เนื้อหาวันที่ : 2008-03-31 14:16:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1563 views

นิวเคลียร์คือหายนะของการแก้ปัญหาโลกร้อน

รัฐบาลส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังถลุงภาษีราษฎรไปกับการสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์และหยิบยกข้อดีของนิวเคลียร์มากล่าวอ้างว่าเป็นทางออกของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งแท้จริงแล้วข้อดีเหล่านั้นเป็นเพียงโวหารมากกว่าความเป็นจริง

.

รัฐบาลส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังถลุงภาษีราษฎรไปกับการสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์และหยิบยกข้อดีของนิวเคลียร์มากล่าวอ้างว่าเป็นทางออกของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งแท้จริงแล้วข้อดีเหล่านั้นเป็นเพียงโวหารมากกว่าความเป็นจริง

.

อาสาสมัครกรีนพีซนำลูกโลกระบายสีเขียวฟ้าที่ด้านบนและรูปสัญลักษณ์นิวเคลียร์ด้านล่างวางไว้หน้าสำนักงานขององค์กรสหประชาชาติ ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต่อเนื่องจากการประชุมที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซียในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

.

กรีนพีซระบุว่า การที่รัฐบาลสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ว่าเป็นทางออกของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นทางออกที่ผิดและห่างไกลจากการแก้ปัญหาที่แท้จริง

.

"รัฐบาลส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่น รัฐบาลไทย กำลังถลุงภาษีราษฎรไปกับการสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์และหยิบยกข้อดีของนิวเคลียร์มากล่าวอ้างว่าเป็นทางออกของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งแท้จริงแล้วข้อดีเหล่านั้นเป็นเพียงโวหารมากกว่าความเป็นจริง และยังเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เรากำลังเผชิญอยู่" นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว

.

ประเทศไทยเป็นทั้งผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเป็นเหยื่อในเวลาเดียวกัน ขณะนี้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากคลื่นกระทบฝั่งและเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศที่รุนแรงบริเวณชายฝั่งและเขตเกษตรกรรมของประเทศ ไม่รวมถึงภาวะขาดแคลนน้ำ สภาพคล้ายทุพภิกภัยที่กำลังคุกคามหลายส่วนของประเทศ และอุทกภัยที่เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน

.

ในขณะเดียวกันรัฐบาลไทยได้ใช้ตัวเลขที่สูงกว่าความเป็นจริงในการคาดการณ์ความต้องการใช้พลังงานเพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ที่ไม่ปลอดภัย สิ้นเปลืองงบประมาณ และไม่ช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงทางพลังงาน รัฐบาลชุดก่อนได้อนุมัติเงิน 1.38 พันล้านบาทไปกับการประชาสัมพันธ์ ทั้งๆ ที่งบประมาณดังกล่าวควรนำไปสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในประเทศ

.

"รัฐบาลไทยให้ความสำคัญน้อยมากกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพพลังงานเพื่อนำมาใช้ตอบสนองความต้องการพลังงานของประเทศ และยังขาดแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังในการปกป้องชุมชนและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ" นายธารากล่าวเสริม "สิ่งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงบทบาทของบรรษัทและพรรคพวกในรัฐบาลในการแสวงหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตนเองมากกว่าที่เสนอทางออกที่แท้จริงแก่คนไทย"