เนื้อหาวันที่ : 2008-03-17 11:49:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1607 views

คมนาคม เร่งรถไฟฟ้าสีเขียวเร็วกว่าแผน เตรียมทางออกหากเชื่อม BTS ไม่ได้

รัฐเตรียมระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรในประเทศใช้ลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนและสีเขียวเข้ม ที่ต่อขยายเส้นทางจากแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้งทางด้านอ่อนนุช-แบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-ลำลูกกา(คลองสี่) เร่งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมคาดดำเนินการได้เร็วกว่าแผน 1-2 เดือน ดันใช้ค่าโดยสารราคาเดียวตลอดเส้นทาง พร้อมเตรียมทางออกต่อเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดินแทนหากเชื่อม BTS ไม่ได้

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม เผยรัฐเตรียมระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรในประเทศใช้ลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนและสีเขียวเข้ม ที่ต่อขยายเส้นทางจากแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้งทางด้านอ่อนนุช-แบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-ลำลูกกา(คลองสี่) เร่งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมคาดดำเนินการได้เร็วกว่าแผน 1-2 เดือน ดันใช้ค่าโดยสารราคาเดียวตลอดเส้นทาง พร้อมเตรียมทางออกต่อเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดินแทนหากเชื่อม BTS ไม่ได้

.

"ปัจจุบันพบว่าการดำเนินงานไม่มีปัญหา โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-ลำลูกกา สามารถดำเนินการได้เร็วกว่าแผนประมาณ 1-2 เดือน เพราะเร่งรัดขั้นตอนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้เร็วขึ้น"นายสันติ กล่าว

.

ส่วนการเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้น กระทรวงคมนาคมได้เตรียมแผนรองรับในกรณีที่การเจรจากับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(บีทีเอส)ไม่สำเร็จ โดยให้สายสีเขียวเข้มเชื่อมต่อกับรถไฟใต้ดินที่สถานีพหลโยธินแทนการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีหมอชิต

.

ขณะที่สายสีเขียวอ่อน เดิมจะเชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีอ่อนนุช ก็จะใช้วิธีเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าสายสีเหลือง หรือสายวงแหวนรอบนอก ที่ถนนศรีนครินทร์ ซึ่งมีระยะทางห่างกันประมาณ 1 สถานี โดยรถไฟฟ้าวงแหวนรอบนอกมีแผนจะประกวดราคาในปี 52

.

"หากได้รับความร่วมมือจากบีทีเอสซี เราจะก่อสร้างโครงการใหม่ให้เชื่อมกับรถไฟฟ้าบีทีเอสตามแผนเดิม แต่ที่ต้องเตรียมแผนสำรองไว้เพราะไม่ต้องการให้เกิดอุปสรรค หากมัวแต่รอความร่วมมือกับบีทีเอสซี โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวก็ไม่ต้องประมูล จึงต้องเตรียมทางเลือกไว้ ที่ผ่านมามีการเจรจากันหลายรัฐบาล แต่ก็ไม่คืบหน้า" นายสันติ กล่าว

.

ส่วนงบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น คาดว่าจะใช้เงินกู้ในประเทศที่กระทรวงการคลังมีแผนจะออกพันธบัตร 30 ปี มูลค่าประมาณ 90,000 -100,000 ล้านบาท ขณะที่อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า ในเบื้องต้นมีนโยบายใช้อัตราค่าโดยสารราคาเดียวตลอดเส้นทาง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ชานเมืองได้รับความทัดเทียมในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้ประชาชนกระจายไปอาศัยอยู่นอกเมือง