เนื้อหาวันที่ : 2008-03-19 13:37:16 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1476 views

น้ำมันปรับตัวสูงขึ้นทำเศรษฐกิจชะลอตัว กระทบความเชื่อมั่นภาคอุตฯ

ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก กระทบดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ปรับตัว แม้ว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ยังคงต้องอาศัยเวลาในการฟื้นตัวเศรษฐกิจ จี้รัฐเร่งโครงการเมกะโปรเจ็คต์

ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก กระทบดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ปรับตัว แม้ว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ยังคงต้องอาศัยเวลาในการฟื้นตัวเศรษฐกิจ จี้รัฐเร่งโครงการเมกะโปรเจ็คต์

.

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 636 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 83.0 จาก 86.0 ในเดือนมกราคม 2551 ซึ่งความเชื่อมั่นที่ลดลงดังกล่าวเป็นผลมาจากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ  

.

โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ, ก๊าซ, แก้วและกระจก และหัตถอุตสาหกรรม เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงเพราะผลกระทบจากปัญหา Sub-prime ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกระทบทั้งตลาดยุโรป ตลาดญี่ปุ่น และตลาดอาเซียน ปัญหาค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งตัวอย่างต่อเนื่องทำให้การส่งออกของไทยต้องชะลอตัวลง นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นยังมีผลทำให้อำนาจซื้อของผู้บริโภคในประเทศลดลง แม้ว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ยังคงต้องอาศัยเวลาในการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

.

ทั้งนี้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 99.9 ปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ ณ เดือนมกราคม 2551 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีแนวโน้มความเชื่อมั่นที่ลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มขึ้นสูง เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ ค่าเงินบาทที่แข็งตัวอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งมีความชัดเจนในนโยบาย และเร่งการใช้มาตรการต่างๆในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง

.

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กมีการปรับตัวลดลงจากเดือนที่แล้วทั้ง 3 กลุ่ม โดยได้รับผลจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมที่ลดลง และผลจากการที่ค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นทำให้ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถของผู้ประกอบการค่อนข้างสูง

.

และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกมีการปรับตัวลดลง โดยได้รับผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคเหนือทรงตัว สำหรับภาคใต้มีการปรับตัวสูงขึ้น โดยได้ผลดีจากการปรับขึ้นของราคาสินค้า

.

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่งออกในกลุ่มที่มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 และกลุ่มที่มีสัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 มีการปรับตัวลดลง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากปัญหา Sub-prime ของสหรัฐอเมริกา และค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งตัวส่งผลกระทบต่อการส่งออกเป็นอย่างมาก ส่วนกลุ่มที่มีสัดส่วนการส่งออกระหว่างร้อยละ 30-60 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับผลดีจากราคาสินค้าที่มีการปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่ายอดขายสินค้าในต่างประเทศจะปรับตัวลดลงแต่ผลประกอบการจากยอดขายสินค้าในประเทศยังคงดีอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน

.

สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2551 พบว่า ราคาน้ำมันที่ยังคงปรับตัวสูงเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการมากที่สุด รองลงมาเป็นภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความกังวลต่อค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะหลังยกเลิกมาตรการสำรองเงินทุนระยะสั้น 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามด้วยปัจจัยการเมืองในประเทศซึ่งมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ภายหลังมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตามลำดับ

.

ด้านข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า รัฐควรเร่งการใช้จ่ายโดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจ็ต และเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศคู่แข่ง เร่งสร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุนจากต่างประเทศ ควบคุมราคาวัตถุดิบไม่ให้สูงเกินไป โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบสำหรับงานก่อสร้าง เพราะจะส่งผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจ็คต์ต่างๆ ของประเทศ ควบคุมอัตราดอกเบี้ยไม่ให้สูงเกินไป ดูแลราคาน้ำมันให้มีเสถียรภาพ

.

เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อต้นทุนการผลิต เพิ่มมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้มีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้น สนับสนุนด้านแหล่งเงินทุน หรือมีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อแก่ภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจเกิดสภาพคล่อง เร่งมาตรการใช้พลังงานทดแทนในอุตสาหกรรม เพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันที่แพงอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการส่งออกของสินค้าเกษตรให้มากขึ้น ลดภาษีการนำเข้าลง เพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศ