เนื้อหาวันที่ : 2008-03-13 14:46:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2303 views

อุ้มดีเซล ไม่ใช่ทางออก หวั่นซ้ำรอยปัญหาเก่า ๆ

นักวิชาการหวั่นอุ้มดีเซลแก้ปัญหาเล็ก ก่อปัญหาใหญ่ ซ้ำรอยปัญหาเดิม คือเสียสมดุลการใช้เบนซินกับดีเซลเหตุจากราคาที่ต่างกันมาก และรัฐต้องรับภาระค่าชดเชยกว่า 6 พันล้านบาท หากอุ้มราคาดีเซลนาน 5 เดือน แนะการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกว่า ควรเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านเทคโนโลยีของรถยนต์และปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนแทนการแทรกแซงราคาน้ำมัน

นักวิชาการหวั่นอุ้มดีเซลแก้ปัญหาเล็ก ก่อปัญหาใหญ่ ซ้ำรอยปัญหาเดิม คือเสียสมดุลการใช้เบนซินกับดีเซลเหตุจากราคาที่ต่างกันมาก และรัฐต้องรับภาระค่าชดเชยกว่า 6 พันล้านบาท หากอุ้มราคาดีเซลนาน 5 เดือน แนะการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกว่า ควรเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านเทคโนโลยีของรถยนต์และปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนแทนการแทรกแซงราคาน้ำมัน

.

ผศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์ ประธานสายวิชาพลังงาน บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) กล่าวว่า มาตรการอุ้มราคาดีเซล 90 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหาสถานการณ์น้ำมันแพงของรัฐบาล เพื่อมุ่งเน้นแก้ปัญหาระยะสั้นให้ภาคธุรกิจไม่ต้องรับภาระค่าขนส่งมากขึ้นนั้น อาจเป็นการแก้ปัญหาเล็ก แต่ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ และเป็นปัญหาลูกโซ่ที่ต้องใช้ระยะเวลาแก้ไขยาวนานขึ้น

.

"การอุ้มราคาดีเซล 90 สตางค์ต่อลิตร จะช่วยให้ดีเซลมีราคาถูกลง 3% ซึ่งหากธุรกิจด้านขนส่งมีต้นทุนจากเชื้อเพลิงคิดเป็น 50%ของต้นทุนทั้งหมด การอุ้มราคาดีเซลจะช่วยลดต้นทุนลงเพียง 1.5% เท่านั้น ซึ่งราคาสินค้าแทบไม่จะถูกลงเลย ในขณะเดียวกัน การอุ้มราคาดีเซลกลับทำให้ราคาน้ำมันดีเซลกับเบนซินมีส่วนต่างกันมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลเชิงลบด้านจิตวิทยาไปกระตุ้นให้ผู้ซื้อรถใหม่หันมาใช้รถเครื่องยนต์ดีเซลแทนเบนซิน และจะนำไปสู่การเสียสมดุลระหว่างสัดส่วนการใช้รถยนต์เบนซินกับดีเซลให้มากยิ่งขึ้น 

.

เนื่องจากในปัจจุบันน้ำมันดีเซลที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ จนต้องมีการนำเข้าน้ำมันดีเซลสำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่ม ความไม่สมดุลดังกล่าวอาจส่งผลให้น้ำมันดีเซลมีราคาแพงขึ้นไปอีก ส่วนน้ำมันเบนซินจากการกลั่นที่เกินกว่าความต้องการใช้ในปัจจุบัน โรงกลั่นจะต้องส่งขายไปยังประเทศอื่น โดยที่ปัจจุบันราคาขายน้ำมันเบนซินสำเร็จรูปในตลาดโลกที่สิงคโปร์จะมีราคาต่ำกว่าราคาขายของน้ำมันดีเซล และจากความไม่สมดุลนี้เอง อาจทำให้รัฐบาลต้องประสบปัญหาเรื่องการจัดหาน้ำมันดีเซล และประสบปัญหาเรื่องการจัดการสภาวะสมดุลด้านเชื้อเพลิงทั้งสองชนิดนี้ในระยะยาวได้"

.

ทั้งนี้ การบิดเบือนราคาน้ำมันดีเซลและเบนซินให้มีราคาต่างกันมาก จนทำให้สัดส่วนการใช้ดีเซลและเบนซินไม่มีความสมดุล เคยสร้างปัญหาใหญ่ให้กับรัฐบาลไทยมาแล้วในอดีตสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งครั้งนั้นภาครัฐต้องใช้ระยะเวลากว่า 10 ปี กว่าจะปรับสมดุลการใช้เบนซินและดีเซลได้ ผศ.ดร.จำนง กล่าวอีกว่า ไม่เพียงปัญหาเรื่องความแตกต่างของราคาน้ำมันเท่านั้น ประเด็นค่าชดเชยในส่วนที่มาของการอุ้มดีเซลอีก 90 สตางค์ต่อลิตรนั้น

.

หากรัฐวางแผนจะดำเนินนโยบายนี้เป็นเวลา 5 เดือน จะทำให้รัฐต้องชดเชยราคาน้ำมันกว่า 6 พันล้านบาท โดยยังไม่รู้ว่าจะนำเงินส่วนใดมาชดเชย ซึ่งปัญหาลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นแล้วอีกเช่นเดียวกันในสมัยที่ นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่รัฐต้องชดเชยค่าอุดหนุนราคาน้ำมันกว่า 8 หมื่นล้านบาท เพื่อตรึงราคาน้ำมันเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ภาครัฐกลับต้องใช้เวลาล้างหนี้เป็นเวลาเกือบ 3 ปี ดังนั้น การแก้ปัญหาราคาน้ำมันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองย้อนกลับไปในอดีตว่าเคยเกิดปัญหาอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากเหมือนที่ผ่านมาอีก เพราะประเทศไทยเคยมีบทเรียนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาราคาน้ำมันมาแล้วหลายครั้ง

.

อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ปัญหาพลังงานให้ได้ผลในระยะเวลาสั้นๆเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงเทคโนโลยีและการปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานของการขนส่ง ซึ่งไม่อาจทำได้ในชั่วข้ามคืนหรือใช้วิธีแก้ปัญหาแบบไฟไหม้ฟางเหมือนที่ผ่านๆมา สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ผศ.ดร.จำนง กล่าวว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในระยะยาว หรือใช้มาตรการระยะสั้นหลายๆมาตรการผสมผสานกันเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

.
โดยเน้นการรณรงค์ให้ผู้ใช้รถหันมาประหยัดการใช้เชื้อเพลิง เช่น รณรงค์ให้ประชาชนหันมาดูแลบำรุงรักษารถยนต์ให้มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด โดยการตรวจเช็คเครื่องยนต์ เติมลมยางให้เหมาะสม ฯลฯ ซึ่งรัฐอาจร่วมกลุ่มกับศูนย์บริการหรือสถาบันอาชีวะศีกษาต่างๆบริการตรวจเช็คสภาพรถฟรี และเปลี่ยนอะไหล่บางชนิดที่มีผลต่อประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ในราคาถูก รวมถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนในการขับขี่ที่ประหยัดพลังงาน ทั้งนี้ จากประสบการณ์ในต่างประเทศพบว่าเมื่อประยุกต์ใช้หลายๆมาตรการรวมกัน จะสามรถช่วยประหยัดพลังงานได้ถึงราว 3% ถึง 10%
.

สำหรับระยะยาว รัฐบาลควรพิจารณาการจัดเก็บภาษีรถที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ให้แพงขึ้น เพื่อให้ประชาชนหันกลับมาใช้รถที่มีเครื่องยนต์ขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะใช้เชื้อเพลิงน้อยกว่ารถเครื่องยนต์ขนาดใหญ่มาก รวมถึงการกำหนดให้ผู้ผลิตต้องติดฉลากประหยัดพลังงานแบบเดียวกับฉลากเบอร์ห้าของเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อระบุถึงความสิ้นเปลืองของเชื้อเพลิงรถยนต์แก่ผู้ซื้อเพื่อการตัดสินใจ และเป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์จำเป็นต้องแข่งขันกันผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานให้มากขึ้น

.

รวมถึงการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ ยังคงเป็นประเด็นที่รัฐต้องเดินหน้าต่อไป หากนำเงินในส่วนที่ต้องใช้อุ้มราคาน้ำมันมาปรับปรุงรถโดยสารประจำทางให้มีคุณภาพ สะดวกสบาย มีบริการที่ดี และทำให้มีเส้นทางพิเศษสำหรับรถประจำทางในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อช่วยให้ผู้โดยสารรถประจำทางเดินทางไปถึงที่หมายก่อนรถส่วนบุคคลนั่ง ก็จะทำให้ประชาชนเริ่มหันมาใช้รถประจำทางมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการลดการใช้พลังงานได้อย่างยั่งยืนในที่สุด

.

ผศ.ดร.จำนง ทิ้งท้ายว่า สำหรับผู้ที่กำลังมองหาซื้อรถใหม่ในยุคน้ำมันแพง ควรพิจารณารถที่อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงน้อย รถที่มีซีซีต่ำ เช่น คนที่ขับรถอยู่ในเมืองจากบ้านไปที่ทำงานเป็นประจำ โดยไม่ค่อยได้ขับรถทางไกลระหว่างจังหวัด ควรเลือกซื้อรถยนต์ที่มีขนาดต่ำกว่า 1,800 ซีซี ลงมา มากกว่าที่จะไปซื้อรถที่มีขนาดเกินกว่า 2,500 ซีซีขึ้นไป เพราะจะช่วยให้ผู้ใช้รถประหยัดทั้งในแง่ของต้นทุนรถยนต์ และราคาเชื้อเพลิง ซึ่งจะเป็นการช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าตัวเอง และยังเป็นการช่วยประเทศชาติได้อีกทางหนึ่ง

.

ที่มา : บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE)