เนื้อหาวันที่ : 2008-05-21 16:28:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2413 views

ต่อกรกับตัณหาต้นตอทุนนิยมที่ก่อโลกร้อน ด้วยแนวคิดแบบพุทธ

พระนักคิด นักสังคมวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์ ฟันธง การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ลดการบริโภคแบบวัตถุนิยม ในที่สุดจะสามารถโค่นทุนนิยมที่ครอบครองโลกอย่างทรงพลังในขณะนี้ แม้ว่าทุนนิยมจะพยายามคิดค้นเครื่องมือใหม่ ๆ ที่ลดการเอาเปรียบสังคมและสิ่งแวดล้อมก็ตาม

พระนักคิด นักสังคมวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์ ฟันธง การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ลดการบริโภคแบบวัตถุนิยม ในที่สุดจะสามารถโค่นทุนนิยมที่ครอบครองโลกอย่างทรงพลังในขณะนี้

.

ก่อนที่ทุนนิยมจะแพร่หลายในเอเชีย พุทธศาสนาดำรงอยู่ในดินแดนแถบนี้เป็นเวลากว่า 2,000 ปีแล้ว ปัญญาชนมักตั้งคำถามว่าความเชื่อทั้งสองอยู่ร่วมกันได้จริงหรือ ดังเช่นการอภิปรายเมื่อเร็วๆนี้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าไม่มีทางสายกลางระหว่างทั้งสองแนวทาง ในที่สุดทุนนิยมที่ทรงพลังจะถูกโค่นโดยสังคมของคนที่ตื่นตัว ลดการบริโภคแบบล้างผลาญของวัตถุนิยม

.

เหล่านักวิชาการบอกว่า แม้ว่าทุนนิยมจะพยายามคิดค้นเครื่องมือใหม่ๆ ที่ลดการเอาเปรียบสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่นมีโครงการ ความรับผิดชอบต่อสังคมของบรรษัทมากมาย แต่สุดท้ายแล้วระบบที่มุ่งแสวงหาผลกำไรอย่างไม่มีขีดจำกัด จะไม่สามารถอยู่ได้ในโลกที่ทรัพยากรมีจำกัด ทุนนิยม จะพ่ายแพ้ต่อจำนวนผู้ที่หันมาสมาทานวิถีชีวิตอันเรียบง่ายแบบพุทธที่เพิ่มจำนวนขึ้น

.

"เราอาจจะไม่เห็นมันเกิดในชั่วชีวิตคุณและผม แต่ผมเห็นว่าไม่มีทางเป็นอย่างอื่นไปได้" ดร.สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรม แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว "ทุนนิยมกวาดล้างทรัพยากร ส่งผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวางมานาน ส่งผลให้เราต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์สำคัญมากมาย ที่สำคัญคือการที่เราต้องเผชิญกับภาวะโลกร้อนในขณะนี้ แต่แนวทางด้านจิตวิญญาณช่วยให้คนค้นพบแนวทางการดำรงชีวิตแบบใหม่ซึ่งมีความยั่งยืนยิ่งกว่า และจะมาทดแทนแนวทางทุนนิยม"

.

แต่แม้จะมีข้อสรุปดังกล่าว ผู้รู้ในวงสัมมนาวันนั้นตั้งข้อสังเกตว่าทุนนิยมและพุทธศาสนามีลักษณะคล้ายคลึงกันอย่างหนึ่ง นั่นคือต่างพยายามให้คำตอบต่อการจัดการธรรมชาติพื้นฐานสุดของมนุษย์ กล่าวคือตัณหาหรือความทะยานอยาก

.

"ในขณะที่ทุนนิยมตอบสนองตัณหาและมุ่งสร้างให้เกิดตัณหาใหม่เพิ่มขึ้น พุทธศาสนาเน้นว่าเราต้องลดและสุดท้ายต้องกำจัดตัณหาให้สิ้นไป" พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัยกล่าว

.

แต่บรรยง พงษ์พานิช ประธานฝ่ายบริหารของบริษัทเงินทุนภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) แย้งว่า ตัณหาเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าและก่อให้เกิดประโยชน์ที่เราไม่สามารถมองข้าม นอกจากนั้น การมุ่งแข่งขันในระบอบทุนนิยมเป็นเพียงภาพสะท้อนของการเอาตนเองเป็นศูนย์กลางและความเห็นแก่ประโยชน์ตนเองอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์

.

"ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป" วิทยากร เชียงกูร นักสังคมวิทยากล่าว "มนุษย์ไม่ได้เห็นแก่ตัวเสมอไปเพียงเพราะเป็นสัญชาตญาณที่จะปกป้องเผ่าพันธุ์เอาไว้ ศาสนาให้คำอธิบายเรื่องนี้โดยผ่านการปฏิบัติอย่างเช่น การทำบุญ การให้ความรักและการให้ทาน สุดท้ายแล้วกลไกเพื่อความอยู่รอดของกลุ่มจะสำคัญกว่า เพราะเราต่างรู้ดีว่าไม่มีใครสามารถดำรงอยู่ได้เพียงลำพัง"

.

