เนื้อหาวันที่ : 2008-05-29 20:40:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1521 views

นักวิชาการนิด้า เตือนเศรษฐกิจไทยไม่พร้อมรับศึก 2 ด้าน พิษการเมือง-น้ำมันเร่งไฟวิกฤติรอบ 2

นักวิชาการนิด้า เตือนความขัดแย้งทางการเมืองซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย หวั่นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบ 2 ชี้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ ไม่พร้อมศึก 2 ด้านทั้งปัจจัยการเมืองและราคาน้ำมัน แนะทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันยุติความขัดแย้ง พร้อมจี้รัฐเร่งใช้นโยบายทางการเงินผ่อนคลาย ฟื้นเศรษฐกิจระยะยาว ยังมั่นใจเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังโตได้ 5.5-6% ตามเป้า

นักวิชาการนิด้า เตือนความขัดแย้งทางการเมืองซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย หวั่นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบ 2 ชี้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ ไม่พร้อมศึก 2 ด้านทั้งปัจจัยการเมืองและราคาน้ำมัน แนะทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันยุติความขัดแย้ง พร้อมจี้รัฐเร่งใช้นโยบายทางการเงินผ่อนคลาย ฟื้นเศรษฐกิจระยะยาว ยังมั่นใจเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังโตได้ 5.5-6% ตามเป้า

.

ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์ หรือ NIDA BUSINESS SCHOOL เปิดเผยว่า ในขณะนี้ เศรษฐกิจไทยมีหลายปัญหาที่เข้ามารุมเร้า จนส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยมีความอ่อนแอลง โดยยอมรับว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจะเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยจนอาจกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ได้

.

ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์

อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์

.

"ปัจจุบันปัญหาทางด้านพลังงานในเรื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลก ได้ปรับตัวสูงขึ้นถึง 150 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกิดความเสี่ยงต่อระบบโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่ไม่แข็งแรงเพียงพอ เนื่องจากระบบโครงสร้างสาธารณูปโภค ระบบขนส่งและโลจิสติสก์ยังไม่เพียงพอ ส่งผลให้ไทยยังต้องพึ่งพาการใช้น้ำมันเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเรื่องของเศรษฐกิจโลก ที่สหรัฐอเมริกายังมีความเสี่ยงจากการเสียหายของปัญหาซับไพร์มที่กำลังลุกลาม จนทำให้ปัจจุบันมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจแล้วกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และปัญหาดังกล่าวยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและของไทยด้วยเช่นกัน" ดร.วรพลกล่าว

.

ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ยังส่งผลให้ไทยสูญเสียโอกาสทางการแข่งขันและขาดโอกาสในการหาประโยชน์จากรายได้ในเรื่องของราคาพืชผลทางเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังจากมีการแย่งชิงพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงาน แม้ว่าที่ผ่านมาราคาข้าวจะปรับตัวสูงถึง 12,000 บาทต่อตัน แต่จากการขาดเสถียรภาพในการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ไม่สามารถรักษาระดับราคาข้าวไว้ในระดับสูง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวไว้ได้

.

อาจารย์ประจำ NIDA BUSINESS SCHOOL ยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาความขัดแย้งทางการเมืองได้ก่อให้เกิดการปฎิวัติ จนทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเกิดความชะงักงัน จากเดิมที่ไทยเคยโตปีละ 6% แต่ช่วงปี 2548-2550 ไทยมีการเติบโตเศรษฐกิจเพียง 4% ซึ่งต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และในครั้งนี้ หากความขัดแย้งทางการเมืองทวีความรุนแรงมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจร้ายแรงกว่าเมื่อ 3 ปีก่อน เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีปัจจัยในเรื่องของราคาน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเหมือนในปัจจุบัน

.

สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในวันนี้ ไม่พร้อมที่จะรับมือกับปัจจัยลบทางด้านการเมืองและวิกฤติราคาน้ำมันพร้อมกันได้ ดังนั้น ภาครัฐควรจะเร่งหาทางแก้ไขวิกฤติทางการเมืองให้จบลงโดยเร็ว เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพราะหากไม่รีบแก้ไข ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองก็จะเริ่มส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วงครึ่งปีหลังและจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในปี 2552 เนื่องจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศจะขาดความเชื่อมั่น จนเกิดการชะลอการลงทุน การบริโภคภายในประเทศ การจ้างงานจะลดลง ลามเป็นผลกระทบแบบลูกโซ่ ที่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศทรุดตัวลง แม้ว่าในปีนี้อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้ยังเติบโตได้ตามเป้าที่ 5.5-6% ก็ตาม

.

นอกจากนี้ ภาครัฐยังต้องเร่งดำเนินนโยบายการเงิน การคลังเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ เพื่อเร่งฟื้นความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและประชาชนในประเทศ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรใช้นโยบายด้านการเงินที่ผ่อนปรนมากขึ้น เช่น การคงอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศค่อยๆ ฟื้นตัว ขณะเดียวกันจะต้องดูแลปัญหาเรื่องเงินเฟ้อไม่ให้สูงขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวของไทย

.

"เศรษฐกิจของประเทศยังมีความเสี่ยงทั้งปัจจัยภายในและภายนอก แถมเจอกับปัญหาเรื่องการเมืองที่ทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจยากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาเราโตต่ำสุดในเอเชียมา 3 ปีเต็ม เราจะปล่อยให้ปัญหาการเมืองมาฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยให้ตกต่ำลงไปอีกหรือ ฉะนั้นทุกฝ่ายควรหันหน้าเข้ามากันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดต่อประเทศและเศรษฐกิจของไทย" ดร.วรพล กล่าว