เนื้อหาวันที่ : 2008-04-18 15:14:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1523 views

สุวิทย์ เร่งขับเคลื่อนนโยบายปีแห่งการลงทุน คาด 4 ปีสำเร็จตามเป้า

เร่งสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อก้าวสู่เป้าหมาย 3 ล้านล้านบาทภายในปี 2554 ด้าน บีโอไอ เตรียมปรับนโยบายและเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุน พร้อมลดระยะเวลาอนุมัติโครงการเอสเอ็มอี เหลือ 20 วัน

"สุวิทย์" เปิดงานสัมมนาปีแห่งการลงทุน 2551-2552 เดินหน้ามาตรการฟื้นความเชื่อมั่น แสดงจุดยืนมุ่งเน้นอุตสาหกรรมคุณภาพ เพิ่มความสามารถแข่งขันอุตสาหกรรมไทย เร่งสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อก้าวสู่เป้าหมาย 3 ล้านล้านบาทภายในปี 2554 ด้าน บีโอไอ เตรียมปรับนโยบายและเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุน พร้อมลดระยะเวลาอนุมัติโครงการเอสเอ็มอี เหลือ 20 วัน

.

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายในงานสัมมนา ปีแห่งการลงทุน 2551-2552 : Thailand Investment Year 2008-2009จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า การกำหนดให้ปี 2551-2552 เป็นปีแห่งการลงทุน เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นนักลงทุน รวมถึงแสดงให้เห็นถึงการที่ไทยพร้อมรับการลงทุนทั้งจากไทยและต่างชาติ พร้อมกระตุ้นผู้ประกอบการเดิมให้เร่งปรับตัวเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย

.

มาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆตามนโยบายปีแห่งการลงทุนเป็นมาตรการที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ในท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่มีปัจจัยต่างๆเข้ามากระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน ตลาดในประเทศขยายตัวน้อย การขาดแคลนแรงงาน ขาดความพร้อมของระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เป็นต้น

.

"แม้ปัจจุบันภาวะการลงทุนของไทย ยังมีการขยายตัวที่ดี แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การชักจูงการลงทุนเริ่มมีอุปสรรคมากขึ้น หากเราไม่มีมาตรการที่ชัดเจนออกมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง จะทำให้ไม่เกิดการขยายตัวของการลงทุน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5-5.5 แสนล้านบาทต่อปี หากมาตรการตามนโยบายปีแห่งการลงทุนดำเนินการได้พร้อมสมบูรณ์ จะส่งผลให้มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 7-8 แสนล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นจาก 2.1 ล้านล้านบาท เป็นไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 4 ปี (2551-2554)" นายสุวิทย์กล่าว

.

อย่างไรก็ดีทิศทางการส่งเสริมการลงทุนจากนี้ไปจะมุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ มีมูลค่าเพิ่มสูง และสามารถเกิดการเชื่อมโยงระหว่างการลงทุนของต่างชาติและนักลงทุนไทยให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาทักษะแก่แรงงานไทย   

.

สำหรับมาตรการสำคัญตามนโยบายปีแห่งการลงทุน ประกอบด้วย การพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมไทยที่มีศักยภาพอยู่แล้ว ให้มีการพัฒนาเพิ่มขึ้น เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกตรแปรรูป และอุตสาหกรรมที่มี Value Creation การสร้างฐานอุตสาหกรรมอนาคต เช่นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และพลังงานทดแทน

.

การส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่เหมาะสม เช่นชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือเซาท์เทิร์นซีบอร์ด เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงส่งเสริมการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและแก้ไขปัญหาของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนของอุตสาหกรรมไทยในต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

.

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ชัดเจน และกำหนดเป็นนโยบายแห่งชาติที่จะเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน เช่น พรบ.คนต่างด้าว ระบบภาษี ซึ่งมั่นใจว่า หากมีความชัดเจน และสามารถเดินหน้าได้อย่างจริงจัง จะทำให้มูลค่าส่งเสริมการลงทุนเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาทต่อปี

.

นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงแนวทางปรับเปลี่ยนนโยบายส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ว่า บีโอไอ พร้อมที่จะปรับแนวทางส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนตามนโยบายปีแห่งการลงทุนมากขึ้น ด้วยการปรับนโยบายและเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุน ที่จะมุ่งกระตุ้นให้มีการลงทุนต่อเนื่องในโครงการเดิม โดยมีมาตรการจูงใจให้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ทั้งเพื่อการขยายกำลังการผลิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

.

การจัดตั้งศูนย์ประสานและแก้ไขปัญหานักลงทุน เพื่อให้บริการนักลงทุนทั้งที่ได้รับส่งเสริมและไม่ได้รับส่งเสริมการลงทุน รวมถึงการลดระยะเวลาในการพิจารณาโครงการลงโดยเริ่มจากกลุ่มกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ก่อนจากเดิม 60 วัน ให้เหลือ 20 วัน และการนำระบบออนไลน์มาใช้ในการอนุมัตินำเข้าวัตถุดิบ และเครื่องจักร

.

นอกจากนี้ ยังมีแผนจัดตั้ง กองทุนพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและการลงทุน โดยเบื้องต้นจะใช้งบประมาณ 5000 ล้านบาทในช่วงระยะเวลา 4 ปี เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมให้มีการปรับตัว และสนับสนุนการลงทุนของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและประหยัดพลังงาน รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนไทยในต่างประเทศ โดยการจัดตั้ง Investment Support Center .ในประเทศเพื่อนบ้านเป้าหมาย อาทิ ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า จีนตอนใต้ อินเดีย การสนับสนุนการจัดทำ Feasibility Study โครงการลงทุนในประเทศเป้าหมาย เป็นต้น

.

ด้านผู้แทนหอการค้าญี่ปุ่น และหอการค้าต่างประเทศ ต่างตอบรับนโยบายปีแห่งการลงทุน โดยเห็นว่า สอดคล้องกับทิศทางที่นักธุรกิจต้องการ และให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจ ตลอดจนพอใจในความต่อเนื่องของนโยบายส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ นอกจากนี้ยังพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาครัฐ ในการร่วมมือกันพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการลงทุนต่างๆ ให้อุตสาหกรรมแข่งขันได้มากขึ้น ทั้งด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ การถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่จำเป็นเพื่อช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์