เนื้อหาวันที่ : 2008-03-26 14:41:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1427 views

เศรษฐกิจไทยปีนี้โต 5.6% มีความสมดุลมากขึ้นจากอุปสงค์ในปท.ฟื้น

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ในระดับ 5.6% หรืออยู่ในช่วงคาดการณ์ที่ 5-6% จาก 4.8% ในปี 50 โดยมีอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวตามการขยายตัวที่ดีขึ้นของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐ

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ในระดับ 5.6% หรืออยู่ในช่วงคาดการณ์ที่ 5-6% จาก 4.8% ในปี 50 โดยมีอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวตามการขยายตัวที่ดีขึ้นของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นมาที่ 4.5% และคาดว่าจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 0.5% ต่อจีดีพี         

.

นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะมีความสมดุลมากขึ้น อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ฟื้นตัวขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีก่อน และการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น ตามนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงที่อุปสงค์ภายนอกประเทศมีแนวโน้มลดลงจากความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก 

.

สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่ายังคงเกินดุลอยู่ที่ 0.5% ต่อจีดีพี โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 0.3-0.8% ต่อจีดีพี แต่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะปรับ ตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 4.5% โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 4.3-4.8% ตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก

.

นางพรรณี กล่าวว่า แรงขับเคลื่อนหลักจะมาจากการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 4.0% เพิ่มขึ้นจาก 1.4% ในปี 50 เนื่องจากรายได้ที่แท้จริงของภาคประชาชนมีแนวโน้มสูงขึ้นจากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก การเพิ่มขึ้นของเงินเดือนราชการและค่าจ้างขั้นต่ำ ในขณะที่มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจยังมีส่วนช่วยในการเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน

.

สำหรับการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นจากฐานที่ต่ำมากของการลงทุนที่ขยายตัวเพียง 0.5% ในปี 50 มาที่ 9.7% ในปีนี้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราการใช้กำลังการผลิตในปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูงจนใกล้เต็มกำลังการผลิต ประกอบกับโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจำนวนมากในปีก่อนและมาตรการรัฐบาลเพื่อสนับสนุนปีแห่งการลงทุน จะจูงใจให้ภาคเอกชนเร่งการลงทุน

.

นอกจากนั้น การเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลภายใต้กรอบนโยบายการคลังที่ขาดดุลที่ 1.8% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2551 และ2.5% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2552 รวมทั้งการเร่งรัดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ จะช่วยเพิ่มอุปสงค์การใช้จ่ายภายในประเทศ และช่วยจูงใจให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย

.

ด้านอุปสงค์ภายนอกประเทศมีแนวโน้มชะลอลง โดยปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 6.9% จาก 7.1% ในปี 50 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี โครงสร้างการส่งออกและนโยบายเร่งส่งออกที่เปลี่ยนไปยังประเทศเกิดใหม่ที่มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มรายได้จากการบริการท่องเที่ยว จะช่วยสนับสนุนให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการโดยรวมยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี  สำหรับปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการในปีนี้จะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศมาอยู่ที่ 10.3% เร่งตัวขึ้นจาก 3.5% ในปี 50

.

สศค.มองว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศมีปัจจัยเสี่ยง จากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2551 คาดว่าจะเกินดุลลดลง จากการเกินดุลการค้าที่ลดลง ตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 13.5% แต่มูลค่านำเข้าสินค้าเร่งตัวขึ้นตามการใช้จ่ายในประเทศมาที่ 25.0%  อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะปรับตัวขึ้นสูงขึ้นมาอยู่ที่ 4.5% ตามราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง