เนื้อหาวันที่ : 2008-03-28 09:51:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2508 views

ชาว ต.บ้านสหกรณ์ตื่นตัวทำวิจัยยื่น 8 โครงการแก้ปัญหาท้องถิ่น

นักวิจัยชี้ ผลการพัฒนาศักยภาพผู้นำเพื่อสร้างกระบวนทรรศน์ใหม่ในการพัฒนาชุมชน ทำให้ 8 หมู่บ้านใน ต.บ้านสหกรณ์ สามารถแก้ไขปัญหาปากท้อง-สังคม-สิ่งแวดล้อม ภายในท้องถิ่นของตนเองได้ พร้อมมอง"งานวิจัย" เป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพ เตรียมขอรับการสนับสนุนเพิ่มอีก 8 โครงการ

นักวิจัยชี้ ผลการพัฒนาศักยภาพผู้นำเพื่อสร้างกระบวนทรรศน์ใหม่ในการพัฒนาชุมชน ทำให้ 8 หมู่บ้านใน ต.บ้านสหกรณ์  สามารถแก้ไขปัญหาปากท้อง-สังคม-สิ่งแวดล้อม ภายในท้องถิ่นของตนเองได้ พร้อมมอง"งานวิจัย" เป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพ  เตรียมขอรับการสนับสนุนเพิ่มอีก 8 โครงการ

.

นางบุษราคัม ปัญญามี หัวหน้าโครงการกระบวนการพัฒนาศักยภาพผู้นำเพื่อสร้างกระบวนทรรศน์ใหม่ในการพัฒนาชุมชนพื้นที่โครงการพระราชดำริหมู่บ้านสหกรณ์อำเภอสันกำแพง กิ่ง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า พื้นที่วิจัยของโครงการมีทั้งหมด 8 หมู่บ้าน ใน ต.บ้านสหกรณ์ ซึ่งปัญหาของท้องถิ่นนี้ คือชาวบ้านทำการเกษตรมากว่า 30 ปี แต่เป็นการทำแบบลองผิดลองถูก ไม่ได้มองตลาด หรือความถนัดของตัวเอง ความเหมาะสมของพื้นที่ ผลลัพธ์ที่ได้จึงไม่เต็มที่ และเป็นหนี้สินกันแทบทุกครัวเรือน ขณะที่เด็ก เยาวชนก็หลงไปกับค่านิยมสมัยใหม่ วัฒนธรรม ประเพณีที่ถูกลดคุณค่าและความสำคัญลง อาชีพส่วนใหญ่ของราษฎรกลายเป็นรับจ้าง ที่ดินถูกเปลี่ยนมือภายใต้กรรมสิทธิ์ของเจ้าของคนเดิม

.

ทั้งที่บริเวณนี้ เป็นโครงการหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะทรงช่วยราษฎรที่ประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกินจากหลายจังหวัดให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงเกิดโครงการพระราชดำริในพื้นที่ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2518 โดยสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทได้ขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เพื่อจัดสรรให้ราษฎรที่ยากจนใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้เข้ามาอยู่อาศัย ครอบครัวละ 200 ตารางวา และที่ดินสำหรับทำเกษตรอีกครอบครัวละ 4 -7 ไร่ และได้มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาพัฒนาพื้นที่ร่วมกับราษฎรหลายๆด้านจนทำให้ราษฎรพอลืมตาอ้าปากได้ จนสามารถรวมตัวกันจัดตั้ง "สหกรณ์การเกษตรหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง จำกัด" ขึ้น

.

"พื้นที่ที่เคยเป็นป่าเสื่อมโทรม จึงเริ่มมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น ด้วยความช่วยเหลือ สนับสนุนของหลายๆ หน่วยงาน และปัจจุบันพื้นที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานสนับสนุนวิชาการ 10 จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีการประสานงาน วิเคราะห์ วางแผนการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับผู้นำชุมชนทั้ง 8 หมู่บ้านมาโดยตลอด" นางบุษราคัม กล่าวและว่า

.

คนในชุมชนมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาควบคู่กับการพัฒนาดังกล่าว แต่กลับเสนอให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาแก้ไข ขณะที่กลุ่มผู้นำ ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หากรวมถึงแกนนำต่างๆ ด้วย อาทิ กลุ่มผู้นำสตรี ผู้นำทางภูมิปัญญา ผู้นำกลุ่ม และประชากร หมู่ที่ 1-8 จำนวน 8 หมู่บ้าน ของตำบลบ้านสหกรณ์  ไม่ได้ขับเคลื่อนตามกระแสโลกาภิวัฒน์อย่างผู้ที่รู้เท่าทันสถานการณ์ ในการทำงานพัฒนาหมู่บ้านก็เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ไม่ได้พูดคุยหารือกัน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นการตั้งรับอยู่กับที่ รอฟังเสียงจากภายนอกให้กำหนดทิศทางความเป็นไปในชุมชน

.

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดแนวคิดที่จะทำวิจัยเพื่อปรับกระบวนทรรศน์ของผู้นำในการพัฒนาชุมชน ให้สามารถวางแผนการพัฒนาของตัวเองได้อย่างชัดเจนในทุกๆ ด้าน เช่น อาชีพ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า "มนุษย์ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้" เพราะสังคมไทยยังมีค่านิยมในการเชื่อและยกย่องผู้นำ ถ้าผู้นำขยับชาวบ้านก็จะขยับตาม และเกิดการหนุนเสริมกันขึ้น

.

โดยวิธีการ ได้รวบรวมผู้สมัครใจทั้งจาก 8 หมู่บ้าน เข้ามาร่วมกันทำงาน มองการแก้ปัญหาในภาพรวมร่วมกัน ว่าจะทำอย่างไรให้แต่ละครอบครัวสามารถผลิตหรือทำงานได้อย่างพอมีพอกิน มีการสร้างภาวะที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ภายใต้การทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ และต้องเรียนรู้ไปพร้อมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐกับผู้นำในชุมชน ทั้งเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ที่จะมาร่วมออกแบบการเรียนรู้ด้วยกัน ซึ่งเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ผู้นำกล้าที่จะก้าวออกมาจากร่องความเคยชินเดิม ผ่านการเรียนรู้แบบใหม่ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากการปฎิบัติจริง ผ่านการคิด วิเคราะห์

.

จนผู้นำสามารถพาชุมชนกำหนดเข็มทิศในการพัฒนาชุมชน ให้เกิดการพึ่งตนเองได้ในที่สุด ขณะที่หน่วยงานในพื้นที่มีบทบาทเป็นแค่พี่เลี้ยงสนับสนุน ขณะที่ในแนวทางปฏิบัติก็มีการเริ่มต้นจากครอบครัว แล้วขยายฐานคิดสู่สังคม ตำบล ที่ใหญ่ขึ้นตามลำดับ กระทั่งอยู่ในระดับที่เรียกว่า "ตำบลพอเพียง" ก็จัดวางแผนของชุมชน จัดการปัญหาต่างๆ ของชุมชน ด้วยคนในชุมชนเองได้ 

.

"ตลอดปี 2550 ที่ผ่านมา ทีมวิจัยลงพื้นที่ พบปะพูดคุยกับชาวบ้านมาตลอด เพื่อประมวลข้อมูลปัญหา และแนวคิดของชาวบ้าน จะได้หารูปแบบและแนวทางแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ และความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายงานวิจัยท้องถิ่นด้วยกัน และออกไปศึกษาดูงานจากหมู่บ้านอื่นๆ ที่เคยประสบปัญหาวิกฤติมาก่อนหน้านี้ ว่าเขาแก้ไขอย่างไร จนสามารถกระตุ้นให้แกนนำท้องถิ่นเห็นความสำคัญของงานวิจัย ว่าเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในยุคนี้ ที่จะแก้ปัญหาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ" หัวหน้าโครงการฯ กล่าวและว่า

.

ล่าสุดทั้ง 8 หมู่บ้าน ได้เสนอโครงการวิจัยใหม่ถึง 8 เรื่อง โดยส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการจัดการป่าชุมชน, การพัฒนากลุ่มอาชีพ, เกษตรอินทรีย์ และการเลี้ยงโค ซึ่งทางสำนักงานสนับสนุนวิชาการ 10 จังหวัดเชียงใหม่ กำลังร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พิจารณาเรื่องนี้อยู่

.

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)