เนื้อหาวันที่ : 2008-06-12 15:41:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 17632 views

สหวิริยาสตีล คาดเริ่มลงทุนโรงถลุงเหล็กรวม 9 หมื่นลบ.ภายในปีนี้ หลังรัฐหนุน

สหวิริยาสตีล คาดเริ่มลงทุนจัดตั้งโรงถลุงเหล็กแห่งใหม่ที่มีมูลค่าลงทุนประมาณ 9 หมื่นล้านบาทภายในปีนี้ หลังจากรัฐมีท่าทีที่ชัดเจนสนับสนุน อ้อนเจรจากับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีนขอรับการสนับสนุนด้านการเงิน เพราะซื้อเครื่องจักรจากจีน

ภาพประกอบ www.ebdailynews.com

.

สหวิริยาสตีล คาดว่าบริษัทจะเริ่มลงทุนจัดตั้งโรงถลุงเหล็กแห่งใหม่ที่มีมูลค่าลงทุนประมาณ 9 หมื่นล้านบาทภายในปีนี้ หลังจากรัฐมีท่าทีที่ชัดเจนในการสนับสนุนโครงการดังกล่าว โดยบริษัทจะมีการเจรจากับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีนเพื่อขอรับการสนับสนุนด้านการเงิน เนื่องจากภายใต้โครงการดังกล่าวจะต้องมีการสั่งซื้อเครื่องจักรจากผู้ผลิตในประเทศจีน

.

ส่วนการเจรจาเพื่อเข้าซื้อหุ้นในบริษัท เหล็กแผ่นรีดเย็นไทย (TCRSS) เพิ่มเติมนั้น คาดว่าจะได้ช้อสรุปภายในไตรมาส 3/51 ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังผลิตรวมของบริษัทในปีนี้

.

นายวิน วิริยประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ SSI เปิดเผยว่า บริษัทจะมีการยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ใหม่ เพื่อสร้างโรงงานถลุงเหล็ก และครั้งนี้จะเป็นขอรวมสิทธิประโยชน์ท่าเรือด้วย โดยโรงถลุงเหล็กคาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุน 9 หมื่นล้านบาท กำลังการผลิต 5 ล้านตัน/ปี

.

"อยากให้ภาครัฐเร่งพิจารณาและอนุมัติเพราะโรงถลุงเหล็กถือว่ามีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมเหล็ก และที่ผ่านมาก็มีความล่าช้ามานานแล้ว นอกจากนี้การมีโรงถลุงเหล็กจะช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะวัตถุดิบขาดแคลน เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังต้องนำเข้าเหล็ก โดยหากดูตัวเลขการนำเข้าเหล็กคุณภาพสูงในปีนี้สูงถึง 2-3 แสนล้านบาท จาก 1.77 แสนล้านบาท" นายวิน กล่าว

.

อย่างไรก็ตาม หากบีโอไอ สามารถอนุมัติโครงการดังกล่าวได้เร็ว ก็เชื่อว่าจะสามารถก่อสร้างได้ทันภายในปีนี้ โดยสัดส่วนการลงทุนจะใช้หนี้สินต่อทุน 2:1 และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีน เพื่อให้การสนับสนุนในการกู้เงินซื้อเครื่องจักร

.

นายวิน กล่าวต่อว่า ราคาเหล็กที่ปรับเพิ่มขึ้นมาจากน้ำมันและค่าขนส่ง ทำให้ปรับขึ้นสอดคล้องกับต้นทุน ขณะที่ความต้องการใช้ทั้งในและต่างประเทศ  แต่ยอมรับว่าเป็นภาระต่อผู้บริโภค แต่หากทางการจีนและอินเดียมีความต้องการใช้เพิ่มอีกอาจทำให้ผลิตไม่ทันความต้องการ ก็จะเกิดการตึงตัว และต้องขยายการลงทุน

.

