เนื้อหาวันที่ : 2008-06-20 20:34:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1560 views

PTTAR ปรับปรุงหน่วยผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซ ในโรงกลั่นเพื่อลดอัตราการระบายก๊าซไนโตรเจนออกไซด์

ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น เตรียมปรับลดอัตราการระบายก๊าซไนโตรเจนออกไซด์บางส่วนให้ได้ต้นปี 2552 ตามข้อกำหนดในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการเชื้อเพลิงสะอาดและปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์

 .

บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTTAR ลงนามสัญญามูลค่ากว่า 31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อปรับปรุงหน่วยผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซ (Gas Turbine) ในโรงกลั่นน้ำมัน กับ บริษัท GE Packaged Power Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทในเครือ General Electric Corporation และ บริษัท Dresser-Rand AS ประเทศนอร์เวย์

 .

ให้สามารถลดอัตราการระบายก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) จากโรงกลั่นทั้งหมดลงได้ร้อยละ13 นับเป็นผู้ประกอบการรายแรกที่ได้ดำเนินการโครงการปรับลดมลพิษ และยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุด ตามแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยอง พ.ศ. 25502554 ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

 .

นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) (PTTAR) เปิดเผย เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2551 ว่า PTTAR มีเป้าหมายจะปรับลดอัตราการระบายก๊าซไนโตรเจนออกไซด์บางส่วนให้ได้ภายในต้นปี 2552 ตามข้อกำหนดในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA Report) สำหรับโครงการเชื้อเพลิงสะอาดและปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ในส่วนโรงกลั่นน้ำมัน ตามแผนธุรกิจ 5 ปี ของบริษัทฯ

 .

"บริษัท GE Packaged Power Inc. จะเป็นผู้ผลิตกังหันก๊าซระบบฉีดไอน้ำ (Steam Injection) ตัวใหม่ สำหรับติดตั้งที่หน่วยผลิตไฟฟ้ากังหันก๊าซ (Gas Turbine) แทนที่ของเดิม ส่วนบริษัท Dresser-Rand AS จะเป็นผู้ออกแบบและติดตั้งระบบควบคุมการฉีดไอน้ำ เพื่อทำงานร่วมกับ Gas Turbine การติดตั้งระบบฉีดไอน้ำให้กับ Gas Turbine ดังกล่าวจะช่วยควบคุมอุณหภูมิการเผาไหม้ให้เหมาะสม ส่งผลให้การระบายก๊าซไนโตรเจนออกไซด์จาก Gas Turbine ลดลงจากเดิมตัวละ 10 กรัมต่อวินาที เหลือไม่เกิน 6 กรัมต่อวินาที" นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ กล่าว

 .

นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวบริษัทฯ จะทยอยทำการปรับปรุงครั้งละ 1 ชุด ตามแผนงานที่จะต้องหยุดซ่อมบำรุง Gas Turbine ในระหว่างปี 2552-2554 ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ ไม่จำเป็นต้องหยุดการผลิตของโรงกลั่นในระหว่างการปรับปรุง Gas Turbine แต่อย่างใด และยังทำให้บริษัทฯ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง Gas Turbine ตามแผนงานเดิมได้อีกตัวละ 2.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวม 3 ตัว เป็นเงิน 8.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

.

สำหรับโครงการเชื้อเพลิงสะอาดและปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ในส่วนโรงกลั่นน้ำมันตามแผนธุรกิจ 5 ปี ของบริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย โครงการ Upgrading Complex เพื่อนำคอนเดนเสท เรสซิดิวจากโรงงานอะโรเมติกส์ ไปผลิตเป็นน้ำมันดีเซล น้ำมันอากาศยาน Jet A-1 และน้ำมันเตา โครงการ Clean Fuel Project ของหน่วย Deep Hydrodesulfurization เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลที่ผลิตจากโรงกลั่น

 .

และโครงการกลั่นแยกคอนเดนเสทเรสซิดิว ให้ได้ตามมาตรฐาน Euro IV ที่จะบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2555 โครงการติดตั้งหน่วยกำจัดสารปรอทในน้ำมัน เพื่อกำจัดสารปรอทในแนฟทา และแอลพีจี ทำให้โรงกลั่นสามารถนำน้ำมันดิบในประเทศ ที่มีปรอทสูงเข้าทำการกลั่นได้ และโครงการ Platformer Splitter Project เพื่อกลั่นแยกรีฟอร์เมทที่ผลิตได้จากโรงกลั่นให้เป็นรีฟอร์เมทชนิดเบา และชนิดหนัก จัดส่งให้โรงงานอะโรเมติกส์นำไปผลิตสารเบนซีนและพาราไซลีนต่อไป

 .

บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) (PTTAR) เกิดจากการควบกิจการระหว่าง บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ATC) และ บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน) (RRC) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2550 ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและผลิตสารอะโรเมติกส์ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ด้วยกำลังการกลั่น 280,000 บาร์เรลต่อวัน และกำลังการผลิตสาร อะโรเมติกส์ 2,228,0000 ตันต่อปี หลังโครงการอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2 แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2551 นี้