เนื้อหาวันที่ : 2008-06-11 07:59:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1194 views

เอกชนห่วงปัญหาน้ำมันพุ่งไม่หยุดสีสิทธิทะลุ 50 บาท/ลิตรกระทบหนักศก.ไทย

ปัญหาน้ำมันแพงยิ่งทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงไปอีก โรงงานขนาดเล็กหลายแห่งในต่างจังหวัดเริ่มมีการปิดกิจการ น้ำมันแพงคงทำให้เศรษฐกิจชะงัก เพราะคนไม่กล้าซื้อของ ไม่ดุเดือดเหมือนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า หากประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบัน เอกชนมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะแตะระดับ 50 บาทต่อลิตร จึงอยากให้ภาครัฐเร่งหารือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อหาแนวทางรองรับไว้ล่วงหน้าเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น  โดยเฉพาะผลกระทบกับต้นทุนการขนส่งสินค้า เช่น การจัดตั้งกองทุนปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เอ็นจีวี เพราะขณะนี้รถบรรทุกสินค้าส่วนใหญ่ยังใช้น้ำมันอยู่ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเสนอที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) จะเสนอต่อนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม         

.

ปัญหาน้ำมันแพงยิ่งทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงไปอีก จากที่ลดลงอยู่แล้ว ร้านค้า ห้างสรรพสินค้ายอดขายลดลงมาก โดยเฉพาะสินค้าประเภทเสื้อผ้า เครื่องสำอาง โรงงานขนาดเล็กหลายแห่งในต่างจังหวัดเริ่มมีการปิดกิจการ เช่น โรงงานเฟอร์นิเจอร์ เพราะนอกจากเจอปัญหาน้ำมันแพงแล้ว ยังมีการแข่งขันจากเวียดนาม ล่าสุดประมงชายฝั่งภาคใต้ก็หยุดเดินเรือ ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่นั้นยังพออยู่ได้ ไม่มีการปิดกิจการ แต่ยอดขายสินค้าในประเทศลดลงมาก จึงชะลอการลงทุนขยายโรงงานออกไปก่อน

.

"น้ำมันแพงคงทำให้เศรษฐกิจชะงัก เพราะคนไม่กล้าซื้อของ แต่คงจะไม่ดุเดือดเหมือนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ส่วนเรื่องเงินบาทที่อยู่ในระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เอกชนรับได้ แต่เรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น อยากให้รัฐบาลพิจารณาให้รอบคอบ หากจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ เพราะเงินเฟ้อไม่ได้เกิดจากประชาชนใช้จ่ายมากเกินไป แต่เกิดจากต้นทุนล้วน ๆ ยิ่งปรับขึ้นกำลังซื้อประชาชนก็จะยิ่งลดลง ซึ่งจะกระทบกับการลงทุนด้วย" นายสันติ กล่าว

.

นายสันติ กล่าวว่า สำหรับมาตรการการแจกคูปองส่วนลดราคาสินค้าของรมว.คลังเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องชัดเจนว่าจะช่วยกลุ่มไหน ระดับใด จะแลกคูปองได้ที่ใด ซึ่งอยากให้ภาครัฐเจรจากับผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ เพื่อให้เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้มีสินค้ามากขึ้น และราคาที่จะลดก็ต้องประมาณร้อยละ 25-30 ไม่เช่นนั้นไม่จูงใจ

.

ขณะที่ นายธนิต โสรัตน์  รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสายงานโลจิสติกส์ ส.อ.ท.กล่าวว่า หากประเมินจากภาวะราคาน้ำมันในปัจจุบัน มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ราคาน้ำมันจะทะลุ 50 บาทต่อลิตรในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งจะกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการ เพราะน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนของต้นทุนถึง 37.15% หรือน้ำมันที่ขึ้นทุก 1 บาท ส่งผลต่อต้นทุนขนส่ง 4.35%

.

