เนื้อหาวันที่ : 2008-06-16 12:19:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2394 views

สัญญาณบอกการปรับตัวของรัฐและผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานข้ามชาติ

ปรากฏการณ์ด้านแรงงานข้ามชาติ และครอบครัวในประเทศไทย ยังคงเป็นข่าวคราวอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวที่ออกในแง่การควบคุม ต้องจัดการ ต้องผลักดันส่งกลับ ข่าวอาชญากรรม ข่าวออกมาครั้งใด แรงงานข้ามชาติเป็นผู้ถูกกระทำซ้ำอยู่เรื่อยไป

.

สัญญาณบอกการปรับตัวของรัฐและผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานข้ามชาติ เพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจไทย
 

.

ปรากฏการณ์ด้านแรงงานข้ามชาติ และครอบครัวในประเทศไทย ยังคงเป็นข่าวคราวอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวที่ออกในแง่การควบคุม ต้องจัดการ ต้องผลักดันส่งกลับ ข่าวอาชญากรรม ข่าวออกมาครั้งใด แรงงานข้ามชาติเป็นผู้ถูกกระทำซ้ำอยู่เรื่อยไป เป็นต้น แต่มีน้อยมากที่ข่าวจะปรากฏออกมาในลักษณะเชิงบวกว่า "แรงงานข้ามชาติมีคุณปการต่อการสร้างผลผลิตเชิงเศรษฐกิจให้แก่สังคมไทยอย่างไร"

.

ก็เห็นได้ชัดว่า ความพยายามควบคุม กับ ความต้องการแรงงานที่ขาดแคลนสูงสุด ไม่ได้ไปด้วยกัน ฝ่ายรัฐไม่ต้องการให้แรงงานหลั่งไหลเข้าประเทศไทยมาก เพราะมีประเด็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันได้เลยแม้แต่น้อย เพราะปัญหาที่แท้จริงก็เกิดจากกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์ระหว่างรัฐ และทุนที่ส่งผ่านความต้องการไปที่นายหน้าทั้งคนไทย และคนต่างชาติร่วมมือกัน

.

ประเด็นเหล่านี้ รัฐบาลไทยเองก็ทำพยายามที่จะแก้ไขปัญหา ซึ่งก็ต้องไปขัดกับผลประโยชน์แอบแฝงมหาศาล มีผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหน้า เบื้องหลังมากมาย และนี้คือปัญหาความมั่นคงของชาติที่แท้จริง แต่รัฐไม่พยายามจัดการ เพราะบางเรื่องมีม่านบังตาซ่อนไว้

.

 วันนี้ ปรากฏการณ์ที่เห็นตรงหลายประเด็นกับเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ในมุมของหน่วยงานที่ทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิคือ รัฐยังไม่มีกลไกการคุ้มครองสิทธิแรงงานที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากนัก ว่ากันง่ายๆ คือ แรงงานข้ามชาติยังเป็นผู้ถูกกระทำโดยรัฐ และผู้มีทุนเป็นอำนาจใหญ่ คอยกำกับ ควบคุม และมองการเข้าไม่ถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติ และครอบครัวเป็นเรื่องปกติวิสัยไป

.

แต่ภาพที่เห็นตรงกันของรัฐ ทุน และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิคือ รัฐเองก็ไม่สามารถจัดระบบฐานข้อมูลที่ได้มาตรฐาน ไม่สามารถป้องกันระบบการคอรัปชั่นนอกระบบได้ การจัดทำระบบเอกสารเกือบทุกอย่างของรัฐ กลุ่มนายหน้าจะมาอิงแอบ เก็บผลประโยชน์ผลประโยชน์และเข้ามามีอิทธิพลต่อแรงงานข้ามชาติ แม้กระทั่งตัวนายจ้างเอง ยังถูกกระบวนนายหน้าหลอกเอาเงินเอาทองไปก็มี

 

