เนื้อหาวันที่ : 2008-06-30 10:02:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1101 views

นายกฯ เผยจัดทำงบขาดดุลปี 52 ภายใต้คาดการณ์ GDP โต 5.5% เงินเฟ้อ 3.5%

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เสนอร่างพ.ร.บ.ประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2552 ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระแรก ระบุว่ารจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 52 อยู่ภายใต้กรอบ GDP ที่ 5.5% อัตราเงินเฟ้อ 3.5%

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม

.

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เสนอร่างพ.ร.บ.ประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2552 ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระแรกในวันนี้ โดยระบุว่ารจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 52 อยู่ภายใต้กรอบคาดการณ์แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ที่ 5.5% อัตราเงินเฟ้อ 3.5%

.

ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ การขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศที่ต่อเนื่องจากปี 51 โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่เร่งตัวขึ้น ประกอบกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และการดำเนินการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลได้ชัดเจนในปี 52

.

รัฐบาลยังได้ระดมทุนจากแหล่งต่างๆ ทั้งเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลให้มีความคืบหน้าตามเป้าหมาย รวมทั้งการดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องในปีงบประมาณ 52 ที่จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สำคัญอีกทางหนึ่ง

.

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ต้องพึงระวังในการบริหารจัดการเศรษฐกิจปี 52 ที่สำคัญ คือ ราคาน้ำมันและต้นทุนวัตถุดิบที่จะยังทรงตัวในระดับสูงและมีความผันผวนได้ง่าย ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้ นอกจากนั้น ในปี 52 ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในปี 51 ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการส่งออกไทยได้

.

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แนวทางการบริหารจัดการด้านรายจ่ายในปีงบประมาณ 52 รัฐบาลได้มุ่งเน้นการนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการพัฒนาและบริหารจัดการเพื่อให้เศรษฐกิจมีภูมิคุ้มกันและดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังนั้นในการบริหารจัดการการใช้จ่ายภาครัฐจะยึดหลักของความมีประสิทธิภาพและสามารถนำนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมเกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

.

ทั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดนโยบายงบประมาณปี 52 ไว้ 6 ข้อ คือ การดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยคำนึงถึงกรอบความยั่งยืนทางการคลัง, ทบทวนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลตามแผนการบริหารราชการแผ่นดินปี 51-54 และแผนปฏิบัติราชการโดยเฉพาะผลผลิต/โครงการ กิจกรรมต่างๆ ที่ลำดับความสำคัญลดลงหรือหมดความจำเป็น

.

เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ, กำหนดรายจ่ายลงทุนในจำนวนไม่ต่ำกว่าปีงบประมาณ 51 สนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด และส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองท้องถิ่นอย่างเต็มขีดความสามารถ และเร่งรัดการถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่นตามที่กำหนดไว้

.

ภายใต้กรอบนโยบายดังกล่าวในปีงบประมาณ 52 รัฐบาลกำหนดเป็นงบประมาณขาดดุล โดยกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ 1.835 ล้านล้านบาท คิดเป็น 17.9% ของจีดีพี ประมาณการรายได้สุทธิ 1.585 ล้านล้านบาท คิดเป็น 15.4% ของจีดีพี โดยกำหนดเป็นเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2.495 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.4% ของจีดีพี

.

สำหรับงบรายจ่ายประจำกำหนดไว้ที่ 1.336 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.1% จากปี 51 โดยรายจ่ายประจำคิดเป็นสัดส่วน 72.8% ของวงเงินงบประมาณ ด้านรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังกำหนดไว้ที่ 2.754 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.5% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุนกำหนดไว้ที่ 4.073 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% จากปีงบ 51 คิดเป็นสัดส่วน 22.2% ของวงเงินงบประมาณ ส่วนรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้จัดสรรไว้ 6.367 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.9% จากปีงบ 51 คิดเป็นสัดส่วน 3.5% ของวงเงินงบประมาณ

.

ทั้งนี้หากจัดลำดับหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 52 สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ คิดเป็น 18% ของงบประมาณรายจ่าย รองลงมาคืองบกลาง คิดเป็น 13.6%, กระทรวงการคลัง คิดเป็น 11%, กระทรวงมหาดไทย คิดเป็น 10.7% และกระทรวงกลาโหม คิดเป็น 9.2%

.

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์จัดสรรงบประมาณไว้ 8 ยุทธศาสตร์ และ 1 รายการ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประเทศ จำนวน 1.244 แสนล้านบาท, ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต จำนวน 5.344 แสนล้านบาท, ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างสมดุล จำนวน 1.759 แสนล้านบาท, ยุทธศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 3.265 หมื่นล้านบาท

.

ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโยลีและนวัตกรรม จำนวน 1.619 หมื่นล้านบาท, ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จำนวน 8.977 พันล้านบาท, ยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงของรัฐ จำนวน 1.875 แสนล้านบาท, ยุทธศาตร์การบริหารจัดการที่ดี จำนวน 3.015 แสนล้านบาท และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 4.531 แสนล้านบาทเพื่อรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็น