เนื้อหาวันที่ : 2008-06-10 18:02:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3241 views

จีเอ็มและเชฟโรเลต สร้างโอกาสเรียนรู้จริงด้านยานยนต์ ระดับมาตรฐานโลกแก่เยาวชนไทย

"โครงการศูนย์การศึกษาเทคโนโลยียานยนต์ในประเทศไทย" เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยในโครงการฯ จากวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม ได้เรียนรู้และฝึกงานจริงด้านวิชาช่างยนต์ ระดับเดียวกับมาตรฐานเชฟโรเลตทั่วโลก กับศูนย์บริการเชฟโรเลต มหาสารคาม พร้อมมุ่งพัฒนาทรัพยากรคุณภาพป้อนสู่อุตสาหกรรม ยานยนต์ไทย และสร้างศักยภาพในการแข่งขันระดับสากล

.

บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิด "โครงการศูนย์การศึกษาเทคโนโลยียานยนต์ในประเทศไทย" หรือ Automotive Service Educational Program in Thailand – ASEP Thailand ณ แผนกช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม โดยมี มร. สตีฟ คาร์ไลส์ ประธานกรรมการ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส เซาท์อีสต์เอเชีย โอเปอเรชั่นส์ จำกัด และ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชัยวัฒน์ รัฐขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม

.

และ อกนิษฐ์ คลังแสง ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมเปิดโครงการ ASEP Thailand อย่างเป็นทางการ โดยมีคณาจารย์ นักศึกษา สื่อมวลชนและแขกผู้มีเกียรติกว่า 400 คน พร้อมกันนี้ได้เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยในโครงการฯ จากวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม ได้เรียนรู้และฝึกงานจริงด้านวิชาช่างยนต์ ระดับเดียวกับมาตรฐานเชฟโรเลตทั่วโลก กับศูนย์บริการเชฟโรเลต มหาสารคาม พร้อมมุ่งพัฒนาทรัพยากรคุณภาพป้อนสู่อุตสาหกรรม ยานยนต์ไทย และสร้างศักยภาพในการแข่งขันระดับสากล

.

นอกจากการได้ศึกษาตามหลักสูตรในห้องปฏิบัติการที่ศูนย์การศึกษาเทคโนโลยียานยนต์ได้กำหนดไว้แล้วนั้น นักศึกษาโครงการ ASEP Thailand จะได้รับโอกาสเรียนรู้และปฎิบัติงานจริงในศูนย์บริการของเชฟโรเลตเป็นเวลา 6 วัน ต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน โดยนักศึกษาดังกล่าวจะได้เรียนรู้งานทางด้านรถยนต์ในทุกๆ ด้าน จากประสบการณ์จริง ตั้งแต่การพบปะกับลูกค้าเพื่อสอบถามถึงอาการของรถที่เข้าซ่อม การตรวจเช็คสภาพรถในเบื้องต้น การวิเคราะห์แก้ไขปัญหา ตลอดถึงการลงมือแก้ไขปัญหาจริง

.

ซึ่งตลอดระยะเวลาที่นักศึกษาเข้ารับการปฎิบัติงานนั้น จะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคของเชฟโรเลตคอยดูแลและให้คำปรึกษาในทุกขั้นตอน  การได้รับโอกาสเข้าปฎิบัติงานในศูนย์บริการเชฟโรเลตนั้น นอกจากจะเป็นการนำความรู้ทางทฤษฎีมาใช้ในการแก้ปัญหาจริง ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในรถยนต์มากยิ่งขึ้นแล้ว และยังเป็นการเพิ่มประสบการณ์ในการประกอบอาชีพในอนาคตอีกทางหนึ่ง

.

"ผมรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้สานต่อโครงการ ASEP จากจีเอ็ม ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้ฝึกงานกับศูนย์เชฟโรเลต เพื่อฝึกทักษะการแก้ปัญหาจากประสบการณ์จริงแล้ว นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ASEP Thailand ยังได้รับการคัดเลือกสู่ธนาคารข้อมูลการจัดจ้างงาน (Job Data Bank) ของจีเอ็ม เชฟโรเลต และเครือข่ายผู้จำหน่ายกว่า 100 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ และนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตของเยาวชนไทยต่อไป" มร.สตีฟ กล่าว

.

อกนิษฐ์ คลังแสง ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษา ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการ ASEP Thailand ว่า "โครงการ ASEP Thailand เป็นโครงการที่ส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยียานยนต์ในระดับทวิภาคีระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของเยาวชนไทยอย่างเต็มศักยภาพ อันจะนำไปสู่การผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของชาติอย่างต่อเนื่องต่อไป"

.

ธนากร สอนฮุ่ง หนึ่งในนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคามที่มีโอกาสฝึกงานจริงกับศูนย์จำหน่าย เชฟโรเลต มหาสารคาม เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับว่า "ผมรู้สึกดีใจมากที่ได้รับโอกาสการเรียนรู้ และเปิดโลกทัศน์ในการศึกษาด้านยานยนต์ การได้มีโอกาสปฎิบัติงานจริง ณ ศูนย์จำหน่าย เชฟโรเลต มหาสารคาม เป็นประสบการณ์ที่มีค่าอย่างยิ่งที่ไม่สามารถหาได้จากในห้องเรียน  ซึ่งไม่เพียงทำให้ผมได้เรียนรู้ทุกขั้นตอนของงานรถยนต์ และได้ฝึกทักษะการปัญหาจริงโดยนำความรู้ทางทฤษฎีมาประยุกต์ใช้

.

แต่ยังช่วยเสริมสร้างทักษะทางด้านการติดต่อสื่อสาร และประสานงาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ผมมั่นใจว่าประสบการณ์ที่ได้รับการจากปฎิบัติงานจริงที่ศูนย์จำหน่ายเชฟโรเลต มหาสารคาม จะช่วยเพิ่มทักษะและความชำนาญในด้านเทคนิคและการปฏิบัติงานการเป็นช่างยนต์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคตของผมได้อย่างประสบความสำเร็จต่อไป"

.

ทั้งนี้ โครงการ ASEP Thailand ภายใต้การสนับสนุนจากจีเอ็มและเชฟโรเลต จะจัดให้มีการฝึกอบรมความรู้ด้านยานยนต์ชั้นสูงโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคของบริษัทฯ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ แก่คณาจารย์จากสถาบันที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น 11 สถาบัน ที่เป็นศูนย์กลางของภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ อุบลราชธานี อุดรธานี มหาสารคาม นครราชสีมา พิษณุโลก นครสวรรค์ ชลบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา คาดว่าเมื่อเสร็จสิ้นหลักสูตรจะมีนักศึกษาที่ผ่านการฝึกอบรมสามารถเข้าทำงานในธุรกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์ มากกว่าร้อยละ 50 และจะสามารถผลิตบุคลากรคุณภาพด้านช่างยนต์ให้กับภูมิภาคและประเทศไทยได้ประมาณปีละกว่า 1,000 คน

.

.

นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคามเรียนรู้งานทางด้านรถยนต์จากประสบการณ์จริง โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคของเชฟโรเลตคอยดูแลและให้คำปรึกษาในทุกขั้นตอน

.

.

มร. สตีฟ คาร์ไลส์  (ที่ 3 จากขวา) ประธานกรรมการ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส เซาท์อีสต์เอเชีย โอเปอเรชั่นส์ จำกัด และ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ชัยวัฒน์ รัฐขจร (กลาง) รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม และ อกนิษฐ์ คลังแสง (ที่ 3 จากซ้าย) ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมยืนยันความร่วมมือด้านการศึกษายานยนต์ เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยให้เ็ป็นบุคลากรที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสากรรมยานยนต์้ต่อไป