เนื้อหาวันที่ : 2008-06-17 17:42:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1493 views

นักลงทุนญี่ปุ่นไม่หวั่นกระแสการเมือง ตั้งศูนย์กลางพัฒนาซอฟต์แวร์ธุรกิจโลจิสติกส์ในไทย

เอ็น ที ที โด โค โมะ ผู้นำด้านการสื่อสารจากญี่ปุ่น ส่งบริษัทลูก โมมาย อินโนเวชั่น ลงทุน100 ล้านบาท พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับระบบการขนส่ง มั่นใจช่วยลดผลกระทบราคาน้ำมันของผู้ประกอบการขนส่งไทย

.

เอ็น ที ที โด โค โมะ ผู้นำด้านการสื่อสารจากญี่ปุ่น ส่งบริษัทลูก โมมาย อินโนเวชั่น ลงทุน100 ล้านบาท พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับระบบการขนส่ง มั่นใจช่วยลดผลกระทบราคาน้ำมันของผู้ประกอบการขนส่งไทย ประธานบริษัทยกให้ไทยเป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาค พร้อมระบุ ไม่หวั่นการเมือง

.

นายสาธิต ชาญเชาว์นกุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอ ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนกิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุน แก่บริษัท โมบาย อินโนเวชั่น จำกัด บริษัทในเครือของ บริษัท นิปปอน เทเลกราฟ แอน เทเลโฟน คอร์ปอเรชั่นจำกัด บริษัทชั้นนำด้านการสื่อสารผ่านมือถือ และผู้คิดค้นการให้บริการทางโทรศัพท์มือถือจากประเทศญี่ปุ่น

.

เข้ามาลงทุนเพื่อให้บริการด้านระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์ และการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมทั้งให้คำปรึกษาและแนะนำด้านระบบบริหารจัดการ และติดตามพิกัดตำแหน่งยานพาหนะ วงเงินลงทุน 100 ล้านบาททั้งนี้ บริษัท เป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ช่วยในระบบการขนส่งด้วยการใช้ระบบเครือข่ายและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

.

สามารถที่จะทำการค้นหาและติดตามตำแหน่งของยานพาหนะที่อยู่ในระหว่างการปฎิบัติงาน ทำให้ทราบตำแหน่งของยานพาหนะภายใต้พิกัดแสดงตำแหน่งแผนที่ด้วยความถูกต้อง และแม่นยำ เป็นผลให้สามารถควบคุม ตรวจสอบความเคลื่อนไหว และพฤติกรรมการขับขี่ของผู้ขับยานพาหนะได้ ซึ่งจะช่วยด้านการขนส่งสินค้าให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วและลดต้นทุนได้มากขึ้น

.

นายฮิราตะ มาซายากิ ประธานบริษัท NTT DoCoMo กล่าวว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับระบบขนส่งสินค้าที่มีคุณภาพ โดยเครื่องมือการติดตามพิกัดตำแหน่งยานพาหนะจะช่วยลดขั้นตอนการส่งสินค้าของผู้ประกอบการธุรกิจ ในขณะเดียวกันจากคุณสมบัติของระบบที่พัฒนามาเพื่อช่วยเช็คระบบน้ำมันของรถแต่ละคันได้อย่างถูกต้อง ยังเป็นการป้องกันปัญหาการลักลอบขนถ่ายน้ำมันในช่วงน้ำมันราคาสูงได้อีกด้วย

.

โดยปัจจุบันบริษัทขนส่งต่างๆ ในประเทศไทยให้ความสนใจติดตั้งเครื่องมือดังกล่าวเพิ่มขึ้น ขณะนี้บริษัทมีลูกค้าในประเทศแล้วกว่า 4,000 คัน ทั้งในกลุ่มรถยนต์ส่วนบุคคล รถเช่า แท็กซี่ รับส่งผู้โดยสารต่างจังหวัด เช่น บริษัท นครชัยแอร์ เป็นต้น

.

"บริษัทมั่นใจในการเข้ามาพัฒนาระบบดังกล่าวในประเทศไทย เนื่องจากมองว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพในด้านการพัฒนาลอจิสติกส์สูงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาค ประกอบกับปีนี้ไทยได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการลงทุน และมีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมเรื่องรถประหยัดพลังงานหรืออีโคคาร์ ที่จะส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทเติบโตขึ้น

.

การพัฒนาระบบดังกล่าวนอกจากจะรองรับกับอัตราความต้องการใช้ในประเทศไทยแล้ว บริษัทยังเล็งเห็นถึงโอกาสขยายการให้บริการไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอีกด้วย เช่น ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม เป็นต้น ซึ่งแม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีความไม่แน่นอนทางการเมืองบ้าง แต่ ก็เชื่อว่ารัฐบาลไทยจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และจะไม่เกิดปัญหาบานปลายนายฮิราตะ กล่าว