เนื้อหาวันที่ : 2008-06-30 11:24:44 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7439 views

วิกฤตการณ์น้ำมัน ปี 2008 ความผันผวนที่ไม่มีวันสิ้นสุด

มหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งหลายอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือ ยุโรป เริ่มหันมาสนับสนุนให้เกษตรกรของตนเองปลูกพืชทดแทนพลังงานหรือ Biofuel ด้วยเหตุนี้เองพื้นที่ที่เคยใช้ทำการเกษตรเพื่อผลิตอาหารได้ถูกเปลี่ยนไปปลูกพืชทดแทนพลังงาน ทำให้ปริมาณสินค้าเกษตรที่เคยผลิตได้ลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าเหล่านี้แพงขึ้น และนี่จึงเป็นที่มาของคำว่า "ราคาอาหารเฟ้อ" หรือ Agflation นั่นเอง

ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลาย ๆ ประเทศเริ่มวิตกต่อปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมาแตะที่ระดับ 135 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลนั้น ยิ่งสร้างความลำบากให้กับรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเข้าไปอีก

.
นอกจากนี้ผลพวงของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นนั้นยังกระทบไปยังราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นด้วยครับ ทั้งนี้เนื่องจากมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งหลายอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือ ยุโรป เริ่มหันมาสนับสนุนให้เกษตรกรของตนเองปลูกพืชทดแทนพลังงานหรือ Biofuel ด้วยเหตุนี้เองพื้นที่ที่เคยใช้ทำการเกษตรเพื่อผลิตอาหารได้ถูกเปลี่ยนไปปลูกพืชทดแทนพลังงาน ทำให้ปริมาณสินค้าเกษตรที่เคยผลิตได้ลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าเหล่านี้แพงขึ้น และนี่จึงเป็นที่มาของคำว่า ราคาอาหารเฟ้อ หรือ Agflation นั่นเองครับ
.

ท่องโลกเศรษฐกิจฉบับนี้ ขออนุญาตท่านผู้อ่านกลับมาตั้งหลักกันที่เมืองไทยแล้วย้อนมองส่องดูเรื่องของ "น้ำมันแพง" กันดีกว่าครับ เรื่องเล่าของราคาน้ำมัน ความผันผวนที่ไม่มีวันสิ้นสุดนักเศรษฐศาสตร์มักอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจผ่านกระบวนทัศน์ (Paradigm) ทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะเงื่อนไขของทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดครับ ด้วยเหตุนี้เองกลไกตลาดหรือ Price Mechanism จึงเป็น "มือที่มองไม่เห็น" (Invisible Hand) ที่ทำให้การจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

.

อย่างไรก็ดีกระบวนทัศน์ทางเศรษฐศาสตร์ดังกล่าวเป็นกระบวนทัศน์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ยึดมั่นในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดครับ ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์จึงเชื่อว่าสินค้าใด ๆ ที่มีราคาแพงขึ้นนั้น สาเหตุสำคัญมาจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของผู้บริโภค ขณะที่กำลังการผลิตยังคงมีอยู่อย่างจำกัด อย่างไรก็ตามแม้ว่าผู้บริโภคยังต้องการซื้อสินค้าในปริมาณเท่าเดิม แต่เมื่อผู้ผลิตผลิตสินค้าออกมาขายน้อยลง ก็เป็นเหตุให้สินค้ามีราคาแพงขึ้นได้เช่นกันทั้งนี้ทั้งนั้นนักเศรษฐศาสตร์พยายามหาสาเหตุว่า "แล้วปัจจัยอะไรล่ะที่ทำให้สินค้าเหล่านี้มีราคาสูงขึ้น" แน่นอนครับว่าสาเหตุเบื้องต้นย่อมต้องมาจากผู้บริโภคและผู้ผลิต

.

กรณีของ "น้ำมัน" ก็เช่นกันครับ น้ำมันนับได้ว่าเป็นทรัพยากรและสินค้าที่มีอยู่อย่างจำกัด เป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ (Non Renewable Resources) ซึ่งต่างจากป่าไม้ที่ตัดแล้วสามารถปลูกใหม่ได้ ด้วยเหตุนี้เองน้ำมันจึงกลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าอย่างยิ่งนับตั้งแต่โลกเริ่มทำการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18

.

