เนื้อหาวันที่ : 2008-06-17 12:45:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1241 views

กรีนพีซประท้วงเวทีประชุมอาเซียน+3 ชี้ นิวเคลียร์ไม่ใช่คำตอบ

เรียกร้องให้กลุ่มประเทศอาเซียนเร่งรัดพัฒนาศักยภาพพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพทางพลังงานในภูมิภาคอย่างจริงจัง แทนการผลักดันให้ประชาชนในภูมิภาคตกอยู่ในความเสี่ยงจากเทคโนโลยีราคาแพงและอันตรายอย่างพลังงานนิวเคลียร์

 .

กรีนพีซ ต้อนรับตัวแทนผู้เข้าร่วมการประชุมอาเซียน +3 ด้วยภาพผลกระทบของเหยื่อหายนะภัยนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล พร้อมด้วยข้อความ "นิวเคลียร์ไม่ใช่คำตอบ" เพื่อเรียกร้องให้กลุ่มประเทศอาเซียนเร่งรัดพัฒนาศักยภาพพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพทางพลังงานในภูมิภาคอย่างจริงจัง แทนการผลักดันให้ประชาชนในภูมิภาคตกอยู่ในความเสี่ยงจากเทคโนโลยีราคาแพงและอันตรายอย่างพลังงานนิวเคลียร์

 

"รัฐบาลไทยต้องตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ไม่สามารถรับประกันความมั่นคงด้านพลังงานและแน่นอน ที่สุดคือไม่ปลอดภัย อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ยังคงตกอยู่ในวังวนของอุบัติเหตุ การโกหกหลอกลวง การปกปิดข้อมูล และความไร้สมรรถภาพ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ยุคใหม่ที่พยายามพัฒนากันอยู่ในวันนี้สามารถกลายเป็นเหตุการณ์เชอร์โนบิลในวันพรุ่งนี้ได้"

 .

นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว "เราขอเรียกร้องให้ผู้นำกลุ่มอาเซียนและรัฐบาลไทย มุ่งสู่การปฏิวัติพลังงานอย่างจริงจัง ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แทนที่จะคล้อยตามความพยายามของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ที่ต้องการฟื้นคืนชะตากรรมอันยากลำบากของตน" นายธาราเสริม

 .

การระเบิดของเตาปฏิกรณ์ที่เชอร์โนบิลเมื่อ 22 ปีก่อน ถือเป็นหายนะภัยนิวเคลียร์พลเรือนครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ หายนะภัยครั้งนั้นส่งผลกระทบไปทั่วโลกและยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 20 ปี ของเหตุการณ์เชอร์โนบิล รายงานของกรีนพีซที่ศึกษาและประเมินผลกระทบของเหตุการณ์ดังกล่าวพบว่า ความสูญเสียจากการเสียชีวิตโดยรวมทั่วโลกจากผลของหายนะภัยดังกล่าวมีถึงหนึ่งแสนคนในระยะยาว(1)

 .

นอกจากต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ยุคใหม่ที่ประสงค์จะให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ได้ส่งสัญญานแห่งความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง อย่างเช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟลาแมนวิล 3 ในฝรั่งเศสและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โอกิอูโลโตในฟินแลนด์ ซึ่งได้รับการออกแบบให้เป็นแถวหน้าของยุคเฟื่องฟูใหม่ของพลังงานนิวเคลียร์

 .

แต่ทว่า หลังจากสองปีของการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โอกิอูโลโต (ในเดือนพฤษภาคม 2550) หน่วยงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของฟินแลนด์ รายงานถึงข้อบกพร่องด้านคุณภาพและความปลอดภัยถึง 1,500 จุด ความล้มเหลวเหล่านี้นำไปสู่การเพิ่มความเสี่ยงของอุบัติภัยร้ายแรงได้

 .

ในประเทศไทยมีแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 แห่ง แต่ละแห่งต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า สามหมื่นหกพันล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการวางแผนดำเนินการโฆษณาชวนเชื่อซึ่งมีอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ผลักดันอยู่เบื้องหลัง เพื่อให้คนไทยยอมรับพลังงานนิวเคลียร์

 .

"รัฐบาลอินโดนีเซียไม่ควรวางเฉยต่อเสียงคัดค้านจากกลุ่มชุมชนและกลุ่มศาสนาที่ต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ" เทสซา เดอ ริก ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านนิวเคลียร์ กรีนพีซ เอเชียตะวันอกเฉียงใต้กล่าว และแทนที่จะไปทุ่มเทพัฒนาเทคโนโลยีอันตรายและไม่คุ้มค่าการลงทุนนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียควรแสดงเจตจำนงในการต่อสู้เพื่อยุติปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการก้าวสู่การปฏิวัติพลังงาน และสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพมากพอในการนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อคนรุ่นต่อไป"

 .

กรีนพีซเห็นว่าพลังงานนิวเคลียร์ไม่มีบทบาทอันใดเลยในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2593 เพื่อหลีกเลี่ยงมหันตภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซเรียกร้องให้มีการปฏิวัติพลังงานบนฐานการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพพลังงาน รัฐบาลที่เลือกพลังงานนิวเคลียร์ ท้ายที่สุดแล้วจะพบว่าความมั่นคงและความเป็นอิสระด้านพลังงานจะตกอยู่ในเงื้อมมือของประเทศสองสามประเทศและบริษัทไม่กี่แห่งที่ครอบครองเทคโนโลยีและเชื้อเพลิงนิวเคลียร์