เนื้อหาวันที่ : 2008-06-20 21:48:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1076 views

นายแบงก์ ห่วงเงินออมลดหากไม่ขึ้นดบ.สู้เงินเฟ้อ-จี้รบ.กระตุ้นใช้จ่าย

นายแบงก์มองช่องว่างระหว่างอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูงมาก หากไม่ปรับขึ้นส่งผลเงินออมหดหาย ชี้ดอกเบี้ยขาขึ้นไม่น่ากลัวเท่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นการใช้จ่าย รวมถึงใช้นโยบายทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ

      

..
นายแบงก์มองช่องว่างระหว่างอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูงมาก หากไม่ปรับขึ้นส่งผลเงินออมหดหาย ชี้ดอกเบี้ยขาขึ้นไม่น่ากลัวเท่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นการใช้จ่าย รวมถึงใช้นโยบายทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ   
..

นายนิมิตร นนทพันธาวาทย์ ที่ปรึกษาด้านวิจัยเศรษฐกิจ ประจำฝ่ายวิจัย BBL มองว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้ทิศทางของดอกเบี้ยน่าจะปรับขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ แต่อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อถือเป็นปัญหาเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งให้เกิดการใช้จ่าย และมีการใช้นโยบายการเงินที่มีประสิทธิภาพ

..

นอกจากนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรกำกับดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับ 32-34 บาท/ดอลลาร์ โดยไม่ควรให้อ่อนค่ามากเกินไป เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน หากค่าเงินอ่อนจะส่งผลต่อการนำเข้าน้ำมันแพงขึ้น "มองว่าหากขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ควรจะขึ้นมาก และในปี 52 ก็น่าจะเป็นการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยอีกรอบ" นายนิมิตร กล่าวในหัวข้อ"เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก กับทิศทางค่าเงิน"

..

สำหรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า มองว่า คงโตไม่ถึง 5% เนื่องจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่ยังกดดัน โดยราคาน้ำมันจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แต่ไม่เชื่อว่าจะสูงถึง 250 เหรียญสรอ./บาร์เรล ตามที่โกลแมน แซคส์ประเมิน    ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเล็กน้อย 1-2 ครั้งในปีนี้ เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ และให้ภาคการลงทุนยังเติบโตได้

..

ขณะที่นายสอาด ธีรโรจนวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายบริหารการเงิน BBL กล่าวว่า ธนาคารคาดว่าในปีนี้ราคาน้ำมันจะยังสูงต่อเนื่อง ดังนั้นการที่จะมีสัญญาณการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจคงไม่มีผล แต่เชื่อว่าจะมีทิศทางในการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งจะเห็นจากธนาคารพาณิชย์เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ย แม้ธปท. ยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ธนาคารพาณิชย์ก็ประเมินทิศทางนโยบายที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดกับประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่น อย่าง มาเลเซีย จีน อินโดนีเซีย คงทำให้ต้องมีการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

..

ค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่า จะอยู่ในระดับ 34-35 บาท/ดอลลาร์ ไม่ควรอ่อนค่าไปมากกว่านั้น แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยราคาน้ำมันที่ไม่ควรเกิน 130-150 เหรียญ สรอ./บาร์เรลด้วย แต่ทั้งนี้หากราคาน้ำมันเกินกว่านี้ค่าเงินบาทคงจะอ่อนค่ามากขึ้น

..

ส่วนสถานการณ์ในปัจจุบัน นายสอาด กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่เชื่อว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากเหมือนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา แต่ต้องคอยจับตาดูเวียดนามที่คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนที่ไทยเคยประสบปัญหาและอาจส่งผลกระทบต่อไทยได้

.

ด้านนายสาธิต อุทัยศรี ที่ปรึกษาสายประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า ราคาน้ำมันปรับขึ้นมากว่า 7000% จากที่เคยอยู่ 2 เหรียญ สรอ./บาร์เรลในปี 1973 มาปีนี้ขึ้นไปที่ 135 เหรียญ สรอ./บาร์เรล ทำให้หลายประเทศทั่วโลกไม่สามารถปรับตัวได้ และยังส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับขึ้นตามด้วย เป็นตัวเร่งให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น

..

พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ปัญหาว่า ควรต้องมีการผลักดันการลงทุน และผลักดันการรณรงค์ลดใช้พลังงาน เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติในอนาคต ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยส่วนตัวมองว่าควรจะมีการปรับเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีช่องว่างระหว่างอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูงมาก อาจจะส่งผลให้ผู้ทำงานมีเงินเดือนประจำและไม่มีเงินออม

..

ส่วนนางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย ธปท.ก็พิจารณาทางด้านเงินเฟ้อ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ถึงที่สุดแล้วหากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มในระดับสูง การตัดสินใจก็จะต้องคำนึงถึงเงินเฟ้อเป็นหลัก

..

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนโยบายดอกเบี้ยประกาศออกไป กว่าจะส่งผลด้านการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-8 ไตรมาส ดังนั้นการพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยก็ต้องคำนึงถึงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตด้วย