เนื้อหาวันที่ : 2008-03-18 10:02:12 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1431 views

ปตท. จำเป็นต้องปรับขายปลีกดีเซลขึ้น 30-50 สตางค์

นายชัยวัฒน์ ชูฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนน้ำมันในประเทศสูงขึ้น ซึ่งแม้ว่า ปตท. ได้ปรับราคาขึ้นไปแล้วนั้นก็ยังคงมีราคาจำหน่ายดีเซลที่ถูกกว่าผู้ค้ารายอื่นถึง 50 สตางค์ 1 บาท ทำให้ผู้บริโภคหันมาเติมน้ำมันจากสถานีบริการน้ำมัน ปตท.

.

โดยมียอดจำหน่ายดีเซลเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยวันละ 15 ล้านลิตรต่อวัน สูงขึ้นเป็นประมาณวันละ 25-30 ล้านลิตรต่อวัน ส่งผลกระทบต่อปริมาณสำรองน้ำมัน ซึ่ง ปตท.ได้ขอผ่อนผันต่อกรมธุรกิจพลังงานจนอยู่ในระดับที่ต่ำสุดแล้ว และหากไม่มีการปรับขึ้นราคาก็จะกระทบต่อระบบการจัดหาและขนส่ง รวมถึงเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำมันดีเซลของประเทศขึ้นได้ในอนาคต

.

ดังนั้น ปตท. จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นอีก 30 สตางค์ต่อลิตรสำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว พีทีที B5 พลัส และ 50 สตางค์ต่อลิตรสำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว พีทีที เดลต้า เอ็กซ์ (B2) ตามลำดับ โดยมีผลตั้งแต่เวลา 05.00 น.ของวันที่ 18 มีนาคม 2008 เป็นต้นไป ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในเขต ปตท. และปริมณฑล เป็นดังนี้

.

                                หน่วย : บาท/ ลิตร        

 น้ำมันเบนซิน พีทีที E20 พลัส                   28.59  (ถูกกว่าเบนซิน 95 ถึง 6 บาท ม.ค.-มี.ค.51) 

 น้ำมันเบนซิน พีทีที แก๊สโซฮอล์ พลัส 95    30.59  (ถูกกว่าเบนซิน 95 ถึง 4 บาท) 

 น้ำมันเบนซิน พีทีที แก๊สโซฮอล์ พลัส 91    29.79  (ถูกกว่าเบนซิน 91 ถึง 3.70 บาท) 

 น้ำมันเบนซิน พีทีที อัลฟา เอ็กซ์ 95            34.59 

 น้ำมันเบนซิน พีทีที อัลฟา เอ็กซ์ 91            33.49 

 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว พีทีที B5 พลัส           30.24  (ถูกกว่าดีเซล ถึง 0.70 บาท) 

 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว พีทีที เดลต้า เอ็กซ์       30.94

.

นายชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากการปรับขึ้นราคาขายปลีกดีเซลในครั้งนี้แล้ว ปตท. ยังคงแบกรับภาระแทนผู้บริโภคอยู่โดยมีค่าการตลาดที่ติดลบอีก 36 สตางค์ต่อลิตร และในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ปตท. รับภาระขาดทุนไปแล้วประมาณ วันละ 45-50 ล้านบาท