ในบางจังหวัด เช่น สมุทรสาคร มีแรงงานข้ามชาติที่หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายจำนวนมาก ก็ปวดหัว ไม่รู้จะบริหารจัดการอย่างไร การจับกุมผลักดันกลับประเทศต้นทาง แทบจะไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาเลย เพราะอย่างไรแรงงานก็หวนกลับมาดังเดิม กลับเป็นเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มที่กระทำต่อแรงงานข้ามชาติ แบบมีเงื่อนไขต่อรอง นั่นคือ เงินเท่านั้นที่จะให้เสรีภาพแก่แรงงานข้ามชาติได้ไม่ยาก เมื่อแรงงานข้ามชาติเข้ามาเพราะความต้องการแรงงานสูงในภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมง ผู้ประกอบการมีทางเดียวที่เสนอกับรัฐว่า ต้องการเอาแรงงานข้ามชาติขึ้นมาบนดิน เสนอแล้วเสนอเล่าแต่ไม่ได้ผล

.

ทางหน่วยงานพัฒนาเอกชนก็มองเห็นว่า สภาวะปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ มีทางหนึ่งที่พอจะช่วยให้หลายๆ ฝ่ายได้ประโยชน์จากการบริหารจัดการคือ การเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติที่มีอยู่จริง ทำงานจริง มีนายจ้างที่เป็นจริง มาจดทะเบียนให้ถูกต้อง แต่เงื่อนไขที่รัฐต้องวางเงื่อนสำคัญคือ นายจ้างต้องทำระบบการจัดการดูแล คุ้มครองแรงงาน กระทั่งมองไปถึง ต้องมีการจัดทำสัญญาจ้างงานแบบเป็นธรรม และมีไตรภาคีที่มาดูจริงจังมากขึ้น สามารถตรวจสอบการบริหารการจ้างงานได้ และรวมถึงการมีกลไกคุ้มครองที่ชัดเจนมากกว่านี้

.

ในห้วง 10 กว่าปี แรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร ผ่านการบริหารจัดการของพ่อเมืองหลายต่อหลายคน ได้พบเห็นปัญหาต่างๆ ข้างต้นมามากพอควร มีรูปแบบการบริหารจัดการที่ดีบางเรื่องก็น่าชมเชย เช่น ความพยายามที่จะให้แรงงานข้ามชาติที่ถูกและผิดกฎหมายเข้าถึงบริการสุขภาพอนามัย การเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาของเด็กต่างชาติ เด็กไร้สัญชาติ การป้องกันการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย การป้องกันการค้ามนุษย์ เป็นต้น

.

อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงสิทธิเหล่านั้นกำลังเป็นพัฒนาการ และการเป็นรูปแบบนำร่องที่จะให้มองเห็นถึงการไม่นิ่งดูดายของรัฐ และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ในที่สุดแล้ว เราก็พบว่า เหตุแห่งอคติ หรือมองแรงงานข้ามชาติคือความเป็นอื่น ความเป็นคนนอกสังคมไทย เป็นด่านแรกที่เป็นอุปสรรคต่อการคิดตัดสินใจของฝ่ายบริหาร ในการคิดการบริหารจัดการในมิติคุ้มครองแรงงาน และเหตุแห่งความไม่กล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงการจัดการตรงไปตรงมาให้ครบถ้วนในมิติทั้งสามด้าน

.

มิติความมั่นคงแห่งรัฐ ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงของมนุษย์ที่มีฐานรากแห่งมนุษย์นิยม ความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ วันนี้ โดยตาชั่งของภาพที่มองเห็นในสถานการณ์เช่นนี้ คือการเอนเอียงของรัฐ ผสมอคติเชิงชาติพันธ์ ภาษา และวัฒนธรรมรากเหง้าที่มาของแรงงาน แรงงานข้ามชาติถูกกระทำเป็นดั่งข้าวของ เป็นสินค้าที่สามารถโยกย้ายถ่ายเท ไปที่ใดที่หนึ่งได้โดยไม่ต้องทำให้ถูกกฎหมายบ้านเมือง

.

 

.

"จังหวัดสมุทรสาคร" เป็นเมืองที่เติบโตทางด้านเศรษฐกิจ เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ มีสินค้าแปรรูปอาหารที่ส่งออกไปนานาประเทศ โดยเฉพาะอเมริกา ประเทศยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น สมุทรสาครจึงเป็นที่มักถูกกล่าวขานว่า มีการใช้แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะสัญชาติพม่า เชื้อชาติมอญ กระเหรี่ยง ทะวาย ฯลฯ จำนวนมาก และเป็นจังหวัดที่ถูกจับจ้องมองดูการบริหารจัดการจากในและต่างประเทศ ว่ามีการใช้แรงงานของผู้ประกอบการในรูปแบบไหน ลักษณะใด มีการละเมิดสิทธิแรงงานถึงขั้นรุนแรงแค่ไหน

.

