เนื้อหาวันที่ : 2008-06-26 12:10:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1236 views

สศอ.แนะผู้ส่งออกไทยเร่งจดทะเบียน REACH แต่เนิ่น

สศอ. แนะผู้ประกอบการ เร่งจดทะเบียน REACH ล่วงหน้า ภายใน 6 เดือน มั่นใจเป็นแนวทางเตรียมพร้อมที่ดี หวังให้อุตสาหกรรมไทยส่งออกไปอียูไม่มีสะดุด แม้มาตรการกดดันรอบด้าน ยกระดับสินค้าไทยให้ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก

สศอ. แนะผู้ประกอบการ  เร่งจดทะเบียน REACH ล่วงหน้า ภายใน 6 เดือน มั่นใจเป็นแนวทางเตรียมพร้อมที่ดี หวังให้อุตสาหกรรมไทยส่งออกไปอียูไม่มีสะดุด แม้มาตรการกดดันรอบด้าน ยกระดับสินค้าไทยให้ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ซึ่งผู้ประกอบการของไทยมีศักยภาพและมีขีดความสามารถอยู่แล้ว

.

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่กฎระเบียบ REACH เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550  ซึ่งเป็นกฏระเบียบที่นำมาใช้ในการควบคุมการผลิตหรือการใช้สารเคมีในสินค้านำเข้าทุกชนิดของยุโรป ที่กำหนดให้มีกระบวนการจดทะเบียน การประเมินความปลอดภัย และการขออนุญาตให้ผลิตหรือใช้สารเคมีภายในสหภาพยุโรป เพื่อรักษาความปลอดภัยของชีวิตและการรักษาสิ่งแวดล้อม

.

ในขณะนี้ได้กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าต้องจดทะเบียนและขออนุญาตผลิตหรือใช้สารเคมี ได้แสดงความจำนงขอจดทะเบียนสารเคมีล่วงหน้าต่อองค์กรกลาง(European Chemical Agency) ได้แล้วภายใน 6 เดือน  ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึง 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551  ถ้าหากผู้ประกอบการรายใดยังไม่ได้จดทะเบียนสารเคมีล่วงหน้าก็จะถูกบังคับให้จดทะเบียนทันที มิฉะนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้ค้าขายกับสหภาพยุโรป

.

 "ในการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องนี้ สศอ.ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและ United Nations Industrial Development Organization (UNIDO) จัดสัมมนาเรื่อง "3 Ps for REACH Workshop : Proactive , Practical and Pre-registration" ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าใจในกฎระเบียบ REACH

.

ซึ่งจะเชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้ให้บริการ Only Representative(OR) จากสหภาพยุโรปมาบรรยายให้ความรู้ในการสัมมนาในครั้งนี้  และมีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในการทดลองใช้โปรแกรมสำหรับการจดทะเบียนสารเคมี IUCLID 5  โดยจะมีการปฎิบัติเหมือนของจริง   ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้นและสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เพื่อนำไปปรับใช้ในแผนกลยุทธ์การดำเนินงานสำหรับการส่งออกสินค้าไปอียู ได้อย่างไม่สะดุดต่อไป"

.

ดร.อรรชกา กล่าวอีกว่า การสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นการตอกย้ำให้ผู้ประกอบการได้เห็นความสำคัญของกฎระเบียบ REACH และทำการขึ้นทะเบียนตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป เพราะเมื่อมีการส่งออกสินค้า ผู้นำเข้าในสหภาพยุโรปต้องขอเอกสารต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎระเบียบ REACH จากผู้ประกอบการไทยอย่างแน่นอน 

.

การสัมมนาในครั้งนี้จึงเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการได้ปฏิบัติภายใต้ระเบียบ REACH เป็นไปอย่างราบรื่น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการว่าสินค้าของไทยที่นำเข้าไปขายกับสหภาพยุโรปไม่ใช้สารเคมีต้องห้ามในการผลิต หรือสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและเกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อม อีกทั้งเป็นการพัฒนาเพื่อยกระดับสินค้าไทยให้ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ซึ่งผู้ประกอบการของไทยมีศักยภาพและมีขีดความสามารถอยู่แล้ว

.

โดยการสัมมนาจะจัดขึ้นในวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2551  ณ ห้องจามจุรี โรงแรมปทุมวัน  ปริ้นท์เซส เวลา 8.30 -17.00 น. ผู้ใดสนใจสามารถอ่านรายละเอียดการสัมมนาและสมัครลงทะเบียนได้ที่   www. thaitextile.org/eu