแลนด์ สวีเดน และอังกฤษ ได้กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นช่วงในประเทศสเปนได้กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นเพดานสูงสุด ความจำเป็นในการกำหนดเป้าหมายเป็นช่วงนั้น มีสาเหตุมาจากการที่ทางการไม่สามารถควบคุมนโยบายการเงินที่มีต่ออัตราเงินเฟ้อได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากปัจจัยด้านการเปิดเสรีด้านการเงิน การค้า และการลงทุน

.

ข้อดีประการหนึ่งของการดำเนินนโยบายการเงินโดยอิงกับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก ได้แก่ การสร้างความโปร่งใสและความเชื่อถือให้กับธนาคารกลาง ทั้งนี้เนื่องจากภายใต้การดำเนินนโยบายการเงินแบบนี้ธนาคารกลางจะต้องมีการประกาศให้แก่สาธารณชนทราบถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายพร้อมเหตุผลที่ชัดเจน ความโปร่งใสที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้จะช่วยส่งเสริมให้การดำเนินนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น การสร้างความเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการชี้แจงอย่างสม่ำเสมอต่อสภาผู้แทนราษฎร

.

และมีการพิมพ์เผยแพร่รายงานประจำปีเพื่อเผยแพร่ผลงานการดำเนินการของธนาคารกลางเป็นประจำ ยกตัวอย่างเช่น ในนิวซีแลนด์ ธนาคารกลางจำเป็นที่จะต้องเผยแพร่เอกสารสรุปการดำเนิน นโยบายการเงินทุก ๆ 6 เดือน เพื่ออธิบายเกี่ยวกับความคืบหน้าของการบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ได้ประกาศไว้ใน 6 เดือนที่ผ่านมา และระบุถึงกลยุทธ์ทางการเงินที่ทางธนาคารกลางจะดำเนินการต่อไปใน 6 เดือนข้างหน้า ธนาคารกลางของอังกฤษ สวีเดน แคนาดา และสเปน ก็เช่นเดียวกันได้มีการจัดทำรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ของเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มและแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไปเพื่อเผยแพร่ให้กับสาธารณชนทราบเป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอ

.

จากผลของการดำเนินนโยบายการเงิน โดยตั้งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นหลักในประเทศทั้ง 7 เหล่านี้นั้น พบว่าประเทศทั้ง 7 ประสบผลสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อโดยสามารถทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ภายในช่วงหรือใกล้กับช่วงหรือจุดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อได้เป็นที่น่าพอใจซึ่งแสดงว่าการดำเนินนโยบายการเงินในประเทศเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไป จะลดลงใน 7 ประเทศนี้แต่ส่วนใหญ่จะประสบกับปัญหาการว่างงานในอัตราที่สูง มีเพียงนิวซีแลนด์เท่านั้นที่อัตราการว่างงานได้ลดลงในช่วงทศวรรษ 1990

.
3. ความเหมาะสมกับประเทศกำลังพัฒนา

จากเงื่อนไขที่จำเป็นสองประการในการนำนโยบายการเงินแบบอิงกับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อมาใช้ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่าประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศไม่สามารถนำนโยบายการเงินแบบใหม่นี้มาใช้ได้ โดยเฉพาะในประเทศที่ประสบปัญหาเงินเฟ้อในอัตราที่สูง (มากกว่าร้อยละ 30-40 ต่อปี) เป็นระยะเวลายาวนาน การดำเนินนโยบายการเงินในประเทศเหล่านี้จะส่งผลที่ไม่สามารถคาดหวังได้มากนักต่ออัตราเงินเฟ้อ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้จำเป็นจะต้องมีการลดอัตราเงินเฟ้อ

.

โดยอาศัยโปรแกรมการฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งประกอบด้วย การลดการขาดดุลภาครัฐ และการหยุดกู้ยืมเงินของภาครัฐจากธนาคารกลาง ในประเทศเหล่านี้การดำเนินนโยบายการเงินแบบใหม่อาจจะถือว่าเป็นเพียงทางเลือกได้ แต่ต้องดำเนินการหลังจากได้แก้ไขปัญหาด้านการคลังเสร็จสิ้นแล้ว รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับที่สามารถควบคุมได้แล้ว

.

ในประเทศกำลังพัฒนา ความเชื่อมโยงระหว่างความไม่สามารถของรัฐบาลในการระดมรายรับจากภาษีอากรหรือรายได้จากรัฐวิสาหกิจ และการพึ่งพิงการเพิ่มรายรับโดยการพิมพ์ธนบัตรใหม่นั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการที่ฐานภาษีแคบ การจัดเก็บภาษีไม่มีประสิทธิภาพ หรือการมีปัญหาความเลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ความเชื่อมโยงนี้ก่อให้เกิดปัญหาในการดำเนินนโยบายการเงินแบบอิงกับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อจากรายงานการศึกษาพบว่ารายรับต่อปีจากการพิมพ์ธนบัตรในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉลี่ยเท่ากับ 1.4-3.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ขณะที่เท่ากับ น้อยกว่าร้อยละ 1 ในประเทศพัฒนาแล้ว

.

นอกจากนี้ตลาดทุนและตลาดการเงินที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนาก็เป็นปัจจัยอีกประการหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบใหม่นี้ นโยบายการคลังจะชี้นำนโยบายการเงินในประเทศเหล่านี้โดยรัฐบาลมักจะใช้นโยบายการเงินในการได้มาซึ่งรายรับของรัฐบาลผ่านการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ย การกำหนดสำรองสินทรัพย์สภาพคล่องในอัตราที่สูง การกำหนดข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อ และการบังคับให้มีการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลเป็นต้น

.

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา หากมีการนำนโยบายการเงินแบบใหม่มาใช้ ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับการเลือกดัชนีราคาเพื่อกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ ถึงแม้โดยทั่วไปแล้วการใช้ดัชนีราคาเป็นดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะเป็นที่น่าเชื่อถือและยอมรับ แต่การคำนวณ CPI ในประเทศกำลังพัฒนายังขาดคุณภาพของข้อมูลอยู่อีกมาก ซึ่งทำให้ CPI ไม่สะท้อนอัตราเงินเฟ้อที่แท้จริงได้ นอกจากนี้ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะมีนโยบายในการแทรกแซงหรือควบคุมราคาสินค้า ซึ่งเป็นการสร้างความบิดเบือนด้านราคาและจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินที่อิงกับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก

.

ปัญหาประการสุดท้ายที่ประเทศกำลังพัฒนาจะเผชิญจนไม่สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบใหม่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การดำเนินนโยบายการเงินโดยกำหนดเป้าหมายหลักคือการดำรงเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญมากกับการรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนโดยการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ตราบใดที่เป้าหมายหลักของการดำเนินนโยบายการเงินอยู่ที่อัตราแลกเปลี่ยน หรืออยู่ที่อัตราแลกเปลี่ยนและอัตราเงินเฟ้อพร้อมกัน การดำเนินนโยบายการเงินแบบนี้จะไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลและจะทำให้เกิดข้อขัดแย้งของการใช้เครื่องมือด้านการเงินในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

.

สมชัย สัจจพงษ์

เกตสุดา สุประดิษฐ์     

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง