เนื้อหาวันที่ : 2008-03-12 17:49:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1489 views

นายกฯ ไฟเขียวลงทุนรถไฟฟ้า 7 แสน ลบ.เตรียมซื้อ BTS จัดการเอง

นายก เร่งหาความชัดเจนเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจ็คต์ระบบรางลงทุนกว่า 7 แสนล้านบาท บุกกทม.เจรจาเข้าเทคโอเวอร์รถไฟฟ้าบีทีเอส คาดใช้เงิน 3 หมื่นล้านบาทเพื่อเข้าบริหารกิจการเอง และเตรียมขยายเส้นทางต่อไปอีก 3 ทิศทาง

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงความชัดเจนรัฐบาลเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจ็คต์ระบบรางลงทุนกว่า 7 แสนล้านบาท พร้อมมอบหมายกระทรวงมหาดไทย-กทม.เจรจาเข้าเทคโอเวอร์รถไฟฟ้าบีทีเอส คาดใช้เงิน 3 หมื่นล้านบาทเพื่อเข้าบริหารกิจการเอง และเตรียมขยายเส้นทางต่อไปอีก 3 ทิศทาง

.

"เราจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเรื่องที่จะต่อจากบีทีเอสออกไป ฝ่ายที่เกี่ยวข้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นเพราะสัมปทานอยู่ที่ กทม." นายสมัคร กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางและระบบขนส่งมวลชน

.

นายกรัฐมนตรี ประกาศว่า รัฐบาลจะเดินหน้าขยายเส้นทางต่อจากโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสทันทีทั้ง 3 ทิศทาง คือ จากหมอชิต-สะพานใหม่-คลองสี่, จากซอยแบริ่ง-ปากน้ำ-บางปู และจากสะพานตากสิน-บางหว้า-อ้อมน้อย จะเริ่มดำเนินการทันที ซึ่งรัฐบาลก็จะเข้าไปซื้อกิจการรถไฟฟ้าบีทีเอสมาดำเนินการเอง

.

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจะเปิดประมูลทันที และต่อขยายเส้นทางโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงของการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย(รฟท.)จากบางซื่อ-พระนครศรีอยุธา, บางซื่อ-ฉะเชิงเทรา และบางซื่อ-นครปฐม ใช้เวลาดำเนินการ 42 เดือน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด แล้วเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมบริหารการเดินรถ

.

นายสมัคร กล่าวว่า ภายในปีนี้คาดว่าจะขายแบบก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 3 สาย ส่วนที่ดำเนินการไปแล้วคือการเปิดประมูลสายสีแดง ที่จะเริ่มก่อสร้างภายใน 2 เดือนข้างหน้านี้ และกำลังจะเปิดประมูลสายสีม่วงเป็นลำดับต่อไป และหลังจากดำเนินการได้ครบทั้ง 4 ทิศทางแล้วในอนาคตจะมีโครงการรถไฟฟ้าวงแหวนระยะทาง 100 กิโลเมตร ตามแนวถนนรัชดาภิเษก

.

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กล่าวว่า โครงการลงทุนสร้างรถไฟฟ้าเฟสแรกคงจะใช้เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 1.9 แสนล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนในประเทศ 53% จากการออกพันธบัตรระยะยาว 30 ปี ประเดิมในวงเงิน 5 พันล้านบาทเดือน เม.ย.นี้ หลังจากนั้นค่อยพิจารณาวงเงินที่จะออกพันธบัตรในระยะต่อไป หรืออาจจะออกเป็นพันธบัตรออมทรัพย์

.

ส่วนเงินลงทุนอีก 47% เป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(เจบิค)จำนวน 8-9 หมื่นล้านบาท โดยในวันที่ 30 มี.ค.นี้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง จะเดินทางไปลงนามในสัญญาเงินกู้และสัญญาค้ำประกัน เพื่อใช้สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง , สายสีน้ำเงิน และสายสีแดง

.

ผู้อำนวยการ สบน.กล่าวว่า ในเฟสที่สองจะใช้เม็ดเงินลงทุนอีก  5.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น แหล่งเงินทุนในประเทศ 40% และเงินกู้จากต่างประเทศอีก 60%