เนื้อหาวันที่ : 2008-03-24 13:25:29 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1259 views

หอการค้าญี่ปุ่นวอนไทยเร่งปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ

"สุวิทย์" หารือหอการค้าญี่ปุ่น แจงนโยบาย ปีแห่งการส่งเสริมการลงทุนไทย ย้ำความชัดเจนเดินหน้าหนุนการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมผลักดันอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงขึ้น ตั้ง Liaison Office ให้ข้อมูลอำนวยความสะดวกนักธุรกิจญี่ปุ่น

"สุวิทย์" หารือหอการค้าญี่ปุ่น แจงนโยบาย ปีแห่งการส่งเสริมการลงทุนไทย ย้ำความชัดเจนเดินหน้าหนุนการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมผลักดันอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงขึ้น เพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรม ตั้ง Liaison Office ให้ข้อมูลอำนวยความสะดวกนักธุรกิจญี่ปุ่น

.

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายมิทซึฮิโร โซโนดะ (Mitsuhiro Sonoda) ประธานหอการค้าญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย (Japanese Chamber of Commerce, Bangkok หรือ JCC) และสมาชิกหอการค้าญี่ปุ่นจำนวน 15 คนว่า ได้ชี้แจงและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางนโยบายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมและการลงทุนของรัฐบาล

.

ซึ่งกำหนดให้ปี 2551-2552 เป็นปีแห่งการลงทุนไทย (Thailand Investment Year) ที่มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่มีศักยภาพอยู่แล้วให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ยกระดับเทคโนโลยีการผลิต รวมถึงพัฒนาให้ไทยเป็นฐานด้านการวิจัย การทดสอบและการออกแบบต่างๆ และที่สำคัญคือ การเร่งปรับปรุงการให้บริการและมาตรการต่างๆ ให้เอื้อต่อการลงทุนสูงสุด

.

ทั้งนี้แนวทางสำคัญ จะครอบคลุมมาตรการที่ผสมผสานการลงทุนทั้งเพื่อตลาดภายในและต่างประเทศ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (เซาท์เทิร์นซีบอร์ด) และการจัดตั้ง กองทุนพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและการลงทุนซึ่งจะสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรไปสู่เทคโนโลยีที่ทันสมัย การเพิ่มประสิทธิภาพ การประหยัดพลังงาน ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการวิจัยและพัฒนาบุคลากร เป็นต้น

.

นอกจากนี้ได้แจ้งให้นักลงทุนญี่ปุ่นทราบว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เปิดหน่วยประสานงานและแก้ไขปัญหานักลงทุนขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2551 ที่ผ่านมา ณ บริเวณศูนย์บริการลงทุน ชั้น 1 อาคารบีโอไอ และจัดตั้งสำนักงานประสานงาน (Liaison Office) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนญี่ปุ่นตามข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) แล้วเช่นกัน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา โดยจะให้บริการปรึกษาแก่นักลงทุนญี่ปุ่นทั้งที่ได้รับการส่งเสริม และไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในการแก้ปัญหาการทำธุรกิจ และการลงทุนในไทย ข้อบังคับของประเทศไทย ตลอดจนประสานกับหน่วยงานราชการอื่น ๆ ในการแก้ปัญหาของนักลงทุน

.

นายสุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการหารือครั้งนี้ หอการค้าญี่ปุ่น ขอให้รัฐบาลไทยช่วยดูแลการรักษาเสถียรภาพค่าเงิน เร่งรัดการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน รวมถึงการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบการนำเข้าและส่งออกสินค้า โดยเฉพาะการขนส่ง และสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณท่าเรือ การแก้ไขปัญหาความล่าช้า ในการขอใบอนุญาตทำงาน และการขอวีซ่า