กราฟที่ผู้เขียนนำมาเสนอนี้แสดงให้เห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในรอบ 38 ปี นับตั้งแต่ปี ค.. 1970 เป็นต้นมา ถ้าท่านผู้อ่านสังเกตจุดเริ่มต้นของกราฟให้ดีจะเห็นว่าในช่วงทศวรรษที่ 70 นั้น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาต่ำมากจะเห็นได้จากกราฟที่ช่วงต้นทศวรรษ 70 นั้น บาร์เรลละไม่ถึง 5 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

.

อย่างไรก็ตามในปี ค..1973 "น้ำมัน" ได้ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธทางเศรษฐกิจครั้งแรกครับ เมื่อเกิดสงครามระหว่างกลุ่มประเทศอาหรับและอิสราเอล (Arab-Israeli War) ผลพวงของสงครามทำให้กลุ่มประเทศอาหรับซึ่งรวมตัวกันเป็นกลุ่มโอเปค (OPEC; The Organization of Petroleum Exporting Countries) ตอบ โต ้ด้วยการขึ้นราคาน้ำมันดิบถึง 400% ในรอบหกเดือน จนทำให้ประเทศผู้ใช้น้ำมันทั่วโลกต่างเผชิญปัญหาราคาน้ำแพงกันไปตาม ๆ กัน และนี่เองที่ทำให้กลุ่มโอเปคเริ่มรู้แล้วว่าพวกเขามีเครื่องมือต่อรองทางเศรษฐกิจที่พร้อมจะสู้กับมหาอำนาจทั้งหลายได้

.

กลุ่มโอเปคนั้นเริ่มก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี ค..1960 ครับ โดยมีสมาชิกผู้ก่อการครั้งแรก 5 ประเทศ ได้แก่ อิรัก อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย คูเวต และเวเนซูเอล่า ทั้งนี้รูปแบบการรวมตัวของกลุ่มโอเปคเป็นไปในลักษณะของ Cartel กล่าวคือ ร่วมมือกันกำหนดปริมาณการผลิตโดยจัดสรรโควต้าการผลิตไว้ ห้ามใครแหกคอกเพราะจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงทันที ดังนั้นความร่วมมือในการผลิตน้ำมันดิบของโอเปคจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้แต่ละประเทศได้กำไรสูงสุด ปัจจุบันโอเปคมีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศครับ โดยสมาชิกใหม่รายล่าสุดที่เข้ามารวมกลุ่มด้วยคืออังโกล่า อย่างไรก็ดีอินโดนีเซียที่เคยเป็นสมาชิกโอเปคนั้นได้ถอนตัวออกจากกลุ่มไปแล้ว

.

ทุกวันนี้กลุ่มโอเปคควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 55% ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดในโลก ครับ ส่วนที่เหลือนั้นกระจายอยู่ตามแหล่งน้ำมันในรัสเซียและเอเชียกลางหรือ Eurasia

.

สงครามอาหรับ-อิสราเอล ทำให้เกิด "วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 1" (The first Oil Shock) ครับ หลังจากสงครามครั้งนั้นราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มขยับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการการใช้น้ำมันของประเทศต่าง ๆ ในโลก และยิ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมมากขึ้นด้วยแล้ว น้ำมันจึงกลายเป็นปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในภาคการขนส่ง

.

ด้วยเหตุนี้เองราคาน้ำมันจึงมีความสัมพันธ์กับเงินเฟ้อซึ่งนักเศรษฐศาสตร์อธิบายอย่างนี้ครับว่าการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันนั้นมีส่วนทำให้เกิดเงินเฟ้อที่มีสาเหตุมาจากการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ หรือ Cost Push Inflation นั่นเองครับ

.

อย่างไรก็ตามวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่สอง (The second Oil Shock) นั้นเกิดขึ้นในช่วงปี ค..1979-1980 ครับ โดยในปี ค..1979 เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในอิหร่านเมื่อผู้นำทางศาสนาอิสลาม "อยัล โต เลาะห์ โคไมนี่" ได้โค่นล้มราชวงศ์ของพระเจ้าชาห์ ปาวี และประกาศปฏิวัติระบอบการปกครองประเทศอิหร่านเสียใหม่ให้เป็นรัฐอิสลาม (Islamic Republic) การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวทำให้อิหร่านต้องหยุดผลิตน้ำมันชั่วคราวส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคลดลงทันที ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทะลุ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

.

ยังไม่หมดเท่านั้นครับ ในเดือนกันยายน ค..1980 รัฐบาลทหารของซัดดัม ฮุสเซน แห่งอิรักได้เข้ารุกรานอิหร่านที่เพิ่งฟื้นตัวจากความวุ่นวายได้ไม่นาน ทำให้เกิดสงครามอิหร่าน-อิรัก (Iran-Iraq) ผลของสงครามยิ่งซ้ำเติมให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงถึง 10% ทำให้ราคาน้ำมันดิบพุงสูงขึ้นไป 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

.

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าปัจจัยทางการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางนั้นล้วนส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก พูดง่าย ๆ ว่ารบกันทีไรน้ำมันแพงขึ้นทุกครั้ง ปรากฏการณ์นี้นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Negative Supply Shock ครับ กล่าวคืออุปทานการผลิตสินค้ามวลรวมลดลงอย่างกะทันหัน อย่างไรก็ตามโอเปคนั้นมีซาอุดิอาระเบียเป็นพี่ใหญ่ในฐานะผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินครั้งใดซาอุดิอาระเบียจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบออกมาเพื่อชดเชยปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปคที่ลดลงซึ่งทำให้ราคาไม่ผันผวนมากนัก

.

วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่สองนี้ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาลดปริมาณการใช้น้ำมันลง มีความพยายามที่จะหาแหล่งพลังงานทดแทนมากขึ้นโดยเฉพาะการนำก๊าซธรรมชาติในทะเลมาใช้ ด้วยเหตุนี้เองกลไกราคาในตลาดน้ำมันดิบของโลกจึงปรับตัวอีกครั้ง โดยราคาน้ำมันดิบค่อย ๆ ลดลงตามความต้องการใช้ที่น้อยลงและการแสวงหาพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 80 ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ทำให้กลุ่มโอเปคต้องหันมาจัดสรรโควต้าการผลิตน้ำมันกันใหม่เพื่อรักษาระดับกำไรของตัวเองไว้ไม่ให้ลดลงมากไปจากเดิม

.

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 80 นับว่าเป็นช่วงที่ประเทศในกลุ่มโอเปคประสบปัญหาเรื่องราคาน้ำมันดิบมากที่สุดซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า Oil Price Crash ครับ อย่างไรก็ตามสงครามในตะวันออกกลางในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 ได้ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกดีดตัวสูงขึ้นอีกรอบเมื่ออิรักเจ้าเก่าเข้ารุกรานคูเวต ผลของสงครามอ่าวเปอร์เซีย (Gulf War) ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทำสถิติใหม่แตะเพดานที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้นก็เนื่องมาจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ของสงครามทั้งนี้ คูเวตเป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตน้ำมันเป็นอันดับที่สามของโลก เมื่อคูเวตโดนรุกรานปริมาณการผลิตในตลาดโลกย่อมลดลงทันที

.

หลังจากที่สงครามอ่าวเปอร์เซียจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของอิรัก ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกลับมาอยู่ในระดับเสถียรภาพอีกครั้ง ประกอบกับการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ในสหภาพโซเวียตทำให้เกิดประเทศใหม่ ๆ ขึ้นหลายประเทศ และประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่มีทรัพยากรพลังงานอย่างก๊าซธรรมชาติและน้ำมันทำให้แหล่งพลังงานในแถบเอเชียกลางรวมไปถึงรัสเซียถูกขุดนำมาใช้เพิ่มขึ้น ทำให้มาช่วยถ่วงดุลอำนาจผูกขาดการผลิตของกลุ่มโอเปคได้

.

อย่างไรก็ตามวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียเมื่อปี ค..1997 ได้ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันของประเทศที่เผชิญวิกฤตนั้นลดลง ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงตามไปด้วยขณะที่โอเปคเริ่มพบกับคู่แข่งรายใหม่อย่างรัสเซียและประเทศในแถบเอเชียกลางที่มีบ่อน้ำมันเช่นกันทำให้โอเปคไม่สามารถกำหนดกำลังการผลิตตลาดได้ตามอำเภอใจเหมือนที่เคยทำได้

.

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค..2001 หรือ 9/11 นั้นยิ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกตกลงมาอยู่ที่ระดับ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวลงอย่างรุนแรง ความเชื่อมั่นในการบริโภคของชาวอเมริกันลดลง การลงทุนลดลง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้อเมริกานับเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันมากที่สุดในโลก ดังนั้นเมื่อความต้องการดังกล่าวลดลงก็ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกตกลงด้วยเช่นกัน

.

