เนื้อหาวันที่ : 2008-05-16 10:15:16 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1890 views

ประหยัดและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพทางออกไทยฝ่าวิกฤตพลังงานโลก

โลกเข้าสู่ภาวะวิกฤตพลังงาน หมดยุคน้ำมันถูก แนะทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ ประหยัดและใช้พลังงานที่มีอยู่อย่างเต็มประสิทธิภาพก่อนเร่งจัดหาพลังงานหมุนเวียนทดแทน เผยผลการศึกษาพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะลดความต้องการใช้พลังงานในภาคเศรษฐกิจหลักได้ถึง 8 % ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมดในปี 2554

.

นักวิจัย JGSEE ชี้โลกเข้าสู่ภาวะวิกฤตพลังงาน หมดยุคน้ำมันถูก แนะทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ ประหยัดและใช้พลังงานที่มีอยู่อย่างเต็มประสิทธิภาพก่อนเร่งจัดหาพลังงานหมุนเวียนทดแทน  เผยผลการศึกษาพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะลดความต้องการใช้พลังงานในภาคเศรษฐกิจหลักได้ถึง 8 % ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมดในปี 2554   

.

"ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีสาเหตุหลักจากความไม่สมดุลของอุปสงค์ อุปทาน การเก็งกำไรเป็นเพียงตัวหนุนให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงมากขึ้นเท่านั้น และฟันธงได้เลยว่า 3 ปีต่อจากนี้(ปี2548) น้ำมันจะเพิ่มตัวสูงขึ้นถึง 80-90  ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรลอย่างแน่นอน"  บทวิเคราะห์ถึงสถานการณ์น้ำมันโลกของ ผศ.ดร. จำนง สรพิพัฒน์ ประธานสายพลังงาน บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม(JGSEE)  ที่ได้เคยคาดการณ์ไว้ในปี 2548 ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้พุ่งสูงทำสถิติครั้งประวัติศาสตร์ 126 ดอลล่าสหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว

.

ผศ.ดร. จำนง สรพิพัฒน์ ประธานสายพลังงาน บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม(JGSEE)  กล่าวว่า สถานการณ์พลังงานโลกขณะนี้ยังถือว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากวิกฤตการณ์พลังงานที่ผ่านมา 2 ครั้งแรกเกิดจากความอ่อนไหวทางการเมืองและภาวะสงคราม   โดยครั้งแรกเกิดหลังสงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอล  และครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อต้นทศวรรษที่ 80 จากสงครามอิรัก-อิหร่าน

.

ผศ.ดร. จำนง สรพิพัฒน์ ประธานสายพลังงาน บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม(JGSEE)

.

หากแต่วิกฤติการณ์น้ำมันครั้งที่ 3 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่นี้แม้จะเริ่มต้นจากภาวะสงครามระหว่างสหรัฐกับอิรัก แต่เมื่อสงครามยุติตัวเลขราคาน้ำมันกลับพุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักวิเคราะห์ด้านพลังงานมองว่ามีสาเหตุจาก 6 ประการคือ 1. อุปสงค์ที่เพิ่มเร็วกว่าอุปทานถึง 10 เท่า เนื่องจากไม่กี่ปีที่ผ่านมาทั่วโลกมีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงถึง 3 %  ยิ่งเฉพาะในประเทศจีนและอินเดียที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ขณะที่การค้นพบแหล่งน้ำมันดิบเพิ่มเติมมีเพียง 0.3%  2. 

.

การปรับเปลี่ยนตะกร้าเงินในการซื้อขายน้ำมันของประเทศกลุ่มโอเปกที่ได้เปลี่ยนจากเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินยูโรกว่า 50% 3. กำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ 4. ความต้องการใช้น้ำมันตามฤดูกาล  เพราะแม้จะหมดช่วงฤดูหนาวแล้ว แต่สหรัฐยังมีตัวเลขความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากชาวอเมริกันขับรถเที่ยวช่วงฤดูร้อน 5. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ และ 6. การเก็งกำไร ที่จะเป็นตัวเสริมให้สถานการณ์น้ำมันผันผวนมากยิ่งขึ้น

.

"ในอนาคตรา8kน้ำมันจะเป็นอย่างไรคงตอบไม่ได้แน่ชัด แต่ถ้าพิจารณาจากวิกฤติพลังงานครั้งนี้จะพบว่าปัญหาหลักมาจากความต้องการพลังงานน้ำมันในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ขณะที่การค้นพบปริมาณแหล่งน้ำมันดิบมีจำนวนที่ลดลง ซึ่งนักวิเคราะห์ด้านพลังงานบางส่วนมองว่าโลกได้มาถึงจุดสูงสุดการผลิตน้ำมันแล้ว ดังนั้นราคาน้ำมันจะลดลงได้ต่อเมื่อมีการค้นพบแหล่งน้ำมันดิบขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น

.

