เนื้อหาวันที่ : 2008-05-15 14:00:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1262 views

คลัง เผยครึ่งแรกปีงบ'51 มีเม็ดเงินภาคการคลังอัดฉีดระบบ 1.7% ของ GDP

รัฐบาลอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจส่งผลช่วงครึ่งปีแรกมีเม็ดเงินสุทธิจากรวมทั้งสิ้น 156,871 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.7 ของ GDP เป็นไปตามเป้าหมายรัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตได้ระดับร้อยละ 5.0-6.0 ในปี 2551

รัฐบาลอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกมีเม็ดเงินสุทธิจากภาคการคลังถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรวมทั้งสิ้น 156,871 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.7 ของ GDP ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตได้ในระดับร้อยละ 5.0-6.0 ในปี 2551

.

นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

.

นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยฐานะการคลังเบื้องต้นตามระบบ สศค.  (ระบบ Government Finance Statistics: GFS) สรุปได้ว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2551 มีเม็ดเงินสุทธิจากภาครัฐบาลอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวน 67,248 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกมีเม็ดเงินสุทธิจากภาคการคลังถูกอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรวมทั้งสิ้น 156,871 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.7 ของ GDP ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตได้ในระดับร้อยละ 5.0-6.0 ในปี 2551

.

ทั้งนี้ ดุลการคลังภาครัฐบาลขาดดุล 67,248 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.7 ของ GDP) โดยเป็นการขาดดุลของรัฐบาล 72,801 ล้านบาท ในขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เกินดุล 5,553 ล้านบาท  (คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของ GDP)

.
ด้านรายได้ รัฐบาลมีรายได้ 328,535 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 3.6 ของ GDP) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.8 โดยรายได้ภาษีที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนในอัตราสูงได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีสุรา ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น
.
ด้านรายจ่าย รัฐบาลมีการใช้จ่ายทั้งสิ้น 424,740 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 4.6 ของ GDP) ลดลง 7,592 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่มีรายจ่ายทั้งสิ้น 432,332 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 5.1 ของ GDP) ทั้งนี้ เนื่องจากในปีที่ผ่านมา พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้ล่าช้า ดังนั้น หลังจากเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2550 จึงทำให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นมา
.

ดุลงบประมาณ ผลจากการที่รายจ่ายรัฐบาลสูงกว่ารายได้ส่งผลให้ดุลงบประมาณในช่วงไตรมาสที่ 2 ขาดดุล 96,205 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ขาดดุลจำนวน 124,682 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 22.8 เป็นผลมาจาก พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 บังคับใช้ล่าช้า

.

รายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ ประกอบด้วย Project Loans และ Structural Adjustment Loans (SAL)  มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 206 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 54.4 เนื่องจากการเบิกจ่ายเงินกู้ SAL ยังเบิกจ่ายไม่เต็มที่

.

ดุลบัญชีนอกงบประมาณ (ประกอบด้วยกองทุนนอกงบประมาณและเงินฝากนอกงบประมาณ) เกินดุล 23,610 ล้านบาท เกินดุลลดลงเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่เกินดุล 44,783 ล้านบาท เนื่องจากได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนให้แก่กองทุน ฯ ค่อนข้างมากในช่วงไตรมาสที่ 1 จึงทำให้การเบิกจ่ายเงินอุดหนุนในช่วงไตรมาสที่ 2 ลดลง ในขณะที่มีรายจ่ายเงินฝากนอกงบประมาณเพิ่มขึ้น เช่น รายจ่ายจากเงินบำรุงโรงพยาบาล เป็นต้น

.

ดุลการคลังของรัฐบาล เมื่อรวมดุลงบประมาณและดุลบัญชีนอกงบประมาณและหักรายจ่ายจากเงินกู้ต่างประเทศออกแล้ว ส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐบาลขาดดุลทั้งสิ้น 72,801 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.8 ของ GDP ) ในขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วขาดดุล 80,352 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.9 ของ GDP) สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นของรัฐบาล (Primary Balance)  ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2551 ขาดดุลทั้งสิ้น 37,809 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP) ขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ขาดดุล 49,012 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.6 ของ GDP) หรือลดลงร้อยละ 22.9

.

ในส่วนของ อปท. คาดว่าจะมีรายได้ทั้งสิ้น 72,138 ล้านบาท และมีการใช้จ่ายทั้งสิ้น 66,585 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลการคลัง อปท. เกินดุล 5,553 ล้านบาท โดยเกินดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 711 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.4

.

นายสมชัย กล่าวต่อว่า ผลจากการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลของรัฐบาลส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2551 ภาครัฐบาลขาดดุลการคลังรวมทั้งสิ้น 156,871 ล้านบาท ขาดดุลเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 75,628 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 93.1