ในปี ค..2003 รัฐบาลของจอร์จ ดับเบิลยู บุช ตัดสินใจส่งกองกำลังทหารเข้าโจมตีอิรักส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปคชะงักงันอีกครั้งด้วยสาเหตุของสงคราม ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจึงปรับเพิ่มเป็น 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

.

ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งทะยานขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในปี ค..2005 เมื่ออิสราเอลโจมตีเลบานอน ราคาน้ำมันดิบพุ่งทำสถิติถึง 78 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลสูงสุดในรอบ 35 ปี แม้ว่าทั้งสองประเทศจะไม่ได้เป็นสมาชิกโอเปค แต่ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้กลุ่มประเทศตะวันออกกลางส่วนใหญ่ที่ไม่ถูกกับอิสราเอลอยู่แล้วถือโอกาสกดดันประเทศมหาอำนาจทั้งหลายโดยใช้ ราคาน้ำมัน เป็นเครื่องต่อรอง

.

นอกจากนี้แนวโน้มของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นนั้นยังมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย ท่านผู้อ่านนึกภาพดูนะครับว่าเมื่อคนเกือบสองพันล้านคนมีความต้องการใช้น้ำมันในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นแล้ว ขณะที่กำลังการผลิตยังคงเท่าเดิมแน่นอนครับว่าราคาน้ำมันดิบย่อมเพิ่มสูงขึ้น

.

อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทำสถิติทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อเดือนมกราคม ปี ค..2008 ครับ เหตุผลสำคัญมาจากปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะอเมริกากับอิหร่าน รวมไปถึงความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศไนจีเรียซึ่งเป็น หนึ่ง ในสมาชิกของกลุ่มโอเปค ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นของจีนและอินเดีย นี่ยังไม่รวมเรื่องการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ หันมานำเข้าน้ำมันกันมากขึ้น

.

ท่านผู้อ่านทราบมั้ยครับว่าหลังจากที่กลุ่มประเทศโอเปคตัดสินใจเพิ่มหรือลดปริมาณการผลิตน้ำมันมันดิบแล้ว สัญญาณการเพิ่มลดดังกล่าวจะถูกส่งไปยังตลาดน้ำมันดิบที่ปัจจุบันนี้มีการโค้ดหรืออ้างอิงราคากันตามตลาดใหญ่ ๆ ใน ลอนดอน นิวยอร์ก ดูไบ และสิงค์โปร์

.

บ่อยครั้งที่เราได้ยินข่าวราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอ้างอิงราคาจากนิวยอร์กบ้าง จากดูไบบ้าง หรือจากตลาดเบรนท์ทะเลเหนือ (Brent) บ้าง นอกจากนี้การค้าน้ำมันในตลาดโลกได้พัฒนาไปไกลถึงขนาดการซื้อขายน้ำมันในตลาดซื้อขายล่วงหน้าหรือ Future Market แล้ว

.

การทำสัญญาซื้อขายน้ำมันในตลาดล่วงหน้านั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการผันผวนของราคาน้ำมันซึ่งเราจะเห็นได้จากกราฟว่ามันค่อนข้างผันผวนตามปัจจัยต่าง ๆ ทั้งจากฝั่งผู้บริโภคและผู้ผลิต อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทางโอเปคพยายามกำหนดขอบเขตของราคาน้ำมันหรือ Oil Price Band ว่าควรอยู่ในระดับ 20-28 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ก่อนจะยกเลิกขอบเขตนี้ไปเมื่อปี ค..2005

.

แม้ว่าการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันจะช่วยป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ซื้อผู้ขายได้ แต่สัญญาดังกล่าวยังเป็นช่องทางเก็งกำไรของเหล่ากองทุนเก็งกำไรที่เรียกว่า Hedge fund ซึ่งกล่าวกันว่ามีส่วนสำคัญในการสร้างดีมานด์เทียมให้ราคาน้ำมันสูงเกินความเป็นจริง

.

 ล่าสุดนักวิเคราะห์จากโกลด์แมนแซค (Goldman Sach) คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีโอกาสทำสถิติใหม่สูงสุดที่ระดับ 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งผู้เขียนนึกภาพไม่ออกว่าเมื่อถึงเวลานั้น สงสัยคงต้องไปหาซื้อม้ามาขี่สักตัวแล้วกระมังครับ

.

เอกสารประกอบการเขียน

เนื้อหาและภาพประกอบจาก www.bbc.co.uk

BBC NEWS Business Opec The oil cartel in profile