เนื้อหาวันที่ : 2008-03-12 16:17:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1479 views

2 เดือน ยอดต่างชาติลงทุนในไทยพุ่ง หลัง รัฐบาล คมช.หมดอำนาจ

บีโอไอ เผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ หรือ FDI เดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2551 มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 53,516 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา 62.4% โดยนักลงทุนญี่ปุ่นยังครองแชมป์ลงทุนสูงสุด ด้านยุโรปลงทุนเพิ่ม 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

บีโอไอ เผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ หรือ FDI เดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2551 มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 53,516 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา 62.4% โดยนักลงทุนญี่ปุ่นยังครองแชมป์ลงทุนสูงสุด ด้านยุโรปลงทุนเพิ่ม 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

.
นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2551 มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (FDI) ทั้งสิ้น 167 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 53,516 ล้านบาท โดยมูลค่าเงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 62.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 2550 ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุน 32,959 ล้านบาท
 .

โดยโครงการของนักลงทุนจากต่างชาติที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว คิดเป็นร้อยละ 72 ของจำนวนโครงการทั้งสิ้นที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในช่วง 2 เดือนแรกของปี ที่มีจำนวน 232 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 103,400 ล้านบาท

 .

ทั้งนี้การลงทุนจากต่างชาติส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการใหม่ มีสัดส่วนสูงถึง 100 โครงการ เงินลงทุนรวม 22,042.7 ล้านบาท และที่เหลือ 67 โครงการ เป็นการขยายกิจการ มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 31,473.2 ล้านบาท ซึ่งประเภทกิจการที่ได้รับความสนใจสูงสุด อยู่ในกลุ่มกิจการบริการ และสาธารณูปโภค รองลงมาคือ กิจการประเภทผลิตภัณฑ์โลหะและอุปกรณ์ขนส่ง อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก ตามลำดับ

 .

"การลงทุนจากต่างชาติที่ปรับเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของนักลงทุนในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้เชื่อว่านโยบายของรัฐบาลที่มีความชัดเจนในการสนับสนุนการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะการประกาศนโยบายThailand Invesment Year หรือปีแห่งการลงทุนไทย จะ-ช่วยผลักดันให้การลงทุนของไทยเพิ่มขึ้นอีกมาก รองรับกับเป้าหมายของรัฐบาลในการกระตุ้นให้เกิดมูลค่าการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านบาทภายใน 2 ปี" นายสาธิต กล่าว

 .

ทั้งนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นยังเป็นกลุ่มที่ยื่นขอรับส่งเสริมลงทุนสูงที่สุด โดยมีจำนวนทั้งสิ้นถึง 63 โครงการ มูลค่าการลงทุน 10,950 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มกิจการบริการ และกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนโลหะ และยานพาหนะ ในขณะที่การลงทุนจากยุโรป มีมูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 9,071 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสามเท่าตัว จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่าน ซึ่งโครงการที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงจะอยู่ในกลุ่มกิจการเคมีภัณฑ์ และกิจการผลิตมอเตอร์ไซค์