เนื้อหาวันที่ : 2008-06-16 09:04:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1353 views

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดราคาเหล็กครึ่งหลังปี 51 ยังทรงตัวในระดับสูง

ทิศทางราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กช่วงครึ่งหลังของปี 51 อาจยังมีความผันผวนและทรงตัวในระดับสูง จากปัจจัยหลายตัวที่ยังส่งผลให้ราคาเหล็กเพิ่มสูงขึ้น เชื่อราคาจะไม่เพิ่มขึ้นมากดังเช่นที่ผ่านมาเพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลกดดันต่ออุปสงค์เหล็ก

.

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าทิศทางราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กช่วงครึ่งหลังของปี 51 อาจยังมีความผันผวนและทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากปัจจัยหลายตัวที่ยังส่งผลให้ราคาเหล็กเพิ่มสูงขึ้น แต่เชื่อว่าระดับราคาจะไม่เพิ่มขึ้นมากดังเช่นที่ผ่านมาเพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังส่งผลกดดันต่ออุปสงค์เหล็กในระดับหนึ่งอยู่

.

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เช่น ราคาถ่านหิน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการผลิตเหล็กมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากภาวะอุปทานตึงตัวและอาจกินเวลานานถึง 18 เดือนนับจากนี้, ราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนหลักของการขนส่งยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงและมีโอกาสขึ้นไปได้อีก, อุปสงค์ของจีนที่เร่งตัวขึ้นหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ที่ทำให้จีนจำเป็นต้องใช้เหล็กจำนวนมากในการก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารและสาธารณูปโภคต่าง รวมทั้งภาวะการเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งมีผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น

.

ขณะที่ปัจจัยที่อาจส่งผลให้ราคาเหล็กลดลงได้นั้น อาจจะมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคที่ชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 51 ทั้งจากภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในหลายประเทศ ส่งผลกระทบต่อการลงทุนที่อาจชะลอตัวลง ซึ่งไทยเองยังต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงของเสถียรภาพของรัฐบาลซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้อุปสงค์เหล็กมีแนวโน้มชะลอตัวลงด้วย

.

"ไทยไม่มีอุตสาหกรรมผลิตเหล็กต้นน้ำในประเทศ จึงจำเป็นต้องนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตต่อในขั้นกลางและขั้นปลาย ทำให้ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาเหล็กในตลาดโลกโดยตรง ซึ่งความผันผวนนี้เป็นผลมาจากแรงหนุนทั้งด้านบวกและด้านลบ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

.

สำหรับผลต่อธุรกิจไทยนั้น คาดว่าราคาเหล็กที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงครึ่งหลังของปี จะส่งผลต่อต้นทุนของหลายธุรกิจ โดยเฉพาะในหมวดก่อสร้างซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้นมากทั้งต้นทุนสินค้าเหล็กและต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้นแนวทางหนึ่งที่อาจจะบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้ คือ การวางแผนร่วมกันทั้งทางภาครัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินถึงทิศทางแนวโน้มของราคา และเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถวางแผนล่วงหน้าในการรองรับปัญหาราคาสินค้าเหล็กที่สูงขึ้นดังกล่าว