เนื้อหาวันที่ : 2008-05-27 09:00:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1476 views

ขสมก.คาดตรึงค่าโดยสารเท่าเดิมอีก 6-7 เดือนจนกว่าจะเปลี่ยนใช้รถเอ็นจีวี

ขสมก.ตรึงค่าโดยสารส่งผลให้ผู้โดยสารของรถร่วมเอกชนลดลง โดยเฉพาะผู้โดยสารในช่วงกลางวัน พบว่าผู้โดยสารรอใช้บริการรถโดยสารของ ขสมก.มากขึ้น หากปล่อยไว้เช่นนี้ผู้ประกอบการรถร่วมเอกชนต้องประสบปัญหาขาดทุนแน่นอน

นายพิเณศวร์ พัวพัฒนกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ปรับขึ้นค่าโดยสาร ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม ที่ต้องการช่วยเหลือประชาชน ทำให้ค่าโดยสารของ ขสมก.ต่างจากรถร่วมบริการฯ เช่น รถโดยสารธรรมดา ขสมก.เก็บที่ 7 บาทตลอดสาย แต่รถร่วมบริการฯ เก็บที่ 10 บาทตลอดสาย, รถปรับอากาศ ขสมก.เก็บที่ 11-19 บาท แต่รถร่วมบริการฯ เก็บที่ 13-21 บาท ทั้งนี้ ขสมก.จะตรึงค่าโดยสารไปจนกว่าจะเปลี่ยนรถโดยสารไปใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชือ้เพลิง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินงานประมาณ 6-7 เดือน

.

ขณะที่ นายฉัตรชัย ชัยวิเศษ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมเอกชน กล่าวว่า การที่ ขสมก.ตรึงค่าโดยสารส่งผลให้ผู้โดยสารของรถร่วมเอกชนลดลง โดยเฉพาะผู้โดยสารในช่วงกลางวัน พบว่าผู้โดยสารรอใช้บริการรถโดยสารของ ขสมก.มากขึ้น หากปล่อยไว้เช่นนี้ผู้ประกอบการรถร่วมเอกชนต้องประสบปัญหาขาดทุนแน่นอน

.

ทั้งนี้ สมาคมฯ เตรียมจะทำหนังสือถึง รมช.คมนาคม เพื่อขอความเป็นธรรมในการกำหนดอัตราค่าโดยสารของ ขสมก.ให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยให้ ขสมก.ปรับค่าโดยสารตามที่คณะกรรมการฯ อนุมัติ หรือให้ความช่วยเหลือเอกชน เช่น สนับสนุนน้ำมันฟรีให้กับผู้ประกอบการเอกชน เพื่อให้ตรึงค่าโดยสารเท่ากับ ขสมก.

.

"ผมเห็นว่าการที่ ขสมก.ตรึงค่าโดยสาร ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ เพราะรัฐเข้ามาบิดเบือนกลไกตลาด เอกชนเก็บค่าโดยสารแพงกว่าจะแข่งขันกับ ขสมก.ได้อย่างไร หากรัฐต้องการให้ตรึงราคาก็ขอให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านอื่น เพื่อที่ผู้ประกอบการเอกชนจะตรึงค่าโดยสารด้วย ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์โดยตรง" นายฉัตรชัย กล่าว

.

ด้าน นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) เปิดเผยว่า บขส.ได้ปรับขึ้นค่าโดยสารอีก 3 สตางค์/กิโลเมตร ตามมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง เท่ากับอัตราค่าโดยสารของรถร่วมบริการฯ ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา จากเดิมก่อนหน้านี้ที่อัตราค่าโดยสารต่ำกว่ารถร่วมบริการฯ อยู่ 3 สตางค์/กิโลเมตร

.

แหล่งข่าวจาก บขส.กล่าวว่า สาเหตุที่ บขส.ต้องปรับค่าโดยสารขึ้นมาเท่ากับรถร่วมเอกชนฯ เพราะทนแบกรับต้นทุนจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว โดยที่ผ่านมา บขส.ต้องแบกรับภาระขาดทุนกว่า 300 ล้านบาท หาก บขส.ยังตรึงค่าโดยสารต่อไปจะทำให้ประสบปัญหาขาดทุนได้

.

หลังใช้อัตราค่าโดยสารใหม่แล้วส่งผลให้รถโดยสารวีไอพี เส้นทาง กทม.-ภูเก็ต ปรับค่าโดยสารเป็น 1,025 บาท จากเดิม 970 บาท หรือเพิ่มขึ้น 55 บาท, รถโดยสารธรรมดา 40 ที่นั่ง เส้นทาง กทม.-ภูเก็ต ปรับค่าโดยสารเป็น 678 บาท จากเดิม 626 บาท หรือเพิ่มขึ้น 52 บาท ส่วนเส้นทางระยะใกล้ เช่น อยุธยา ระยอง สระบุรี ปรับเพิ่มประมาณ 10-20 บาทเท่านั้น