เนื้อหาวันที่ : 2006-08-23 17:09:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1875 views

บอร์ด กฟผ. อนุมัติออกพันธบัตร 7,400 ล้านบาท เร่งระดมทุน

คณะกรรมการการ กฟผ. อนุมัติออกพันธบัตรระดมทุนปีนี้ 7,400 ล้านบาท หลังจากไม่สามารถกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ งวดแรกออกเดือนสิงหาคมและกันยายนนี้

สำนักข่าวไทยได้รายงานเกี่ยวกับคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อนุมัติออกพันธบัตรระดมทุนปีนี้ 7,400 ล้านบาท หลังจากไม่สามารถกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยงวดแรกจะออกในเดือนสิงหาคมและกันยายนนี้จำนวน 3,400 ล้านบาท พร้อมตั้งบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน

.

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะรักษาการประธานกรรมการ กฟผ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กฟผ.วันนี้ (18 ส.ค.) ได้อนุมัติให้ กฟผ.ออกพันธบัตร เพื่อระดมทุนในการลงทุนของ กฟผ. หลังจากที่ไม่สามารถกระจายหุ้นใน ตลท.ได้ โดยจะมีการออกพันธบัตรงวดแรกวันที่ 31 สิงหาคมนี้ แบ่งเป็นวงเงิน 1,000 ล้านบาท อายุพันธบัตร 15 ปี และ 1,400 ล้านบาท อายุพันธบัตร 10 ปี นอกจากนี้ จะออกจำหน่ายอีกครั้งในวันที่ 29 กันยายน วงเงิน 1,000 ล้านบาท อายุ 7 ปี โดยรวมวงเงินพันธบัตรที่คณะกรรมการอนุมัติให้ออกจำหน่ายครั้งนี้รวม 3,400 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมดที่ได้มีการอนุมัติว่าจะออกในปีนี้ รวม 7,400 ล้านบาท ส่วนอัตราดอกเบี้ยจะเป็นเท่าใดนั้นจะมีการประกาศให้ทราบอีกครั้ง

.

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังอนุมัติในหลักการให้ กฟผ.จัดตั้งบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล (Egat International) เพื่อเป็นแขนขาด้านการลงทุนเชิงพาณิชย์ของ กฟผ. ที่จะมีการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ ซึ่งรูปแบบการจัดตั้งจะมีการร่วมทุนกับใครบ้างจะมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ กฟผ.อีกครั้ง วันที่ 24 สิงหาคมนี้ โดยโครงการแรกที่บริษัทดังกล่าวจะต้องเข้าไปร่วมทุนคือ โครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าในประเทศลาว ที่จะเชื่อมต่อมายังประเทศไทยในพื้นที่เมืองนาบง ทางตอนใต้ของกรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว มายังพื้นที่ชายแดนไทยบริเวณจังหวัดอุดรธานี ระยะทาง 23 กิโลเมตร เงินลงทุนประมาณ 2,800 ล้านบาท

.

รัฐบาลลาวได้เสนอให้ กฟผ.เข้าไปร่วมลงทุนด้วยในสัดส่วนฝ่ายละครึ่ง โดยสายส่งดังกล่าวจะเป็นสายส่งสำคัญในการเชื่อมต่อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ไทยจะเข้าไปรับซื้อ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา 4 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ น้ำงึม 3 จำนวน 660 เมกะวัตต์ น้ำเทิน 1 จำนวน 500 เมกะวัตต์ และน้ำเงี๊ยบ 1 จำนวน 260 เมกะวัตต์ ส่วนบริษัทแห่งใหม่จะเข้าไปร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำอื่น ๆ หรือไม่นั้นจะพิจารณาในรายละเอียดต่อไป

.

นายณอคุณ กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการ กฟผ. ยังไม่มีการพิจารณาแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (PDP) 15 ปี ฉบับใหม่ เนื่องจากการพิจารณาในรายละเอียดในระดับปฏิบัติการของ กฟผ.ยังไม่เสร็จสิ้น เช่น ควรที่จะมีการยืดอายุโรงไฟฟ้าเก่า เช่น โรงไฟฟ้าพระนครใต้ บางปะกง จากอายุ 30 ปี เป็น 35 ปี หรือไม่ โดยจะต้องดูถึงอัตราค่าไฟฟ้าว่าจะคำนึงถึงอัตราค่าไฟฟ้าส่วนไหนจะคุ้มทุนมากกว่ากัน และยังต้องดูถึงราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ บมจ.ปตท.เป็นผู้จำหน่าย เพราะแผนระยะยาวที่ ปตท.เสนอมาขณะนี้ได้ระบุให้มีการนำราคาก๊าซจากแหล่งอ่าวไทยและพม่ามารวมกับราคาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี ที่ ปตท.กำลังพิจารณานำเข้า

.

กฟผ.ต้องการเห็นตัวเลขค่าไฟฟ้าที่แยกกันระหว่างราคาก๊าซและราคาแอลเอ็นจี ซึ่งแอลเอ็นจี เป็นก๊าซใหม่ที่จะนำเข้ามา ควรจะแสดงตัวเลขที่ชัดเจน โดยตามนโยบายของกระทรวงพลังงานระบุว่า ราคาแอลเอ็นจี จะต้องมีราคาที่ไม่แพงกว่าราคาก๊าซที่รับซื้อจากพม่า ขณะที่จากแหล่งพม่าอยู่ที่ประมาณ 300 บาทต่อล้านบีทียู และราคาก๊าซในแหล่งอ่าวไทยอยู่ที่ประมาณ 160-170 บาทต่อล้านบีทียู นอกจากนี้ แผน PDP จะต้องพิจารณาเรื่องเชื้อเพลิงของการผลิตที่คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า (เรกกูเลเตอร์) กำหนดไว้เบื้องต้นว่าจะมีการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านร้อยละ 20 ส่วนที่เหลือเป็นการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งอาจจะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50-70 และถ่านหินร้อยละ 30-50.