เนื้อหาวันที่ : 2008-06-11 19:55:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1124 views

ธปท.แนะใช้เวียดนามเป็นบทเรียนพิสูจน์เสถียรภาพสำคัญกว่า ศก.โตก้าวกระโดด

ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามในขณะนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ที่ชัดเจนให้กับไทย โดยชี้ให้เห็นว่าการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจสำคัญกว่าการเจริญเติบโต เพราะช่วงที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มักพูดว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าสู่เวียดนามไม่ได้

นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเวียดนามในขณะนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ที่ชัดเจนให้กับไทย โดยชี้ให้เห็นว่าการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจสำคัญกว่าการเจริญเติบโต เพราะช่วงที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มักพูดว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าสู่เวียดนามไม่ได้

.

ดังนั้น เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดมากเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดี เพราะผลพวงก็คืออัตราเงินเฟ้อของเวียดนามที่ขยายตัวถึง 25% สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ รวมถึงเงินทุนที่ไหลเข้ามาในตอนแรก ซึ่งหากเศรษฐกิจไม่แข็งแรงจริงก็ต้องไหลกลับออกไป เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือควรเติบโตด้วยความพอเพียงอย่างยั่งยืน

.

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่อาจจะเกิดตามมาจากปัญหาเศรษฐกิจเวียดนามและลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ คือ ความเชื่อมั่น หากนักลงทุนเกิดความวิตกกังวลว่าปัญหาอาจจะขยายตัวได้ แต่ตัวพื้นฐานของปัญหาจริงๆ ไม่น่าจะทำให้สถานการณ์ลุกลามเช่นเดียวกับช่วงวิกฤตปี 2540 เพราะภาวะเงินทุนไม่ได้ไหลเข้า-ออกในปริมาณที่สูงมากเช่นในอดีต อีกทั้งเงินทุนที่เข้าไปในเวียดนามส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI)ไม่ใช่เงินทุนระยะสั้น ขณะเดียวกันปัญหายังได้รับการแก้ไขโดยอย่างรวดเร็ว

 

.

 

สำหรับเศรษฐกิจจีนแม้ในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวสูงมากแต่อัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 8% ถือว่าไม่สูงมาก ประกอบกับทางการจีนดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวเพราะระวังเรื่องความร้อนแรงของเศรษฐกิจมากพอควร อีกทั้งเงินสำรองระหว่างประเทศมีจำนวนสูงมาก จึงทำให้นักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นแตกต่างจากเวียดนามที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศไม่มากนัก

.
นางอมรา กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ได้ส่งสัญญาณแล้วว่าหากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นก็จำเป็นต้องดูแลให้อยู่ในระดับที่สมดุล แต่สิ่งที่เป็นกังวลคือ การคาดการณ์ของคนที่มองว่าผลตอบแทนของเงินฝากอยู่ระดับต่ำ จนอาจทำให้ไปเร่งซื้อสินทรัพย์อื่นเพิ่มขึ้นมากๆ แทนการออมเงิน เช่น การซื้ออสังหาริมทรัพย์ จนมีโอกาสที่จะเกิดภาวะฟองสบู่ขึ้นได้
.

นอกจากนี้ หากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำมากจะทำให้คนสนใจลงทุนและกู้มากขึ้นจนนำไปสู่การลงทุนในสิ่งที่ไม่จำเป็นและไม่มีคุณภาพ และในปีนี้มีโอกาสเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้ออาจจะขยายตัวเป็นเลขสองหลัก เนื่องจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้วประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจนทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวทั่วโลก