เนื้อหาวันที่ : 2008-06-12 10:57:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2414 views

นักลงทุนเผ่นหนีม็อบประท้วงในไทยยึดเยื้อ วิ่งหาเวียดนามเจอวิกฤติเศรษฐกิจถอยตั้งหลัก

ประสาร ห่วงปัญหาการเมืองขวางเงินทุนไหลเข้าไทยหลังเวียดนามเผชิญวิกฤติและมีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนจะเบนความสนใจมาลงทุนในประเทศไทยแทน เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยดีกว่าเวียดนาม เพียงแต่ติดที่ขณะนี้ไทยยังมีปัจจัยเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่นิ่ง

ประสาร ห่วงปัญหาการเมืองขวางเงินทุนไหลเข้าไทยหลังเวียดนามเผชิญวิกฤติและมีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนจะเบนความสนใจมาลงทุนในประเทศไทยแทน เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยดีกว่าเวียดนาม เพียงแต่ติดที่ขณะนี้ไทยยังมีปัจจัยเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่นิ่ง

.

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) เห็นว่า จากวิกฤติทางเศรษฐกิจในเวียดนามอาจจะทำให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการตัดสินใจเข้าไปลงทุนในเวียดนาม และมีความเป็นไปได้ที่นักลงทุนจะเบนความสนใจมาลงทุนในประเทศไทยแทน เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยดีกว่าเวียดนาม เพียงแต่ติดที่ขณะนี้ไทยยังมีปัจจัยเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่นิ่ง อาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้เงินลงทุนไม่เคลื่อนย้ายเข้ามาในระยะนี้

.

"ที่ผ่านมาเวียดนามเป็นคู่แข่งไทย มองผิวเผินถ้าเงินทุนต่างประเทศไม่เข้าเวียดนาม จะมาไทยไหม ถ้าปัจจัยในประเทศเราเรียบร้อยดีเราก็น่าจะได้ประโยชน์ แต่บังเอิญมีปัจจัยแทรกซ้อนเรื่องอื่น เช่นการเมือง อาจทำให้เงินทุนไม่เข้ามาไทยทันที ตอนนี้ทุนสำรอง(ของไทย)ค่อนข้างมาก ปริมาณหนี้ต่างประเทศค่อนข้างต่ำ อัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่นกว่าเก่า" นายประสาร กล่าวในรายการวิทยุเช้านี้

.

พร้อมเชื่อว่า จากสถานการณ์ของเวียดนามจะไม่ส่งผลรุนแรงและลุกลามไปทั่วภูมิภาคดังเช่นวิกฤติต้มยำกุ้งของไทยในปี 40 เนื่องจากขณะนี้หลายประเทศในภูมิภาค รวมถึงไทย มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง เห็นได้จากหนี้ต่างประเทศที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่ก็อาจมีประเทศในภูมิภาคที่อาจได้รับผลกระทบบ้าง คือ อินโดนีเซีย ปากีสถาน และเกาหลี เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีปริมาณหนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับที่สูง

.

"ไม่น่าจะรุนแรงเหมือนขณะนั้น(ปี 40) ในเรื่องที่จะระบาด เพราะประเทศต่างๆ เช่น ไทยเวลานี้ปริมาณหนี้ต่างประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับทุนสำรองฯ ก็ลดลงค่อนข้างมาก ในภูมิภาคนี้คงมีเพียงอินโดนีเซีย ปากีสถาน เกาหลี ที่มีหนี้ต่างประเทศเยอะ" นายประสาร กล่าว

.

สำหรับอัตราเงินเฟ้อของไทยที่มีแนวโน้มจะเร่งตัวขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก ซึ่งทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกมาส่งสัญญาณว่าจะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ จนทำให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์กังวลว่าจะเกิดปัญหาฟองสบู่แตกเหมือนในปี 40 นั้น นายประสาร กล่าวว่า ขึ้นกับมุมมองต่อภาวะฟองสบู่ แต่เชื่อว่าระดับความรุนแรงคงไม่เทียบเท่าในปี 40

.

พร้อมเห็นว่า การใช้วิธีปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อสูงนั้นคงไม่ใช่ทางออกที่ถูกนัก เพราะการที่เงินเฟ้อในไทยสูงขึ้นมากมีผลมาจากปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะราคาน้ำมัน ซึ่งไม่ใช่ปัจจัยด้านอุปสงค์

.

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัญหาในเชิงโครงสร้างที่พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญของการประหยัดพลังงาน และใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย ดังนั้น ทางแก้ที่เหมาะสมคงไม่ใช้การใช้นโยบายการเงินการคลังแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการรณรงค์ให้เกิดการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งน่าจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดกว่า

.

"ถ้าจะแก้ให้ถูก ต้องอาศัยนโยบายด้านอื่นประกอบ จะอาศัยเฉพาะนโยบายการเงินการคลังไม่ได้ เพราะมีไว้ใช้แค่ช่วงสั้น ไม่ใช่มีไว้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง...แต่ถ้าจะตั้งเป้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อ ผมคิดว่ากรณีนี้ไม่ใช่ ต้องมาคิดถึงเรื่องการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ การประหยัดพลังงานจะแก้ตรงจุดกว่า"นายประสาร กล่าว ทั้งนี้ ยังมองว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยในปีนี้คงจะไม่ขึ้นไปถึง 2 หลัก ตามที่มีหลายฝ่ายกังวล