.

ซึ่งขณะนี้เหลือเพียงน้ำมันดิบใต้ทะเลลึกซึ่งยังไม่มีข้อมูลว่าจะพบปริมาณมากเท่าใด จึงคาดการณ์ว่าในปีนี้ราคาน้ำมันจะยังคงแพงอยู่  ส่วนในปีหน้าหากแหล่งน้ำมันดิบที่พบสามารถผลิตออกมาได้ในช่วงปลายปีก็จะส่งผลให้ราคาน้ำมันเริ่มชะลอตัวหรืออ่อนตัวลง แต่คงไม่มากนักหากไม่มีผลกระทบด้านอื่นๆ เรียกได้ว่ายุคน้ำมันราคาถูกคงไม่มีให้เห็นกันอีกแล้ว"

.

ทั้งนี้เมื่อหันกลับมามองถึงสถานการณ์การใช้พลังงานของประเทศไทย ผศ.ดร. จำนง  กล่าวว่า เริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤติ เพราะประเทศไทยมีมูลค่าการใช้พลังงานสูงถึง 18% ของจีดีพี   ขณะที่แนวทางการแก้ปัญหายังเน้นให้ความสำคัญต่อการจัดการหาพลังงานมาให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ซึ่งอาจไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง พร้อมเสนอแนะว่าทางออกที่ดีทีสุดขณะนี้คือการประหยัดและการใช้พลังงานที่มีอยู่อย่างเต็มประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม 

.

" การประหยัดพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการอุดหนุนเชื้อเพลิงราคาแพง   ซึ่งขณะนี้เจจีซี(JGSEE) ได้เร่งดำเนินการวิจัยเพื่อหาทางแก้วิกฤตพลังงานใน 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1. การศึกษาหาข้อมูลและข้อวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับศักยภาพการประหยัดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน   ในเบื้องต้นพบว่าการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยใช้ "End-use approach" ชี้ให้เห็นว่าในภาคเศรษฐกิจหลักมีศักยภาพที่จะลดความต้องการใช้พลังงานได้ถึง 8% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมดในปี 2554

.

ซึ่งแบ่งออกเป็นในภาคขนส่ง 12 %, ภาคอาคารพาณิชย์ 11.8% ภาคบ้านเรือน 6.5% และภาคอุตสาหกรรม  4.9 %  2. การจัดหาเทคโนโลยีประเภทต่างๆที่จะช่วยให้แต่ละภาคส่วนใช้พลังงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน  อาทิ  งานวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากชีวมวลด้วยวิธีแก๊สซิฟิเคชั่น (gasification) โดยการเปลี่ยนชีวมวลให้เป็นแก๊สก่อนซึ่งเมื่อนำไปทำเชื้อเพลิงจะให้พลังงานความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงมาก , การผลิตไฟฟ้าความร้อนร่วม ,

.

เทคโนโลยีการเปลี่ยน Biomass เป็นน้ำมัน , แบบจำลองการใช้พลังงานในอาคารที่จะช่วยให้บ้านเย็นสบายโดยใช้พลังงานน้อยที่สุด  รวมถึงงานวิจัยด้านพลังงานหมุนเวียน "เครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ" ซึ่งได้รับรางวัลชมเชยสาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ ใจงานวันนักประดิษฐ์ประจำปี 2551 เป็นต้น  3.การทำข้อเสนอแนะและมาตรการเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของภาครัฐเพื่อให้เกิดการผลักดันสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้"

.

อย่างไรก็ดีสิ่งสำคัญที่จะทำให้การฝ่าวิกฤตพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล คือการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ประชาชนทุกคนต้องตระหนักรู้ถึงสภาพปัญหา คิดใหม่ ทำใหม่ในเรื่องของการประหยัดพลังงาน   เพราะถ้าประชาชนมีความเข้าใจก็จะเป็นพลังสำคัญที่จะผลักดันให้ภาครัฐมีมาตรการในการจัดการปัญหาที่ถูกต้องมากขึ้น ทุกวันนี้ทุกคนรู้ปัญหาแต่ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะคนส่วนใหญ่ยังคิดแต่หาพลังงานมาใช้แทนการประหยัดหรือใช้ที่มีอยู่อย่างเหมาะสม ผศ.ดร. จำนง กล่าวทิ้งท้าย