นอกจากนี้ยังส่งผลให้ราคาวัตถุดิบปรับขึ้น ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะหากน้ำมันดีเซลไปถึง 50 บาท จะมีผลกระทบที่รุนแรงเกินกว่าที่เอสเอ็มอี และภาคการผลิตของไทยรับมือได้ และจะกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งทางสังคม การเมืองที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่อ่อนแอต้องปิดตัวลง

.

นายธนิต กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอที่จะเสนอให้ภาครัฐพิจารณาแก้ปัญหาผลกระทบน้ำมันแพงของภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่งประกอบด้วย ขอให้รัฐมีการจัดตั้งกองทุนปรับเปลี่ยนเอ็นจีวี(เอ็นจีวี ทรานสปอร์ต ฟันด์) จำนวน 20,000 ล้านบาท รองรับรถบรรทุกประมาณ 3.3 หมื่นคัน คิดอัตราดอกเบี้ย MLR- 2% ระยะเวลา 3 ปี ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นคนปล่อยกู้พร้อมกันนี้ยังเสนอให้รัฐบาลตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้และ ทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องพลังงานนิวเคลียร์และถ่านหิน ไม่เช่นนั้นอีก 10 ปีข้างหน้า ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยจะสู้เพื่อนบ้านไม่ได้

.

นางศรีวรรณ เอี่ยมรุ่งโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และแผนกลยุทธ์ บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า หากราคาน้ำมันในประเทศ 50 บาทต่อลิตร นั่นหมายความว่าราคาน้ำมันดิบจะต้องปรับขึ้นอีกประมาณ 20 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล โดยราคาน้ำมันขายปลีกที่ขายในปัจจุบันนี้ในส่วนของดีเซลค่าการตลาดติดลบถึง 2 บาท/ลิตร ส่วนเบนซินได้ค่าการตลาดเพียง 70 สตางค์เท่านั้น ในขณะที่ค่าการกลั่นทางโรงกลั่นฯ ก็ไม่ได้กำไรสูง เพราะค่าการกลั่นเฉลี่ยได้เพียง 5.4 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ 1.10 บาท/ลิตรเท่านั้น

.

โรงกลั่นยังมีภาระขาดทุนต่อกรณีการขายน้ำมันเตาและก๊าซหุงต้มที่ปัจจุบันนี้ขายก๊าซหุงต้มต่ำกว่าตลาดโลกถึง 500 ดอลลาร์/ตัน และจากที่ประเทศไทยอุดหนุนก๊าซหุงต้ม ทำให้ยอดการใช้เติบโตอย่างมากถึง 15% เป็นการเติบโตภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ 30-50%, อุตสาหกรรม 20% และบ้านเติบโต 10% จากเดิมเติบโตเพียง 2-3% แสดงว่าการลักลอบไปจำหน่ายประเทศเพื่อนบ้านมีอยู่ต่อเนื่อง

.

นางศรีวรรณ กล่าวว่า หากเป็นเช่นนี้ต่อไปคาดว่าปีนี้ไทยต้องนำเข้าแอลพีจี 300,000 ตัน หรือเป็นเงิน 5,000 ล้านบาท, ปี 2552 ต้องนำเข้า 1 ล้านตัน เป็นเงินอุดหนุน 15,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะเข้ามาอุดหนุนในเรื่องนี้อย่างไร ส่วนเรื่องการนำเข้าพลังงานปีนี้คาดว่าจะสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท หรือ 15% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่นำเข้า มูลค่า 900,000 ล้านบาท หรือ 10% ของจีดีพี

.

"นโยบายของรัฐบาล คือจะขึ้นราคาก๊าซภาคขนส่ง-อุตสาหกรรมอีก 3 บาท/กก. หรือเท่ากับ 21 บาท/กก. แต่ก็คาดว่ายังไม่เพียงพอ เพราะยังต่ำกว่าราคาน้ำมันมาก โดยหากจะต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงก็น่าจะขึ้นอีก 10 บาท/กก. แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่นโยบายของรัฐจะดำเนินการอย่างไร" นางศรีวรรณ กล่าว