เพราะฉะนั้นการลงทุนถือเป็นเรื่องสำคัญตอนนี้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ที่นโยบายรัฐที่ต้องสนับนุน เพราะการลงทุนดังกล่าวใช้ระยะเวลานานและเม็ดเงินลงทุนสูง  ปัญหาเหล็กที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการงานโครงการมีการสั่งซื้อเหล็กล่วงหน้ามากขึ้น จึงเกิดดีมานด์เทียม แต่ได้มีการปรับโดยให้ลูกค้าสั่งซื้อระยะสั้นเพื่อลดปัญหา แต่ในระยะยาวควรมีโครงการเหล็กต้นน้ำเพื่อแก้ปัญหา

.

ส่วนการซื้อหุ้น TCRSS เพิ่มนั้น นายวิน คาดว่า จะจบดีลได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้  ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนและรีดเย็นสูงขึ้น ทำให้มีกำลังและสามารถต่อยอดในการทำธุรกิจได้ ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะศึกษาการลงทุนในธุรกิจเหล็กแผ่นเคลือบ  เพื่อเป็นปลายน้ำจากแผ่นรีดเย็น และมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันไทยนำเข้าเหล็กแผ่นเคลือบทุกประเภทในปริมาณที่สูง 1.5 ล้านตัน/ปี เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้ไทยเสียดุลการค้าปีละประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

.

หากพิจารณาจากความต้องการใช้ภายในประเทศ ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก นอกจากนี้ ยังมีการคุยถึงการทำธุรกิจเหมืองแร่ เพื่อหาพันธมิตร ทั้งออสเตรเลีย บราซิล และ แอฟริกา ซึ่งจะเป็นเหมืองที่ขยายการผลิต ไม่มีปัญหาในเรื่องวัตถุดิบ

.

นายวิน กล่าวถึงผลประกอบการในปีนี้ว่า คงมีลักษณะการเติบโตไปเรื่อยๆ และดีกว่าปีก่อนแน่นอน เนื่องจากการที่บริษัทเน้นขายเหล็ก ไฮ-เกรด ที่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องและไม่มีความผันผวนจึงได้รับผลดี และ รายได้ครึ่งหนึ่งมาจากสินค่าดังกล่าวด้วย

.

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2 น่าจะปรับตัวดีต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก เพราะตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ราคาเหล็กปรับขึ้นมา 50% จากต้นทุนนำเข้าเหล็ก และจากความต้องการเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สต็อคเหล็กในประเทศ ถือว่าไม่สูง แต่เพียงพอในการใช้อยู่ โดย SSI ลดระยะเวลาสต็อกวัตถุดิบให้น้อยที่สุด ทำให้ลดการใช้เงินทุนหมุนเวียนได้เร็วและ บริษัทมีฐานะการเงินแข็งแกร่งกว่ารายอื่น โดยมี D/E อยู่ที่ 0.3 เท่า

.

นายวิน กล่าวว่า ที่ผ่านมามีกองทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึง Hedge Fund เข้ามาเจรจากับบริษัทซึ่งสนใจที่จะเข้ามาร่วมทุนสอดคล้องกับกระแสตอนนี้ที่ธุรกิจเหล็กจะมีการควบรวมกัน แต่โดยส่วนตัวสนใจ Private Equity มากกว่า เพราะลงทุนในระยะยาวและต่อเนื่อง อีกทั้งพฤติกรรมของ Private Equity เป็นการลงทุนในระยะ 5-7 ปี

.

"พันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมทุนวต้องพิจารณาว่าบริษัทที่จะเข้ามาจะมาสร้าง value อย่างยั่งยืนให้บริษัทได้หรือไม่ รวมถึง ปรัชญาในการทำงานด้วยว่ามีมุมมองในธุรกิจเหล็กอย่างไร" นายวินกล่าว

.

นายวิน กล่าวถึงภาพของกลุ่มเหล็กในตลาดฯ ว่า ถือว่าให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดหุ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาและยังให้เงินปันผลสม่ำเสมอ โดยได้มีการคุยกับตลาดฯ ในการแยกหมวดเหล็กออกมา แต่การที่เหล็กมีหลายประเภทเลยทำได้ยาก แต่เชื่อว่าการที่อุตสาหกรรมเหล็กมีการเติบโตได้ดี เชื่อว่านักลงทุนจะหันมาลงทุนกลุ่มเหล็กหลังจากนี้ โดยหวังว่าจะมีเม็ดเงินจากกลุ่มพลังงานไหลเข้ามาหุ้นกลุ่มเหล็ก