พระมหาวุฒิชัยกล่าวว่าแนวคิดแบบพุทธมองว่า ตัณหามีหลายระดับและพัฒนาไปได้ไม่สิ้นสุด "ความต้องการทางวัตถุ เมื่อได้รับการตอบสนองก็ส่งผลให้เกิดความต้องการสูงยิ่งขึ้น ระบบตลาดตระหนักถึงความจริงข้อนี้ดี" พระคุณเจ้ากล่าว "เป็นเหตุให้ยุทธศาสตร์การตลาดทุกวันนี้มุ่งส่งเสริมการบริโภคที่สูงกว่าคุณค่าแท้จริงของสินค้า เป็นการส่งเสริมให้เราบริโภคตรายี่ห้อและภาพลักษณ์ซึ่งเป็นตัวกำหนดความหมายของตัวเรา ในทางพุทธศาสนา เราเรียกว่าการบริโภคอวิชชา"

.

ในทางตรงข้าม พระคุณเจ้าอธิบายว่าเราสามารถเปลี่ยนความต้องการแบบหยาบ ๆ ให้กลายเป็นพลังในทางบวก ซึ่งนำไปสู่การเรียนรู้และเพียรพยายามให้เข้าถึงปัญญา ช่วยให้สามารถค้นหากลไกเพื่อปลดปล่อยตนเองจากชีวิตบริโภคนิยม

.

อาจารย์วิทยากร เห็นด้วย และยกตัวอย่างของชุมชนมากมายที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่มีชีวิตอยู่ตามหลักการความร่วมมือแบบสหกรณ์ ทั้งในวงจรการผลิตและการบริโภค โดยไม่มุ่งสะสมวัตถุหรือทรัพย์สิน และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ถ้านักลงทุนจากภายนอกเข้ามาตั้งโรงงานในชุมชน เขาอาจจะไม่ลังเลที่จะปล่อยน้ำเสียและมลพิษ แต่ถ้าคนในชุมชนเป็นเจ้าของการผลิตเราจะไม่ทำลายบ้านของเราเอง"

.

พระมหาวุฒิชัยตั้งข้อสังเกตว่า เรากำลังอยู่ในยุคที่ทั้งทุนนิยมและพุทธศาสนาแผ่ขยายอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

นับแต่ยุคที่อดัม สมิทธ์เขียนหนังสือ ความมั่งคั่งของประชาชาติและยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา ไม่มียุคไหนที่ทุนนิยมแผ่อิทธิพลต่อส่วนต่าง ๆ ของโลกมากเท่าในขณะนี้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะโลกาภิวัตน์ของบรรษัทข้ามชาติ และเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ในขณะเดียวกัน พุทธศาสนาก็แพร่หลายไปกว้างไกลและรวดเร็วกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต

.

"อาตมามีโอกาสพูดในที่แตกต่างกันและพูดให้กับกลุ่มผู้ฟังที่แตกต่างกันเกินกว่าที่เคยนึกอาตมามีโอกาสไปพูดตั้งแต่ในวัง ที่บริษัทใหญ่ ๆ ออกรายการทีวีสารพัด ในที่ประท้วงของชาวบ้านก็เคยไปพูด" พระวุฒิชัยกล่าว "และไม่ได้มีแค่อาตมาคนเดียว และสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย อาตมาท้าได้เลยว่าเป็นพระแล้วไม่อดตาย แม้แต่ในประเทศตะวันตกอย่างเช่นในสหรัฐฯ ยุโรป และออสเตรเลีย"

.

สำหรับพระคุณเจ้าแล้ว กลุ่มคนที่หลากหลายต่างหันมาสนใจ ศีกษาแนวคิดแบบพุทธศาสนา โดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมือง ก็เพราะเริ่มพบว่าการบริโภคทางวัตถุที่เกิดจากการกระตุ้นของระบบตลาดและการโฆษณา ไม่ใช่หนทางที่นำมาซึ่งความสุขอันเที่ยงแท้

.

แต่พระคุณเจ้าก็ตั้งข้อสังเกตที่ว่า ในการเรียนรู้เนื้อหาสาระที่แท้จริงของพุทธศาสนา เรากลับต้องไปเรียนรู้นอกรั้ววัด พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นสถาบันของเมืองไทยกำลังเสื่อมลง ในขณะที่พระเองสนใจแต่สะสมความมั่งคั่งทางวัตถุและไต่เต้าบันไดของสมณศักดิ์

.

แต่พระเหล่านี้ก็มีชีวิตอยู่ท่ามกลางกระแสขาลงเช่นกันเดียวกับระบอบทุนนิยม อาจารย์สุวินัย ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า สุดท้ายแล้วทุนนิยมแบบเอาเปรียบสังคมและธรรมชาติจะต้องเสื่อมลง อันเนื่องมาจากการเกิดกลุ่มก้อน การทำงานร่วมกันของผู้เห็นแจ้งว่าวิถีแบบทุนนิยมจะพาโลกไปไม่รอด ผมกำลังพูดถึงความจริงที่นักทุนนิยมอาจจะยอมรับไม่ได้"

 
ที่มา : http://www.thaiclimate.org/Articles.cfm?ID=281