เนื้อหาวันที่ : 2008-03-20 08:16:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1440 views

สันติ เชื่อแก้ปัญหา NGV ขาดแคลนได้ ปตท.เพิ่มการผลิต-เพิ่มสถานีบริการ

รมว.คมนาคม เผยแนวทางการแก้ปัญหาขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ(NGV) นั้น บมจ.ปตท.(PTT) จะเพิ่มการผลิตก๊าซเป็นวันละ 2,510 ตันต่อวันภายในสิ้นปีนี้ และสามารถผลิตได้ถึงวันละ 4,610 ตันต่อวัน จากปัจจุบันมีความต้องการ 1,375 ตันต่อวัน ซึ่งจะเพียงพอต่อความต้องการ

.

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม เผยแนวทางการแก้ปัญหาขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ(NGV) นั้น บมจ.ปตท.(PTT) จะเพิ่มการผลิตก๊าซเป็นวันละ 2,510 ตันต่อวันภายในสิ้นปีนี้ และสามารถผลิตได้ถึงวันละ 4,610 ตันต่อวัน จากปัจจุบันมีความต้องการ 1,375 ตันต่อวัน ซึ่งจะเพียงพอต่อความต้องการ

.

ส่วนปัญหาจำนวนสถานีบริการไม่เพียงพอ คาดว่า ปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 300 แห่งจากปัจจจุบันที่มีสถานีบริการรวม 181 แห่ง ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการรถโดยสารนั้น ภาครัฐได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเปิดสถานีบริการขนาดเล็กซึ่งสามารถก่อสร้างในบริเวณอู่รถยนต์ของผู้ประกอบได้เอง โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 6 ล้านบาท ต่ำกว่าการก่อสร้างสถานีบริการขนาดใหญ่ที่จะต้องใช้เงินประมาณ 50-200 ล้านบาท

.

"การแก้ปัญหาต้องยึดหลักการที่จะทำให้มีปริมาณก๊าซเอ็นจีวีเพียงพอต่อความต้องการ" นายสันติกล่าวหลังการประชุมแก้ปัญหาการขาดแคลนก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งมีนายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 

.

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงปัญหาของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งไม่ได้รับความสะดวกในการเติมก๊าซเอ็นจีวี เพื่อหาแนวทางแก้ไขและสร้างหลักประกัน เพื่อให้ภาครัฐนำไปประกอบการพิจารณาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมหลังเทศกาลสงกรานต์นี้

.

"เอกชนต้องลงทุนก่อสร้างสถานีบริการขนาดเล็กเอง แต่บริษัท ปตท.จะให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เอกชนคุ้มค่าการลงทุน เช่น คิดราคาเอ็นจีวีในอัตราต่ำ ซึ่งจากการหารือกันก็มั่นใจว่าปัญหาที่ผู้ประกอบการรถโดยสารร้องเรียนมาจะได้รับการแก้ไข" นายสันติ กล่าว

.

ทั้งนี้ ปตท.ระบุว่า ปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านมาคือ สถานีบริการแม่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลมีกำลังการผลิตเอ็นจีวีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะรถร่วมบริการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และรถแท็กซี่ ส่วนสถานีแม่ในเขตภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ มีแนวโน้มว่าจะไม่เพียงพอ ขณะที่การขยายสถานีในเขตกรุงเทพชั้นในไม่เพียงพอ เพราะไม่สามารถขยายสถานีในเขตทางแคบกว่า 16 เมตรได้

.

ส่วนการขยายสถานีลูกในเขตกรุงเทพและปริมณฑลมีข้อจำกัด เช่น ขนาดพื้นที่ ข้อกำหนดทางราชการ และการขนส่ง โดยเฉพาะขั้นตอนการขออนุมัติผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างท่อก๊าซไปยังสถานีบริการล่าช้ามาก และเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานสำหรับรถร่วม ขสมก.จะมีระยะเวลาสิ้นสุดในปีนี้