เนื้อหาวันที่ : 2008-05-28 19:21:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1335 views

คมนาคมเล็งปรับกรอบราคากลางงานก่อสร้างในสังกัดรับต้นทุนค่าก่อสร้างพุ่ง

รมว.คมนาคม เตรียมปรับเพิ่มกรอบวงเงิน-ราคากลางโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด เนื่องจากราคาวัสดุก่อสร้างทุกประเภทและน้ำมันสูงขึ้นมาก ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินโครงการ ทั้งโครงการที่ยังไม่ได้เปิดประกวดราคา

รมว.คมนาคม เตรียมปรับเพิ่มกรอบวงเงิน-ราคากลางโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด เนื่องจากราคาวัสดุก่อสร้างทุกประเภทและน้ำมันสูงขึ้นมาก ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินโครงการ ทั้งโครงการที่ยังไม่ได้เปิดประกวดราคา เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และโครงการที่อยู่ระหว่างประกวดราคา เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน

.

"ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงมากในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อราคาวัสดุ เช่น เหล็ก ปูน ให้ปรับราคาเพิ่มขึ้น โดยเป็นการปรับราคาที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และสูงผิดปกติ เราจึงจำเป็นต้องพิจารณาปรับปรุงรายละเอียดกรอบวงเงินค่าก่อสร้าง และราคากลางว่าจะต้องปรับปรุงอย่างไร หลังจากนั้นจะนำเสนอ ครม. และจะใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวกับทุกโครงการ เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปในคราวเดียวกัน ไม่ต้องขออนุมัติเป็นรายโครงการ" นายนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม กล่าว

.

โครงการก่อสร้างที่อยู่ในข่ายดังกล่าว เช่น โครงการก่อสร้างของกรมทางหลวง บางโครงการเปิดประกวดราคาแล้วไม่มีผู้เสนอราคา หรือโครงการที่ผ่านการประกวดราคาแล้วแต่ไม่เซ็นสัญญา และเริ่มพบการทิ้งงาน ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจะรวบรวมรายละเอียดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มาพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การปรับเพิ่มกรอบวงเงิน และราคากลางของโครงการก่อสร้างต่างๆ ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยจะเริ่มที่โครงการรถไฟฟ้าก่อน

.

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมต้องขอเวลาศึกษารายละเอียดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อน และยังไม่สามารถระบุได้ว่าการปรับปรุงกรอบวงเงินค่าก่อสร้างใหม่นี้ จะทำให้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกเท่าใด แต่มองว่าเรื่องเงิน โดยเฉพาะเงินกู้จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) จะไม่มีปัญหาหากต้องปรับกรอบวงเงินเพิ่ม เพราะทุกฝ่ายเข้าใจถึงข้อเท็จจริงของผลกระทบจากราคาน้ำมัน

.

ด้านนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า เบื้องต้น รฟม.คาดว่าจะต้องปรับกรอบวงเงินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสีน้ำเงินใหม่ โดยเฉพาะงานโยธาต้องปรับเพิ่มเป็น 5.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 4.8 หมื่นล้านบาท

.

"ราคาวัสดุ และราคาน้ำมัน ณ ช่วงเวลาที่ออกแบบแตกต่างกับราคาในปัจจุบันมาก จึงจำเป็นต้องปรับกรอบวงเงินค่าก่อสร้าง เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ณ เวลาที่ขอปรับเพิ่มวงเงิน 4 พันล้านบาท ใช้ฐานราคาน้ำมันเดือน ก.พ. แต่หากใช้ฐานราคาน้ำมันในปัจจุบันคาดว่าต้นทุนการก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นกว่า 700 ล้านบาทแล้ว" นายประภัสร์ กล่าว

.

ครม. มีมติเห็นชอบให้ รฟม.ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วง บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 27 กม. วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างงานโยธา 4.8 หมื่นล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5.9 พันล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษา 2.1 พันล้านบาท