อย่างไร หากพูดถึงตอนนี้ เชื่อมั่นว่า ผู้ประกอบการหลายรายพยายามหาทางออกที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการใช้แรงงาน แต่ก็เชื่อว่า มีผู้ประกอบการหลายรายขาดความตระหนัก และความรับผิดชอบในฐานะผู้ผลิตอาหารต้นทางสู่ครัวโลก ในเมื่อต้นทางการผลิตมาจากมือไม้ของแรงงานข้ามชาติ หากนายจ้างไม่ปรับการบริหารจัดการตนเองอย่างเป็นระบบในสายพานการผลิตตั้งแต่ กิจการตามบ้าน ล้ง โรงงานขนาดเล็ก และโรงงานขนาดกลาง ที่เป็นระบบเหมาช่วงแรงงาน หรือ Sub- Contractor ผู้ซื้อรายใหญ่จะเข้ามาตรวจสอบคุณภาพการผลิต

.

สภาพการใช้แรงงาน การจัดจ้างที่เป็นธรรม การคุ้มครองแรงงานตามที่กฎหมายไว้ หากปรากฏว่า สมุทรสาครมีบางโรงงาน หรือล้ง บางแห่งมีการละเมิดสิทธิแรงงาน การใช้แรงงานเยี่ยงทาส การบังคับใช้แรงงาน การค้ามนุษย์ ก็จะทำให้ภาพลักษณ์ในสายตาชาวโลก หวาดหวั่นว่า สินค้าที่ตนเองซื้อไปบริโภคเป็นเรี่ยวแรงที่เกิดจากแรงงานบังคับ ประเทศไทยอาจต้องถูกมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งจากผู้รับสินค้าไป

.

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สมุทรสาครมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ทั้งภาครัฐ และเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องด้านสิทธิแรงงาน พบว่า มีโรงงานอย่างน้อย 2 แห่ง มีพฤติการณ์การใช้แรงงานบังคับ ค้ามนุษย์ กักขังหน่วงเหนี่ยว ไร้ซึ่งอิสรภาพ มีกระบวนการนายหน้าต่างชาติร่วมกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์ และอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ประกอบการ

.

กรณีเช่นนี้ ถือว่าเป็นกรณีตัวอย่างที่จะทำให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ หาแนวทาง หรือรูปแบบที่ดีในการบริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ และการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันในภูมิภาค และจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย

.

อย่างไรก็ตาม "สมุทรสาคร" กำลังกลายเป็นภาพที่ฉายการนำร่องหลากหลายเรื่องราวทั้งในแง่ดี และไม่ดี หน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้องได้พยายามลงมาหาแนวทางการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อแรงงาน ข้ามชาติ และต่อหน่วยงานในระดับปฏิบัติให้มีศักยภาพความสามารถในการป้องกัน เยียวยาแก้ไขปัญหา แต่ก็อดห่วงไม่ได้ว่า

.

หากวันนี้ นายจ้าง ผู้ประกอบการ และกระทั่ง นายหน้าที่เอาเปรียบแรงงาน ไม่ปรับตนเองเสียแล้ว และไม่ได้คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน ของแรงงานที่ประหนึ่งเขาเข้ามาด้วยหลากหลายสาเหตุปนกัน ในจำนวนนั้นคือ ความข้นแค้นยากจน เราไปเหยียบกระทำซ้ำ ละเลยความเป็นคน ไม่นานไม่ช้าเศรษฐกิจไทยที่สร้างบนฐานรากเรี่ยวแรงงาน จะถูกวิพากษ์ ถูกตัดสิทธิการค้าการขายระหว่างประเทศไป ประเทศไทยจะทำอย่างไรดีหนอ ลองถามหาอนาคตเศรษฐกิจไทยต่อไปดู

.

โดย สมพงค์ สระแก้ว
เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)
ที่มา : www.thaingo.org